5 ก.ค. 2551

แฮ็ก ATM ระบาดกดเงินเดือนเกลี้ยง พบมีเหยื่อกว่า20ราย

รองผกก.ตม.กดเงินเดือนทางเอทีเอ็ม ช็อกหายเกลี้ยงบัญชี รุดแจ้งความ เชื่อคนร้ายแฮ็กข้อมูลเอทีเอ็ม เผยพื้นที่เชียงใหม่มีเหยื่อถูกลอบกดเงินจากตู้เอทีเอ็มไม่ต่ำกว่า 20 ราย *ขณะที่ดีเอสไอทลายแก๊งปลอมบัตรเครดิต รวบ 3 ผู้ต้องหา ตะลึง 15 วันเสียหายกว่า 30 ล้านบาท*มั่นใจมีเจ้าหน้าที่ธนาคารร่วมขบวนการด้วย เตรียมล่าตัวผู้ร่วมแก๊งอีก 9 ราย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ต.ท.ปรีชา สุวรรณศร รองผู้กำกับด่านตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.ธนดล น้อยสุวรรณ พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ภายหลังถูกคนร้ายแอบถอนเงินไปจากธนาคารกรุงไทยจำนวน 3 หมื่นบาท พ.ต.ท.ปรีชา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้นำบัตรเอทีเอ็มไปกดเงินเดือนประมาณ 3 หมื่นบาท จากตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย ปรากฏว่า ยอดเงินดังกล่าวหายไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้ตรวจสอบบัญชีธนาคารพบว่าเงินเดือนจำนวนดังกล่าวเข้ามาในบัญชีแล้ว

* "น่าแปลกใจคือ เงินจากบัญชีของผมหายไปทั้งที่บัตรเอทีเอ็มอยู่กับตัวผม เรื่องนี้เชื่อว่า น่าจะเป็นฝีมือของขบวนการลอบขโมยข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มแล้วนำไปทำบัตรปลอมไปกดเ­งินจากตู้เอทีเอ็ม * วันนี้จึงนำเรื่องเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน และหลังเข้าแจ้งความได้ตรวจสอบไปทั้ง 4 สถานีตำรวจภูธร ในเขต อ.เมืองเชียงใหม่ ทราบว่าช่วงที่ผ่านมามีเหยื่อถูกลักลอบกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็มไม่ต่ำกว่า 20 ราย ซึ่งจนถึงขณะนี้ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้" พ.ต.ท.ปรีชากล่าว

วันเดียวกัน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาในคดีร่วมกันทุจริตบัตรเครดิตว่า ดีเอสไอสืบสวนและรวบรวมหลักฐานในคดีดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2549 พบว่า ผู้ต้องหา 12 ราย ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการ แต่ละคนจะแบ่งหน้าที่กันขโมยข้อมูลบัตรเครดิตของบุคคลจากต่างประเทศ ได้แก่ อเมริกา เกาหลี ไต้หวัน และอังกฤษ ด้วยวิธีการสแกมเมอร์ และไวด์แทปปิ้ง แล้วนำข้อมูลไปใช้ทำบัตรเครดิตปลอม จากนั้นคนร้ายจะไปติดต่อเซ้งกิจการร้านค้าที่มีเครื่องอีดีซี หรือเครื่องบริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต โดยพุ่งเป้าไปที่เครื่องชำระเงินผ่านบัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งดีเอสไอได้รับแจ้งจากผู้แทนบริษัทวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ว่า การกระทำของผู้ต้องหาคดีนี้สร้างความเสียหายสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทย

* พ.ต.อ.สุชาติกล่าวต่อว่า*
ส่วนพฤติกรรมของกลุ่มผู้ต้องหาในการกระทำผิดคือ กลุ่มผู้ต้องหาจะเข้าไปเซ้งกิจการต่อจากเจ้าของร้านเป้าหมาย จากนั้นกลุ่มคนร้ายจะขอให้เจ้าของร้านเปิดบัญชีของร้านเดิมต่อไประยะหนึ่ง และขอใช้เครื่องชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเดิมต่อไป รวมทั้งจะให้เจ้าของร้านเดิมลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินบนเช็คโดยไม่กรอกจำนวนเงิ­นและวันที่ไว้ให้กลุ่มคนร้าย เมื่อกลุ่มคนร้ายเข้าไปดำเนินกิจการจะนำบัตรเครดิตปลอมมาใช้ชำระเงินผ่านเครื่อ­งรูดบัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ วันละไม่เกิน 2 ครั้ง จำนวนเงินบัตรละไม่เกิน 3 แสนบาท โดยกลุ่มคนร้ายจะใช้เวลาในการทำธุรกรรมปลอม ไม่เกิน 15 วัน และเมื่อได้รับเงินจากธนาคารเกือบ 30 ล้านบาท คนร้ายก็จะปิดกิจการแล้วนำเงินหลบหนี

"คดีนี้ คนร้ายไปเซ้งกิจการร้านเชิดมั่นแอร์ ย่านมีนบุรี และยังใช้บัตรเครดิตปลอม รูดซื้ออัญมณี จากร้านค้าย่านคลองตัน เขตวัฒนา โดยพฤติการณ์การใช้บัตรเครดิต มีความผิดปกติ เช่น ใช้บัตรลูกค้าในประเทศสหรัฐ ซื้อแอร์ในเวลา 20.00 น. วงเงิน 3.9 หมื่นบาท ต่อมาอีก 7 นาที ใช้บัตรเดิมรูดซื้อแอร์อีก 3.5 หมื่นบาท และยังมีการใช้บัตรเครดิตของชาวอังกฤษรูดซื้อสินค้าในราคา 9.6 หมื่นบาท ต่อมาอีกไม่กี่นาทีใช้บัตรเดิมรูดซื้อสินค้าอีก 9.5 หมื่นบาท *ซึ่งตามปกติธนาคารจะไม่อนุมัติการใช้บัตรในลักษณะต้องสงสัยดังกล่าว ดีเอสไอจึงสอบสวนขยายผลพบว่า มีเจ้าหน้าที่ธนาคารเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยมีเงินสดโอนเข้าบัญชี 1 แสนบาท ดีเอสไอจึงออกหมายจับเจ้าหน้าที่ธนาคารด้วย"*พ.ต.อ.สุชาติกล่าว

พ.ต.อ.สุชาติกล่าวอีกว่า หลังจากนำกำลังเข้าตรวจค้น ดีเอสไอจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน ได้แก่ นายสุรพล ป้องกา อายุ 44 ปี หรือ เสธ.แดงเล็ก เป็นนายทหารนอกประจำการ น.ส.จินตนา แซ่โง้ว อายุ 46 ปี และนายวีระสิทธิ์ มุงอินทร์ อายุ 38 ปี ส่วนผู้ต้องหาอีก 9 คน ยังหลบหนี เบื้องต้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการร่วมกันแจ้งข้อหา ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม มีโทษจำคุก 1-7 ปี ปรับ 2 หมื่น-1.4 แสนบาท แต่คดีนี้เป็นการนำบัตรไปใช้ชำระค่าสินค้าแทนเงินสด ผู้ต้องหาจึงต้องรับโทษเพิ่มขึ้นอีกกึ่งหนึ่ง

พ.ต.อ.สุชาติกล่าวเตือนประชาชนผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิตให้ระวังอาจตกเป­็นเหยื่อ โดยทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการให้ตรวจสอบอย่างละเอียด หากจำเป็นต้องนำบัตรไปกดเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็ม ขอให้ระมัดระวังกลุ่มคนร้ายใช้เครื่องสแกมเมอร์มาครอบที่แป้นกด หรือช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็ม โดยขอให้เลือกใช้บริการตู้เอทีเอ็มที่มีกล้องวงจรปิดเท่านั้น

*ที่มา คม ชัด ลึก*

ไม่มีความคิดเห็น: