29 พ.ย. 2553

"พอร์ไฟเรีย" โรคแบบนี้ก็มีในโลก


ถ้าพูดถึง "ผีฝรั่ง" ที่ป็อปปูลาร์ที่สุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 - 19 คงต้องยกให้ท่านเคาท์แดร๊กคูล่าแวมไพร์มาดเนี้ยบมาเป็นเบอร์หนึ่ง

แต่ถ้าเป็นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตำแหน่งนี้ย่อมตกเป็นของเอ็ดเวิร์ด คัลเลน (Edward Cullen) แวมไพร์รูปหล่อมาดเซอร์ในภาพยนตร์เรื่อง แวมไพร์ทไวไลท์ อย่างไม่ต้องสงสัย

ผีดิบดูดเลือด แวมไพร์ ใช่ว่าจะมีอยู่เฉพาะในเมืองฝรั่งเท่านั้นเพราะแม้แต่ในเอเชียบ้านเรา แถบ
- ออสเตรเลีย โอเชียเนีย หรือโซนแอฟริกา ก็มีตำนานเรื่องเล่าของผีดิบดูดเลือดเช่นกัน
- จีนมี "เซียงซี" ปีศาจสาวที่ชอบออกล่าเหยื่อตอนกลางคืนเพื่อกินเลือดสดๆ แต่กลัวกระเทียมที่สุด
- ออสเตรเลียมี "ยารา - มา - ยฮา - ฮู" อาศัยอยู่ตามต้นไม้ ชอบจู่โจมกระโดดใส่เหยื่อและดูดกินเลือด
- แอฟริกามี "โอบายิโฟ" สามารถถอดกายออกจากร่างได้เวลาออกล่าเหยื่อ ชอบดูดกินเลือด
- โรมาเนียมี "สตริกอย" แวมไพร์คืนชีพจอมสกปรก มีเล็บมือยาว ผมยาวรุงรัง ใบหน้าซีดจัด ลมหายใจเหม็นเปรี้ยว เกลียดกระเทียมและสามารถย้ายวิญญาณไปอยู่ในร่างสัตว์ได้ เช่น นกเค้าแมว สุนัข ฯลฯ

เจอเข้าแบบนี้ คุณเคยคิดกันบ้างหรือเปล่าว่าผีดิบดูดเลือดแวมไพร์อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่ เรื่องเล่าปรัมปราหรือนวนิยายเขย่าขวัญสั่นประสาทเท่านั้น แต่แวมไพร์ "มีอยู่จริง" บนโลกใบนี้ และกระจายตัวอยู่เกือบทั่วทุกมุมโลก เพียงแต่ว่าคนสมัยก่อนอาจจะหวาดกลัวและไม่ทันใช้วิจารณญาณคิดพิจารณา ว่าสิ่งที่เขาเห็นนั้นคืออะไรกันแน่ ผีตายซากที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมา หรือมนุษย์เดินดินทั่วไปที่โชคร้ายป่วยด้วยโรคบางอย่างจนมีบุคลิกลักษณะพ้องกับเจ้าผีตายซากพอดิบพอดี

เรื่องราวเหล่านี้เปิดเผยขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1874 โดย ดอกเตอร์ฟีลิกซ์ฮอปป์ - เซย์เลอร์ (Dr.Felix Hoppe - Seyler) นักเคมีชาวเยอรมัน หลังจากดอกเตอร์ฮอปป์ – เซย์เลอร์ ได้ศึกษาแฟ้มประวัติผู้ป่วยในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งล้มป่วยด้วยอาการประหลาด ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจอย่างหนัก จนผู้ป่วยเป็นที่น่ารังเกียจระคนน่าหวาดผวาของทั้งครอบครัว แพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยด้วยกันเอง

คนไข้บางรายอาการหนักจนถึงขั้นที่ว่า "ไม่อยากส่องกระจกเพื่อดูหน้าตัวเองเลย" ดอกเตอร์ฮอปป์ - เซย์เลอร์ พบว่า เมื่อเริ่มป่วย ร่างกายผู้ป่วยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยๆ บางคนเริ่มแพ้แสงแดด และแพ้หนักขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดแม้ถูกแสงแดดเพียงไม่กี่วินาที ผิวหนังจะเกิดอาการคันและเป็นผื่นแดงทันที ก่อนจะลุกลามกลายเป็นแผลพุพองในที่สุด บางรายยังมีอาการอักเสบอย่างรุนแรงจนผิวหนังหลุดลอกออกเป็นชั้นๆ อาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยมีผิวหนังซีดขาวจนน่ากลัว จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีขนส่วนเกินขึ้นบริเวณหน้าผาก ขมับ กล้าม เนื้อบริเวณใบหน้าทั้งหมดจะค่อยๆ ดึงรั้งไปทุกทิศทุกทางจนทำให้เบ้าตา จมูกผิดรูป คนไข้บางรายนอกจากปากจะถูกดึงรั้งจนผิดรูปแล้วริมฝีปากยังถูกดึงรั้งจนหายไป เหลือไว้เพียงช่องปากเท่านั้น เป็นผลให้เห็นเหงือกละตัวฟันทั้งหมดอย่างชัดเจน ส่วนเนื้อจมูกก็ถูกดึงรั้งจนแทบไม่หลงเหลือเช่นกัน เว้นไว้แต่พียงรูจมูกเล็กๆ พอให้หายใจได้เท่านั้น ผู้ป่วยบางรายกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะแขนขา บางครั้งมีอาการอัมพาต ปวดเกร็งบริเวณช่องท้อง อาเจียน คลื่นไส้ และท้องผูกร่วมด้วย หนักขึ้นไปอีกขั้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการทางจิตประสาทหลอน เพ้อคลั่ง หัวใจเต้นแรง และอาจมีความผิดปกติทางตับร่วมด้วย

อาการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านตลอดทั้งวัน สามารถออกนอกบ้านได้เฉพาะตอนกลางคืน เป็นผลให้ดวงตาผู้ป่วยสู้แสงสว่างไม่ค่อยได้ แต่กลับมองเห็นได้ดีในความมืด มีบางรายงานแจ้งว่า ดวงตาของคนไข้บางรายสามารถเรืองแสงได้ในยามค่ำคืนอีกด้วย อาการป่วยเหล่านี้เองที่อาจเป็นส่วนหนึ่งให้คนทั่วไปคิดว่า "พวกเขาเป็นแวมไพร์" ยิ่งบางรายที่มีอาการกลัวและเกลียดกระเทียมร่วมด้วยแล้ว ยิ่งคล้ายคลึงแวมไพร์ไปกันใหญ่

ดอกเตอร์ฮอปป์ – เซย์เลอร์ เก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยทั้งหมดมาทดสอบทางเคมีอย่างละเอียด จึงได้รู้ว่า"กลุ่มอาการนี้เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการสังเคราะห์สาร ประเภท พอร์ไฟริน (Porphyrins) เช่น ฮีม (Heme) ในเม็ดเลือดแดง ร่างกายสังเคราะห์ได้มากเกินไป จนทำให้เกิดการสะสมตกค้างเป็นจำนวนมาก เป็นผลให้สารดังกล่าวทำร้ายระบบประสาท ระบบเลือด ตับ และไขกระดูกลงอย่างช้าๆ ขึ้นอยู่กับว่ามีการสะสมมากน้อยเพียงใด "นอกจากนี้ ส่วนเกินของสารประเภท พอร์ไฟริน ยังถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเป็นสีม่วงหรือเกือบเป็นสีแดงเข้ม และสีแดงหรือม่วงนี้จะเข้มขึ้นอีกเมื่อได้รับแสงสว่างนานๆ"

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผลการศึกษาของดอกเตอร์ฮอปป์ – เซย์เลอร์ ได้รับการยื่นเสนอไปยังแพทยสภา แพทยสภาจึงมีมติให้เปลี่ยนชื่อจากที่เคยเรียกกันตามอาการมาก่อนหน้านี้ว่า "โรคแวมไพร์" (Vampire Syndrome) เป็นชื่อที่เป็นทางการว่า "โรคพอร์ไฟเรีย" (Porphyria) สอดคล้องกับคำศัพท์ภาษากรีก Porphyrus ซึ่งหมายถึง สีม่วง อันบ่งบอกถึงสีของปัสสาวะที่เปลี่ยนไป และเป็นปัจจัยแสดงอาการของโรคอย่างชัดเจนนั่นเอง

การศึกษาในชั้นแรกแบ่งโรคนี้ออกเป็น 2 กลุ่มอาการหลัก คือ Acute Porphyria (เป็นอาการทางประสาท จัดว่าเป็นชนิดรุนแรง) และ Non - Acute Porphyria (เป็นอาการทางผิวหนัง จัดว่าเป็นชนิดไม่รุนแรง) ซึ่งการศึกษาในเวลาต่อมาได้แบ่งโรคพอร์ไฟเรียออกเป็น 8 กลุ่มตามประเภทของสารพอร์ไฟรินที่ผิดปกติ

แม้จะฟังดูน่ากลัวอยู่บ้างสำหรับโรคนี้ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนเพศใด ก็มีโอกาสป่วยได้เหมือนกัน แต่โชคยังดีว่า ผลวิจัยระบุว่าโรคนี้มีความเสี่ยงไม่มากนัก เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ใน 10,000 คน สำหรับชนิดไม่รุนแรง และ 1 ใน 1,000,000 คน สำหรับชนิดรุนแรง (Congential erythropoietic porphyria / CEP) อย่างไรก็ดี หากผู้ป่วยทุกกลุ่มอาการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง โอกาสที่จะอาการจะทุเลาและกลับมาเป็นปกติก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยในกลุ่ม Non - Acute Porphyria

"โรคแวมไพร์" หรือ "โรคพอร์ไฟเรีย" เป็นโรคที่ดูคล้ายกับเกิดจากเคราะห์กรรมลงโทษโดยแท้ เนื่องจากสามารถทำให้มนุษย์ปกติกลายสภาพเป็นเหมือนซากศพเดินได้ภายในเวลา เพียงไม่กี่ ปี โดยที่เราไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้เลย จะเกิดจากเคราะห์หรือเกิดจากกรรมก็ตามแต่ สำหรับชาวพุทธขอให้เรายึดมั่นในการทำความดีไว้ดีกว่า เพราะผลจากกรรมดีย่อมผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: