29 พ.ย. 2553
ปวด...ป๊วด...ปวด สารพัดปวดหัวที่คุณต้องรู้
เชื่อว่าสาวออฟฟิศที่นั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพ์เป็นเวลานานๆ คงเคยเจอฤทธิ์เดชของอาการปวดหัวมาบ้างแล้ว บางรายคิดว่าอาการปวดหัวไม่อันตราย กินยาแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย แต่คุณทราบหรือไม่ว่า อาการปวดหัวที่คุณเป็นอยู่อาจมีอาการของโรคอื่นซ่อนอยู่ด้วย
ปวดหัว...ที่ไม่ใช่แค่ปวดหัว
อาการปวดหัวที่เราพบได้ทั่วๆ ไปคือการปวดหัวจากความตึงเครียด การทำงานหนัก เพลีย โกรธ อาการคล้ายๆ ปวดที่ขมับ ท้ายทอย รู้สึกตึงๆ เหมือนมีอะไรรัดศีรษะ การรักษาอาจใช้ยาแก้ปวดหัวธรรมดา นอนพักผ่อน แต่ถ้าเป็นการอาการปวดหัวซึ่งมีอาการร่วมของโรคอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เรามีวิธีสังเกตได้ต่อไปนี้
ปวดระยะสั้นๆ แต่รุนแรง อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง หรือเลือดออกในสมอง โดยเฉพาะถ้ามีอาการคอตึงแข็งหรืออาเจียน อาจเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ปวดสม่ำเสมอและปวดนานๆ มักเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดจากความตึงเครียด หรือปวดหัวไมเกรน
ปวดแปลบๆ เหมือนไฟช็อต บริเวณหน้า แก้ม โดยเฉพาะเวลาเคี้ยว อาจจะเป็นอาการของโรคปลายประสาทอักเสบ
ปวดหัวถี่ขึ้นเรื่อยๆ ตามัวพร่ามากขึ้น หรือเห็นภาพซ้อน ร่างกายอ่อนแรง ชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้า และน้ำหนักลด กินอาหารไม่ได้ อาจเป็นโรคมะเร็งในสมอง
ปวดหัวตุบๆ ข้างเดียวหรือสองข้าง ก่อนปวดมีอาการเห็นแสงแปลกๆ คลื่นไส้ เป็นอาการปวดไมเกรน
ปวดแล้วมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหน้าผาก มีน้ำมูกไหล อาจจะเป็นการปวดจากไซนัส
ปวดฉับพลันที่ท้ายทอย และมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน และอ่อนแรงทันที อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองแตก
ปวดหัวและปากเบี้ยว ตาปิดไม่สนิท แขนขาอ่อนแรง เดินเซ หรือชาตัวครึ่งซีก อาจเป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบ
ปวดมากที่ขมับ หรือปวดเมื่อยทั้งตัว ในคนอายุมากอาจเป็นอาการของหลอดเลือดสมองอักเสบ
ดูแลอาการปวดหัวด้วยตัวเอง
ถ้าเป็นอาการปวดหัวที่ไม่รุนแรงหรือฉับพลัน เราสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีเหล่านี้
ผ่อนคลายความตึงเครียดเหนื่อยล้า ด้วยการพยายามพักสายตา พักผ่อนร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ
เปลี่ยนอิริยาบถจากงานประจำที่เป็นอยู่ ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อพักสมอง เช่น ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ หรือฟังธรรม
เปลี่ยนองค์ประกอบในบ้านหรือโต๊ะทำงาน เช่น จัดห้อง จัดโต๊ะทำงาน ให้รู้สึกโล่ง สบาย ไม่อุดอู้
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสเกิดอาการปวดหัว เพราะการออกกำลังการจะทำให้ระบบไหลเวียนของการร่างกายทำงานดีขึ้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบศีรษะ
นวดประคบ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นนวดบริเวณขมับ ท้ายทอย และต้นคอ จะทำให้รู้สึกดีขึ้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบศีรษะ
ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรใช้ยาพาราเซตามอล หรือแอสไพริน แล้วดื่มน้ำตามมากๆ แต่ไม่ควรกินบ่อยครั้ง หากมีอาการรุนแรงเกินกว่ายาจะบรรเทาได้ควรรีบไปพบแพทย์
รู้วิธีแล้วลองปฏิบัติดูนะคะ อย่าปล่อยให้อาการปวดหัวสะสมจนลุกลามเป็นโรคเรื้อรังที่มาเบียดบังความสุขประจำวันของชีวิตคุณเลย
กินยาพาราฯ แค่ไหนไม่อันตราย
การกินยาพาราเซตามอลในปริมาณที่ถูกต้อง คือต้องกินในขนาด 10 มิลลิกรัม(มก.) ต่อน้ำหนัก ตัว 1 กิโลกรัม(กก.) ต่อครั้ง และกินห่างกันทุก 4-6 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าหากคุณมีน้ำหนักตัว 30 กก. ก็ควรกินยาพารา = 10 x 30 = 300 มก. หรือหากมีน้ำหนักตัว 60 กก. ควรกินยาพารา = 10 x 60 = 600 มก. เป็นต้น
ยาพาราที่วางขายนั้นมีอยู่ 2 ขนาด คือ 325 มก. และ 500 มก. แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบ 500 มก. มากกว่า ดังนั้นหากคุณมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 50 กก. ก็ควรกินยาพาราขนาด 500 มก. จำนวน 1 เม็ด แต่หากว่าคุณน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กก. ก็ควรกินยาพารา 2 เม็ด
แม้ว่ายาพาราจะไม่มีผลข้างเคียงใดๆ หากกินอย่างถูกต้องในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าหากกินนานติดต่อเกิน 5 วัน ก็อาจมีผลเสียต่อตับได้ค่ะ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น