10 ก.ย. 2554

คอลลาเจน ดีจริงหรือ? (1)

อาหารบำรุงสุขภาพหรืออาหารเสริมที่คนส่วนใหญ่ "เชื่อ" ว่าดีต่อสุขภาพนั้นมักเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามกระแสสังคม ตามการนำเสนอของสื่อ เมื่อมีกระแสว่าสารใดมีคุณสมบัติบำรุงร่างกาย ผู้ผลิตสินค้าทั้งหลายมักจะนิยมนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ฝ่ายผู้บริโภคเองก็เต็มใจซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมาบริโภค โดยลืมคิดถึง "คุณค่า" ที่แท้จริง

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา "คอลลาเจน" ได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะสารสกัดบำรุงสุขภาพ บำรุงผิวพรรณ มีอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ที่ผสมคอลลาเจนเพื่อดึงดูดผู้บริโภค มีตั้งแต่คอลลาเจนชนิดเม็ด ชนิดผง เครื่องดื่มผสมคอลลาเจน กาแฟผงผสมคอลลาเจน รังนกผสมคอลลาเจน สบู่ผสมคอลลาเจน ครีมทาผิว-ทาหน้า ผสมคอลลาเจน มีแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นผสมคอลลาเจน อะไรๆ ก็คอลลาเจนทั้งนั้น เคยคิดกันหรือไม่ว่าทำไมคอลลาเจนมันถึงได้เป็นสารมหัศจรรย์ที่มีคุณสมบัติดีครอบจักรวาลขนาดนี้?


ผู้ผลิตสินค้าคอลลาเจนให้ข้อมูล (และโฆษณา) โปรตีนแห่งความงามที่ว่านี้ ว่า

"คอลลาเจน เป็นโปรตีนสำคัญของผิวหนัง เพราะเป็นส่วนสปริงของผิวหนัง ในการสร้างความตึงให้กับผิวหนังชั้นหนังแท้"
"คอลลาเจนมีปริมาณมากถึง 1 ใน 3 ของโปรตีนในร่างกาย คอลลาเจนใต้ผิวหนังของเรา จะอยู่ในผิวหนังชั้นหนังแท้ คอลลาเจนทำหน้าที่เสริมความเรียบตึงของผิวหนัง ทำให้ผิวแข็งแรง และเรียบเนียน"
"น่าเสียดายที่ภายหลังอายุ 20 ปี คอลลาเจนโปรตีนจะเสื่อมสภาพลง ทำให้ชั้นผิวหนังมีการยุบตัวลง ต้นเหตุของความเหี่ยวย่น ริ้วรอย และความชราของผิวพรรณ"
"มีการนำสารสกัดโปรตีนจากปลาทะเลบางประเภท ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายกับโครงสร้างของคอลลาเจนของผิวคน โดยวิธีการ (Enzymatic Hydrolysis) ,มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วพบว่าภายหลังการรับประทานไประยะหนึ่ง จะสามารถช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน"

สรุป คือ คอลลาเจนเป็นโปรตีนในผิวหนังที่ทำให้ผิวเต่งตึง เมื่ออายุมากคอลลาเจนจะเสื่อม ดังนั้นควรบริโภคคอลลาเจนเข้าไปทดแทน ข้อมูลนี้เป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น

เป็นเรื่องจริงที่คอลลาเจนเป็นองค์ประกอบหลักของผิวหนัง เป็นโปรตีนที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะคอลลาเจนไม่เพียงเป็นองค์ประกอบของผิวหนังเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เชื่อมเซลล์ทุกๆ เซลล์ในร่างกายไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดเป็นเนื้อเยื่อ เป็นอวัยวะ และร่างกายที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ คอลลาเจนจึงมีปริมาณถึง 1 ใน 3 ของโปรตีนในร่างกาย เพราะเป็นโครงสร้างในส่วนที่ยืดหยุ่นของร่างกาย


เป็นเรื่องจริงที่เมื่ออายุมากขึ้น คอลลาเจนในร่างกายและผิวหนังจะเสื่อมสภาพไป ร่างกายสร้างคอลลาเจนได้น้อยลง จึงเป็นเหตุให้ผิวหนังเหี่ยวย่น แต่ข้อมูลเรื่องการบริโภคคอลลาเจนจากแหล่งอื่นจะเสริมสร้างคอลลาเจนในร่างกายได้นั้น เป็นข้อมูลที่หมกเม็ดข้อเท็จจริงบางอย่างไว้ และเลือกใช้ถ้อยคำโฆษณาที่ฟังดูดีทำผู้ฟังคล้อยตาม

ข้อเท็จจริงประการแรกคือ การดูดซึมโปรตีนเข้าสู่ร่างกายจำเป็นต้องผ่านกระบวนการย่อยก่อน โปรตีนทุกชนิดจะถูกเอนไซม์หลายชนิดในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กย่อยสลาย จากโปรตีนที่เป็นสายยาวจะถูกเอนไซม์ตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เหลือเพียงหน่วยย่อยที่เล็กที่สุด คือ กรดอะมิโน แล้วร่างกายจึงดูดซึมกรดอะมิโนเพื่อนำไปประกอบกันขึ้นใหม่เป็นโปรตีนที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ คล้ายๆ กับการประกอบตัวต่อเป็นรูปร่างต่างๆ ภายในขวด ที่เราไม่สามารถประกอบเป็นรูปร่างจากภายนอกขวดแล้วใส่เข้าไปได้ แต่จะต้องแยกตัวต่อเป็นชิ้นๆ ใส่ทางปากขวดทีละชิ้นแล้วประกอบภายในขวดเท่านั้น


คอลลาเจนเองก็ต้องถูกย่อยจนกลายเป็นกรดอะมิโน ไม่เหลือสภาพความเป็นคอลลาเจน ไม่แตกต่างจากโปรตีนชนิดอื่นๆ คอลลาเจนไม่ได้ถูกดูดซึมไปทั้งเส้นแล้วตรงไปประกอบเข้าเป็นผิวหนังอย่างที่หลายคนจินตนาการจากคำโฆษณา คอลลาเจนชนิดที่ทาผิวก็ไม่สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้เช่นกัน ด้วยตรรกะง่ายๆ ว่า ลำไส้ที่เป็นอวัยวะสำหรับดูดซึมสารต่างๆ จากภายนอกโดยเฉพาะยังไม่สามารถดูดซึมโปรตีนเล็กๆ สักโมเลกุล คอลลาเจน เป็นโปรตีนที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้น ผิวหนังย่อมไม่สามารถดูดซึมได้อย่างแน่นอน

ประการที่สอง คอลลาเจนไม่ได้มีเพียงชนิดเดียวแต่ เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 29 ชนิด แต่ละชนิดก็เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อแบบต่างๆ คอลลาเจนที่อยู่ในชั้นผิวหนังคือคอลลาเจน 1 นอกจากนี้คอลลาเจนของสัตว์แต่ละชนิดล้วนแตกต่างกัน สังเกตได้ง่ายๆ จากเนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อปลา จะมีลักษณะและความยืดหยุ่นแตกต่างกัน ดังนั้นความแตกต่างของคอลลาเจนในสัตว์แต่ละชนิดจึงทำให้ ไม่สามารถนำคอลลาเจนจากสัตว์อื่นๆ มาทดแทน หรือรวมเป็นองค์ประกอบในโครงสร้างผิวหนังของคน

ดังนั้นเมื่อคอลลาเจนไม่สามารถรับจากภายนอกได้ ไม่สามารถรับจากสัตว์อื่นๆ ได้ หากต้องการให้ร่างกายมีคอลลาเจนอย่างเพียงพอ มีเพียงการบำรุงรักษากลไกของร่างกายที่ทำหน้าที่สร้างคอลลาจนเท่านั้น การบำรุงรักษานั้นเพียงแค่รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอเท่านั้นเอง วัตถุ ดิบที่จำเป็นในการสังเคราะห์คอลลาเจนเราได้รับอย่างเพียงพอจากอาหารอยู่แล้ว การออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นให้กลไกทำงาน และการพักผ่อนช่วยให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายสึกหรอช้าลง
แม้จะเป็นวิธีการง่ายๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ชอบเท่าใดนัก มักอ้างว่าไม่มีเวลา ไม่สะดวก และไม่อยากทำอย่างต่อเนื่อง อยากได้ทางลัด ทางสบาย หรือวิธีการสำเร็จรูป จึงเป็นจุดอ่อนให้ผู้ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพทั้งหลายเอามาใช้




ที่มา วิชาการ.คอม

ไม่มีความคิดเห็น: