4 ต.ค. 2551

รักษาเบาหวานแบบแพทย์แผนจีน

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง เกิดจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอที่จะนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง นานเข้าๆ ก็ส่งผลต่ออวัยวะหลายส่วน ได้แก่ ตา ไต ประสาท เป็นแผลเรื้อรัง หมดความรู้สึกทางเพศ รักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันพร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย และพบแพทย์สม่ำเสมอ นี่เป็นวิธีที่หลายคนปฏิบัติ หากนอกเหนือจากการรักษาแผนปัจจุบันแล้ว การรักษาแบบศาสตร์จีนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

Say About เบาหวาน (จีน) พญ.เฉิน เหว่ย หลิง (พญ.มุกดา เจริญเศรษฐมห) แพทย์แผนจีน คลินิกแพทย์แผนจีน โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานจึงค่อนข้างสูง สาเหตุก็เพราะอากาศร้อน และการรับประทานอาหารตามใจปาก ใครที่ชอบรับประทานอาหารรสเผ็ด ๆ และ มันๆ จะทำให้กระเพาะและลำไส้ร้อน ความร้อนสะสมไว้ในร่างกายทำให้น้ำในร่างกายแห้ง

“คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเบาหวาน เกิดจากการบริโภคแป้งน้ำตาลที่มากเกิน แต่ในทางแผนจีน อาหารเพาะโรคคืออาหารรสเผ็ดจัด มันจัด ซึ่งทำให้ร้อนภายในและหยินพร่อง” พญ.เฉินเหว่ยหลิง กล่าวอีกว่า แพทย์แผนจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี โดยตำราแพทย์เริ่มระบุถึงอาการของโรคเบาหวานไว้เมื่อ 650 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ในคัมภีร์แพทย์จีนโบราณ-ตัน ชี ซิน ฝ่า เซียว ขื่อ เจิ้ง ระบุถึงเบาหวานว่า หมายถึง การมีความร้อนสะสมภายในร่างกายมากเกินไป ทำให้ภาวะในร่างกายแห้งและเกิดไฟ สารเหลวในร่างกายถูกเผาผลาญ เราดื่มน้ำทดแทนเท่าไรก็ไม่ช่วยดับกระหายได้ แพทย์จีนรุ่นเก่าเข้าใจดีถึงอวัยวะภายในที่ร้อนจัด ทำให้กระหายน้ำ อวัยวะภายในร้อนและแห้งมาก ทำให้เกิดหยินพร่อง ความร้อนสะสมภายในร่างกาย สารเหลวในร่างกายไม่พอ ทำให้เกิดร้อนใน จึงมีอาการกระหายน้ำและปัสสาวะบ่อย เรียกว่า เซียว ขื่อ เจิ้ง

“สาเหตุสำคัญของเบาหวานคือปอด กระเพาะอาหาร และไตทำงานไม่ปกติ ถ้าปล่อยนานไปจะทำให้เกิดซี่พร่อง ซึ่งกระเทือนถึงหยิน ท้ายที่สุดทั้งหยินและหยางก็จะพร่องไปพร้อมกัน สารเหลวในร่างกายถูกเผาผลาญทำให้เลือดแห้งคั่ง จากการค้นคว้าของแพทย์จีนยุคหลังมานี้พบว่า ผู้ป่วยมีอาการเลือดคั่งร่วมด้วย”พญ.เฉิน เหว่ย หลิง กล่าว

เสริมหยินรักษาโรค

พญ.เฉิน เหว่ย หลิง เล่าถึงหลักการรักษาผู้ป่วยเบาหวานตามแบบจีนว่า ได้แก่การเสริมหยิน บำรุงไต ขับความร้อนกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนสะดวก แก้ไขอาการเลือดคั่ง ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกัน จำแนกอาการเป็น 3 ประเภทดังนี้

ประเภทที่ 1 ผู้ป่วยมีอาการกระหายน้ำ ปากแห้ง, คอแห้ง, ปัสสาวะบ่อย, ลิ้นแดง มีฝ้าเหลือง, ลักษณะการเต้นของชีพจร คือ ใหญ่เต้นแรงและเร็ว วินิจฉัยว่าเป็นภาวะปอดร้อนน้ำแห้ง ถือว่าเริ่มมีอาการของโรค

หลักการรักษา คือ ขับความร้อนในร่างกาย และทำให้ปอดชุ่มชื่น

ใช้ตำรา ไป๋หู่ทัง กับเพิ่มเหยินเซิน หรือใช้หวางเหลียนเทียนฮั่วฝุ่น ไหม้ตง ทั้งหมดนี้เป็นชื่อยาจีน แพทย์จะสั่งให้ตามอาการและขนาดของโรค ผู้ป่วยต้มกินและหมั่นกลับมาเช็กอาการกับแพทย์

ประเภทที่ 2 ผู้ป่วยมีอาการหิวง่าย ทานอาหารบ่อย ถ่ายอุจจาระแข็ง ลักษณะการเต้นของชีพจรลื่นและมีแรง ฝ้าบนลิ้นสีเหลือง แพทย์จีนวินิจฉัยเป็นภาวะกระเพาะอาหารร้อนมาก

หลักการรักษา ขับความร้อนในกระเพาะอาหาร ถอนไฟ และเพิ่มน้ำไปหล่อเลี้ยงตามร่างกาย

ใช้ตำรา (อี้หนี่เจียน) เพิ่มหวางเหลียน จื่อจื่อ หรือใช้เจิ้งเอี้ยเฉิงฉี่ทัง

ประเภทที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ในเวลากลางคืน ปัสสาวะจะมีสีขุ่น และมีรสหวาน, ปากแห้ง คอแห้ง, ลิ้นแห้ง, ลิ้นจะมีสีแดง ลักษณะการเต้นของชีพจร คือเส้นเล็กเต้นเร็ว แพทย์จีนวินิจฉัย คือ ไตพร่อง น้ำในไตน้อยเกินไป

หลักการรักษา บำรุงน้ำในไตหยิน

ตำราที่ใช้ (ลิ่วอุ้ยตี้หวางหวน) เพิ่มตั่งเซิง และหวางฉี

ความน่ากลัวของเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรังจะมีอาการแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคไต อัมพฤกษ์อัมพาต เบาหวานขึ้นตา ประสาทตาเสื่อม มือเท้าชา เส้นเลือดอุดตัน นิ้วเท้าดำและเป็นแผลเรื้อรัง หลักการรักษาอาการแทรกซ้อน ได้แก่การกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนสะดวก แก้ไขเลือดคั่ง ใช้ตำรายาเถาโหง เสื้ออู้ทัง เพิ่ม หยินฮัว เหลียนเฉียว นอกจากนี้ใช้วิธีฝังเข็มเพื่อรักษามือเท้าชา อัมพฤกษ์อัมพาต

“ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 50% เป็นโรคความดันโลหิตสูง, 50% ไขมันในเลือดสูง, 15% ประสาทตาเสื่อม, 30% มือ เท้าชา และ 30% ผิวหนังอักเสบ เหล่านี้คืออาการแทรกซ้อนที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตอย่างยิ่ง” พญ.เฉิน เหว่ย หลิง กล่าว

การรักษาแผนจีน มีเป้าหมายสำคัญให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มักไม่หายขาด จำเป็นต้องรักษาตลอดชีวิต ผู้ป่วยจึงต้องยืนหยัดตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันทั้ง 2 แผนประสานกัน ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น และสามารถบรรเทาอาการแทรกซ้อนของโรค ชะลอการแทรกซ้อนและทำคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีมีความสุข

จากประสบการณ์รักษาผู้ป่วยเบาหวานแบบจีน พบว่า 80% อาการดีขึ้น ส่วนที่เหลือเห็นผลไม่ชัด เนื่องจากผู้ป่วยไม่รักษาต่อเนื่องและไม่ควบคุมอาหาร ตบท้ายฮาวทูวันนี้จึงแถมให้ด้วยอาหารรักษาเบาหวานสำหรับคนรักสุขภาพเพื่อการดูแลตัวเอง

1.มะระ
2.กระเทียม-ข้าวโพด
3.ใบชา-ลูกเดือย
4.ซานเยี่ยว-เห็ดหูหนู
5.เก๋ากี้-เห็ดต่างๆ
6.สาหร่าย

ไม่มีความคิดเห็น: