1 ก.ย. 2552

เลี่ยง...หนี...4 เสี่ยง...

ต้นตอของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่พึงประสงค์นี้ บางทีอาจจะเกิดจากพฤติกรรมบางอย่างที่ขาดสมดุลทำให้พวกเรากำลังก้าวเข้าสู่ความเสี่ยงนึกไม่ถึงเสี่ยงแรก เกิดจาก "ความเครียด" ต้นตอที่ส่งผลกระทบ ต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากที่สุด

ใครที่มีอาการเหล่านี้ กำลังวิตกกังวลมากเกินปกติ หรือนอนไม่หลับ หรือใจสั่น ตื่นเต้น ตกใจง่าย หรือเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือปวดหัว แน่นหน้าอก แน่นท้อง ชาตามตัว ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ฯลฯ อะไรทำนองนี้ นี่แหละขอบอกว่า เครียดมาเยือนแล้ว ดังนั้นโปรดระวังโรคเหล่านี้โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหอบหืด, โรคปวดศีรษะไมเกรน

ส่วนการผ่อนคลายความเครียดนั้น ควรบำรุงจิตใจและกำลังใจให้แข็งแรง รู้จักการปล่อยวาง ทำจิตใจให้สงบ อาจใช้ สวดมนต์ ทำสมาธิ ไปทำบุญเข้าช่วย อีกอย่างควรมองโลกในแง่บวก รู้จักแบ่งเวลาทำงานและเวลาผ่อนคลาย หันไปใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน สร้างสุขด้วยเสียง ดนตรี และพักผ่อนหย่อนใจก็ดี ที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องให้เกิน 20 นาทีขึ้นไป สารเอ็นโดฟินส์จะทำให้สดชื่นสบายเนื้อสบายตัว ปลอดจากโรคภัยต่างๆ เป็นปลิดทิ้งเสี่ยงที่สอง "อ้วน" ต้นทางที่ทำให้เกิดโรคร้าย อาทิ โรคหัวใจ เส้นเลือดตีบตัน คอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน เป็นต้น

สาเหตุง่ายๆ ที่ทำให้อ้วนนั้นเกิดจากการกินอย่างไม่บันยะบันยัง แถมยังนั่งทั้งวันไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย เรียกว่า ใครที่เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบเมื่อเดือนขึ้นบันใดสักชั้น 2 ชั้น ขอได้โปรดพึงระวังได้แล้ว

ส่วนการหลีกหนีอ้วนให้ไกลห่างนั้น ควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อเผาผลาญส่วนเกินที่จะกลายเป็นไขมัน ควรเคร่งครัดในการเลือกอาหารการกิน อย่าตามใจปากมากเกินไปอาจใช้วิธีการงดน้ำตาล งดแป้งในมื้อสุดท้ายของวัน งดเครื่องดื่มที่มีแคลอรี และอีกวิธีที่ได้ผลคือ จดบันทึกสิ่งที่กินไปในแต่ละวันด้วย

ข้อสำคัญคือ อย่าไว้วางใจ เมตาโบลิซึ่มหรือกระบวนการสันดาปของร่างกายมากเกินไป ควรดูแลพฤติกรรมของตัวเราเองจะดีที่สุดเสี่ยงสาม "ออฟฟิศซินโดรม" หรือ โรคยอดฮิตของพนักงานออฟฟิศ ที่เกิดจากพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ เดิมๆ นานๆ

โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถมากเกินไป อาจจะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน เกิดจากการยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งความเครียดสะสมจากการทำงาน ผลก็คือ อาการปวดสารพัดชนิด ทั้งปวดหัวไมเกรน ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดเอว ปวดขา บางคนอาจรุนแรงกลายเป็น "ภาวะกระดูกเสื่อม" หรือ "ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง" ได้

การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้นั้น อยู่ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และท่วงท่าให้เหมาะสม ควรขยับร่างกายเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1-2 ชั่วโมง และออกกำลังกายให้กับทุกส่วนของร่างกายอย่างถูกวิธีอยู่เสมอเสี่ยงสี่ "กระเป๋าหนัก" ข้อนี้เป็นปัญหาตั้งแต่วัยเด็ก ที่อาจส่งผลทำให้มีอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้

มีการพบว่า กระเป๋านักเรียนของเด็กไทยหนักเกินกว่าน้ำหนักตัวมากถึง 20% สำหรับผู้ที่ใช้กระเป๋าที่สะพายข้างหลัง ทำให้น้ำหนักของกระเป๋ากดกล้ามเนื้อต้นคอ ไหล่ หลัง และกระดูกสันหลัง และอาจกดทับกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้

วิธีเลี่ยงก็คือ ควรเลือกกระเป๋าที่เหมาะสมกับขนาดและสรีระของผู้ใช้ เลือกสายสะพายหรือสายเป้ที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 6 ซ.ม. ขึ้นไป ก้นกระเป๋าต้องไม่ต่ำกว่าบั้นเอว สะพายกระเป๋าให้ได้น้ำหนักที่สมดุลทั้งด้านซ้ายและขวา เพื่อไม่ให้เกิดการถ่ายเทน้ำหนักส่วนเกินด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป และเมื่อสะพายกระเป๋าหรือเป้ควรเดินตัวให้ตรง ไม่แอ่น เอน หรือเดินหลังค่อมด้วย

เมื่อรู้เขารู้เราก็จะสามารถหลีกหนีความเสี่ยงได้ เป็นการป้องกัน และตั้งรับเพื่อก้าวไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีได้

ไม่มีความคิดเห็น: