10 เม.ย. 2552

จุดอ่อนของคนหางานทำ

คนเราเมื่อถึงอายุที่หรือวัยที่ต้องทำงาน หรือ มีความจำเป็นต้องหางานทำแล้ว มักจะมีพฤติกรรมต่างๆตามลำดับขั้นของช่วงเวลาดังนี้

คาดหวังในงานที่จะทำ

คนเริ่มสมัครงานมักมีความคาดหวังในงานที่จะทำไว้ค่อนข้างสูง อยากจะทำนั่น อยากจะทำนี่ ซึ่งก็จะสมัครในงานที่ตนเองต้องการที่จะทำเป็นส่วนใหญ่ บางคนถึงกับสมัครงานในสิ่งที่ตนเองไม่ได้เรียนมาแต่มีความชอบส่วนบุคคล ทั้งนี้ ความคาดหวังเป็นสิ่งที่ดีในมุมมองผมว่า ได้ผลักดันให้คนหางานได้มีความคิดทะเยอทะยานเพื่อที่จะทำงานในหน้าที่การงานเหล่านั้น และ หากเขาได้ทำงานเขาก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด ในทางกลับกันคนที่ไม่มีความคาดหวังกลับสมัครงานอย่างไร้ทิศทาง ทำอะไรก็ได้ ขอแค่มีงานทำ ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่เมื่อได้เข้าไปทำงานแล้วก็จะเพิ่งรู้ว่าตนเองไม่เหมาะกับงานที่ทำ ความหวังความฝันไม่ได้ขึ้นกับเหตุและผล เหมือนๆกับคนที่ขอทำงานอะไรก็ได้ บางคนก็ได้งานที่ไม่เหมาะกับนิสัยตนเอง นี่เอง จึงเป็นที่มาของการสัมภาษณ์งานเพื่อให้ได้คนที่ผู้สัมภาษณ์คิดว่าน่าจะตรงกับงานที่จะให้ทำมากที่สุด

หลักการพื้นๆที่จะมองว่าเราน่าจะทำงานประเภทใด คือ การศึกษาตนเองและรู้ตนเองมากที่สุด

เช่นตนเองนั้นมีลักษณะพื้นฐานอย่างไร โดยการศึกษาตนเอง เช่นเป็นคนที่ชอบนอนแต่เช้าตื่นแต่เช้า หรือ ชอบนอนดึกๆตื่นสายๆ หรือ ชอบทำงานตอนกลางคืนนอนกลางวัน บางคนอาจจะชอบอ่านหนังสือตอนดึกๆ ก็คิดว่าเราชอบทำงานตอนดึกๆ และเข้าเรียนในช่วงเช้าถึงเย็น แต่ความเป็นจริงแล้ว การอ่านหนังสือดึกๆ หรือ เช้าๆมีเหตุผลของการอ่านหนังสือ ไม่ใช่การชอบก็เป็นไปได้

เป็นคนชอบลุยๆ ซ่าๆ ปีนเขา ออกภาคสนาม หรือ เป็นคนเงียบๆ ชอบคิด ชอบอ่าน ชอบฝัน ชอบเที่ยวทะเลผ่อนคลายไปกับธรรมชาติ

ชอบอ่านหนังสือ หรือ ชอบดูโทรทัศน์

ชอบเอาใจเพื่อนๆ บริการเพื่อนๆ หรือ อะไรก็มองว่าตนเองจะเสียเปรียบมากน้อยเพียงใด

ชอบคุยมากน้อยเพียงใด หรือ แม้นแต่การขี้บ่นจู้จี้มากน้อยเพียงใดด้วยเป็นต้น

สามารถปรับปรุงตนเองเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด ข้อจำกัดของตนเองมากน้อยเพียงใด อย่างบางคนเวลาเรียนมักจะตื่นสาย แต่เวลาทำงานไม่สามารถตื่นสายแบบเวลาเรียนได้ ดังนั้น ก็จะต้องมีการปรับตัว และ หากคิดว่าตนเองปรับตัวไม่ได้ก็ต้องมองในลักษณะการเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง หรือ ทำงานในที่ทำงานที่เข้าสายๆ หรือ แม้นแต่เป็นคนไม่ค่อยคบกับใคร ก็ต้องปรับตนเองให้คบกับคนอื่นๆมากขึ้นเช่นกัน

ความชอบส่วนตัวเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ การหางานที่เหมาะกับลักษณะนิสัยของตนเอง จะทำให้ทำงานในงานนั้นๆได้นานกว่าการทำงานเพียงเพื่อที่จะได้เงินเท่านั้น ซึ่งถ้าหากเลือกได้ การเลือกทำงานที่เหมาะกับนิสัยส่วนตัว จะทำให้การทำงานนั้นๆ ส่งผลในเชิงบวกมากขึ้น

องค์กรน่าจะได้คนแบบใดมาทำงาน

อันนี้เสริมในส่วนองค์กรว่า ควรจะออกแบบลักษณะคนที่จะเข้าทำงานในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ตามลักษณะพฤติกรรมของการทำงานนั้นๆ เช่น หากต้องทำงานนอกบริษัทฯ ก็ต้องการคนที่มีความชอบในการลุย อดทน และ ไม่คิดมาก จะรับเอาคนที่ชอบคิดไปออกภาคสนามก็จะไม่เหมาะ ดังนั้นองค์กรจึงควรที่จะวิเคราะห์งานที่จะรับในการดำเนินงานแต่ละงานว่า ควรจะรับคนประเภทใดเข้ามาทำงานในหน้าที่นั้นๆให้เหมาะสม และ สรรหาคนที่จะเข้าทำงานในหน้าที่นั้นให้ตรงมากที่สุดเท่าที่จะสามารถคัดเลือกได้ ก็มีโอกาสที่พนักงานจะทำงานได้นานขึ้น

บรรยายตัวเองตามรูปแบบ

เมื่อมีควาสมหวังในงานที่จะทำ เครื่องมือโดยทั่วไปของคนสมัครงานก็คือ Resume’ ทั้งนี้คนหางานก็จะพยายามเขียนตามรูปแบบมาตรฐานที่มีมา โดยลืมนึกไปว่า จริงๆแล้ว มาตรฐานเหล่านั้นก็เป็นเพียงการรวบรวมสิ่งที่องค์การต้องการทราบเบื้องต้น เท่านั้น ดังนั้น จึงร่ายยาวตามรูปแบบพื้นๆ ซึ่งอาจจะทำให้เสียโอกาส

Resume’ ที่ดีควรเป็นอย่างไรนั้น ในความคิดผมที่อ่านสิ่งเหล่านี้มามาก และ คนที่ผมจะรับเข้าทำงานร่วมในทีมด้วย จะเขียน Resume’ ในลักษณะอธิบายตัวตนของเขาให้มาก เพื่อให้ผมสามารถพิจารณาว่าเขาเป็นคนเช่นใด ดังนั้น ถ้าเป็น Resume’ ทั่วๆไป ผมก็อ่านแค่ผ่านๆว่า เขาเป็นอย่างไร แต่ Resume’ ที่แตกต่างและบรรยายตัวตนของเจ้าของได้มากกว่า จึงมีโอกาสที่ผมจะเรียกสัมภาษณ์มากกว่า นั่นหมายความว่า Resume’ ไม่ใช่เพียงเอาข้อมูลของคุณที่เป็นรูปธรรมมาใส่ลงไปเท่านั้น แต่คุณควรที่มีสิ่งที่เป็นนามธรรมที่จะอธิบายหรือ ชี้แจงความเป็นตัวคุณให้กับผู้อ่าน เพื่อให้เขาเปรียบเทียบกับงานของเขาว่า คุณเหมาะสมกับหน้าที่การงานลักษณะใด หรือ เหมาะกับงานที่สมัครมากน้อยเพียงใด และ หากเป็นไปได้ คุณก็น่าจะทำ Resume’ แบบเฉพาะในการสมัครแต่ละงาน เพื่อสร้างแรงดึงดูดของแต่ละงาน ไม่ใช่ทำแค่แบบกลางๆพื้นๆ สำหรับทุกองค์กร เพราะอะไรที่เหมาะกับทุกองค์กรหมายถึง มันเป็นสิ่งธรรมดาๆ สำหรับเขาด้วยเช่นกัน

หางานที่อยากทำ

คนหางานก็อยากที่จะทำงานในสิ่งที่อยากทำก่อน แต่งานที่อยากทำ อาจจะไม่อยากรับเพิ่มก็ได้ ทั้งนี้ ความต้องการกับการตอบสนองส่วนใหญ่มันก็มักจะไปกันคนละทางด้วย ดังนั้น การหางานที่อยากทำ ก็การได้ทำงานที่เหมาะกับตนเองและสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ จึงควรนำเอามาพิจารณา

การหางานจึงต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมาประกอบด้วย กล่าวคือ คนที่เดือดร้อนเรื่องเงิน ถ้ายังอยากทำงานที่ชอบ แต่ไม่ได้งานอาจจะอดตายก็ได้ หรือ คนที่มีเงินมีทองเหลือเฟือแต่เลือกงานที่อยากทำ สรุปแล้วก็อาจจะไม่ได้ทำงาน และ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้ความเชื่อมั่นในตนเองลดลงได้ ทั้งนี้ แต่ละคนก็ควรจะมีมุมมองทางด้านนี้ไว้ว่า บริบทของคุณนั้น กำลังอยู่ในจุดใด และ สามารถเลือกได้หรือไม่...

แต่ทั้งนี้ก็ยังคงมีการเลือกงานที่ตนเองอยากทำถึงแม้นจะได้งานที่ทำแล้วตรงกับตนเองก็ตาม ความเสียหายจึงตกไปอยู่กับผู้จ้าง ผู้ว่าจ้างจึงต้องมีมาตรการป้องกันและเริ่มมีกฎข้อบังคับ หรือ มีการผูกมัดคนทำงานลักษณะนี้ไว้ด้วย ซึ่งจะกล่าวในส่วนของการดึงดูดคนทำงานให้ทำงานกับบริษัทฯ

เงินเดือนต้องมากที่สุด

คนหางานส่วนใหญ่ อยากได้เงินเดือนที่มากที่สุดของตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ (ไม่ยกเว้นผมนะครับ) แต่อาจจะลืมนึกไปว่า งานที่คุณเข้าไปนั้นคุณมีความสามารถมากน้อยเพียงใดที่จะทำ คุณสามารถทำได้เหมือนคนที่เคยทำมาแล้ว 5-6 ปีหรือเปล่า ทั้งนี้ส่วนใหญ่ ก็จะมองว่า ต้องเรียกร้องให้มากที่สุด เพราะว่าองค์กรได้กำไรมาก เราก็ต้องได้มาก แต่อาจจะลืมนึกไปว่า องค์กรต่างๆเอง ก็จะพยายามมองหาคนทำงานที่ราคาต่ำที่สุด หรือ พอเหมาะกับงานที่รับผิดชอบ ดังนั้น ความต้องการของคนหางาน กับความต้องการของกำลังคน จึงเดินสวนทางกัน แล้วใครหละที่จะเป็นคนถอยก่อน 1 ก้าว คนที่มีอำนาจต่อรอง หรือว่า คนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง คิดดู

คนที่ไม่ได้งานเพราะเกี่ยงเรื่องเงินก็มีมาก องค์กรที่บอกปฏิเสธคนเพราะได้คนที่เงินเดือนน้อยกว่า ในคุณภาพใกล้เคียงกันก็มี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมพอดีว่า จะสมยอมกันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็คิดว่า คนหางาน ก็ยังเป็นคนที่ไม่มีอำนาจต่อรองมากนักในการสมัครงานอยู่ดี ยกเว้นคุณจะมีประสบการการทำงาน และ ทางองค์กรต้องการคุณอย่างมากเท่านั้น

ตื่นเต้นกับการสัมภาษณ์ครั้งแรก

คนหางานมือใหม่ทุกคนมักตื่นเต้นกับการสัมภาษณ์ครั้งแรก ประหนึ่งว่าเขากำลังเขาแท่นประหาร บางคนมือไม้สั่น พูดสั่น จนจับไม่ได้ประเด็น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้สัมภาษณ์ก็จะมองเห็น และ เมื่อเห็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่มี 2 กรณีที่เขาจะทำคือ ขู่ให้กลัวจนหัวหด หรือ คุยให้ผ่อนคลาย ดังนั้น คุณจะได้งานหรือไม่ได้งานก็จะขึ้นอยู่กับผู้สัมภาษณ์ว่าเขาจะจัดการกับคุณอย่างไร

ถ้าคุณมีการไปสัมภาษณ์ไม่ว่าจะครั้งแรกหรือ ครั้งใดก็ตาม ให้ทำใจให้นิ่งเข้าไว้ คิดเสียว่า คนสัมภาษณ์ก็คือคนหางานที่ได้ทำงานก่อนเรา เขาเป็นคน เราก็เป็นคน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องกลัว แต่ให้เกรงใจเขาบ้าง ทั้งนี้ ถ้าได้โอกาสก็ต้องพยายายไขว่ขว้าโอกาสไว้ ด้วยการ คุยกับผู้ให้สัมภาษณ์อย่างจริงใจ และ จำไว้เสมอว่า ผู้กสัมภาษณ์ต้องการคนที่เป็นต้วของตัวเอง แต่ก็ต้องเข้ากับองค์กรได้ หรือ บางคนก็จะมองเรื่องทัศนคติที่ดี ดังนั้น การฝึกตอบคำถามทั่วๆไป ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นบ้าง

แต่ถ้าคุณเจอคนแบบผมคุณอาจจะงงไปเลยก็ได้เพราะผมจะคุยเรื่องทั่วๆไป ถามในสิ่งที่คนอื่นไม่ถามกัน ทั้งนี้ ผมต้องการที่จะหาคนที่เหมาะกับงาน มากกว่าการมองกระดาษที่เขาได้รับมา ผมหาคนทำงานที่ไม่ใช่คนพูดและนำเสนอเก่ง ผมหาคนที่มีทัศนคติที่ดีไม่ใช่หาคนมาแค่ทำงานเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ผมก็คิดว่า หลายๆองค์กรก็ต้องการคนลักษณะเช่นนี้ ดังนั้น คุณต้องทำเรื่องต่างๆให้เป็นธรรมชาติ ปรับตัวเองให้เป็นคนที่องค์กรต้องการ หากคุณต้องการสมัครเป็นคนทำงานจริงๆ

ได้งานทำ หรือ การรอคอยอย่างมีความหวัง

เมื่อผ่านการสัมภาษณ์แล้ว สิ่งที่เกือบทุกคนจะได้รับคือ เดี๋ยวบริษัทฯจะติดต่อกลับไป มันเป็นคำที่ให้ความหวังกับผู้สมัครงาน แต่ เป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจของคนรอคอยอย่างมาก มันเหมือนกับเชือดความมั่นใจของคนสมัครงานอย่างช้าๆทีละนิดๆด้วยเวลา นี่กลายเป็นคำตอบให้กับคนหางานว่า ทำไมคุณถึงเริ่มเฉื่อยลงเมื่อใช้เวลาสมัครงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผมจะพบได้จากลักษณะที่แสดงออกจากการสัมภาษณ์

วิธีง่ายๆสำหรับคุณคือ การทำใจไว้ 99% ว่าบริษัทฯที่ไปสัมภาษณ์มาแล้วนั้น ไม่รับคุณเข้าทำงาน คุณจะรู้สึกดีขึ้นและไม่ต้องรอว่าเขาจะโทรมาหรือเปล่า แต่ต้องหางานต่อไป อย่างมุ่งมั่นเพื่อป้องกันความเฉื่อยที่จะเกิดขึ้นครับ

บริษัทฯเหล่านั้นเสียโอกาสรับคนเก่งๆอย่างเราเข้าทำงาน

คนที่เชื่อมั่นในตนเองจะมีความเชื่อว่า ตนเองมีความสามารถในการทำงานทุกอย่างที่เขามอบหมายให้ ดังนั้น จงรักษาความเชื่อมั่นเหล่านั้นไว้ แต่แอบซ่อนสักหน่อยก็ดี เพราะว่า การจะเข้าไปทำงานในองค์กร สิ่งหนึ่งของผู้สัมภาษณ์หลายๆคนพยายามที่จะมองคือ คุณเชื่องขนาดไหน แต่ไม่ทั้งหมดทุกงานหรือทุกบริษัทฯหรอก บางงานเขาก็ต้องการความเชื่อมั่นสูง แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นกับลักษณะงานที่คุณเข้าไปสมัครด้วย แค่บอกว่า ถ้าว่าที่เจ้านายใหม่มองว่า เขาคุมคุณไม่ได้เขาจะตัดสินใจที่จะไม่รับคุณเข้าทำงาน อย่าลืมว่า ว่าที่เจ้านายใหม่คุณ ก็ยังเป็นคนและต้องรับผิดชอบคุณอยู่ ยังไงแล้วเขาก็ต้องมองถึงประโยชน์ส่วนตนของเขาอยู่ดี

ความเชื่อมั่นที่ผมอยากให้เก็บไว้เพราะว่า คุณจะต้องนำมันมาใช้งานตอนเวลาคุณทำงานอย่างแน่นอน อย่าให้อุปสรรคจากการหางานทำมาทำให้นิสัยดีๆส่วนนี้ของคุณหายไป เพราะถ้ามันหายไปแล้ว มันจะเรียกกลับมาค่อนข้างยากหรือต้องใช้เวลานาน

เริ่มปูพรมเพื่อหางาน

เมื่อความผิดหวังเริ่มก่อตัว นั่นหมายถึง คุณเริ่มที่จะเข้าใจมากขึ้นแล้วหละว่า ชีวิต ไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องง่ายๆเพียงอย่างเดียว ถ้าคุณต้องการงาน คุณก็จะเริ่มหางานไปทั่ว ไม่ว่างานนั้นจะเหมาะกับคุณ หรือ เป็นงานที่คุณอยากที่จะทำหรือไม่ ทั้งนี้ แค่เผื่อเหนียวเอาไว้ไม่เสียหาย แต่นั่นแหละ คุณก็จะเริ่มได้สัมภาษณ์มากขึ้นจากการทำเช่นนี้ แล้วปัญหาตามมาก็คือ อาจจะได้หลายงานในเวลาเดียวกัน

ผิดหวังจากการหางาน

แต่หากคุณดำเนินการหางานต่อไปเนื่องจากผิดหวังจากการหางาน อาการของคุณก็จะเริ่มออกคือ ท้อแท้หดหู่ และ เมื่อถึงจุดๆนี้ จะเป็นจุดที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการคุณมากที่สุด เพราะ คุณจะลดค่าตัวคุณลงให้เข้าหาตัวเลขทางตลาดมากขึ้น หรือพูดกลับกัน ถ้ามีคนเข้ามาสมัครแล้วพบว่าเขามีความสามารถที่จะทำ แต่เขาบอบช้ำจากการสมัครงานมามากพอสมควรแล้ว สิ่งหนึ่งของผู้สัมภาษณ์ที่จะทำคือ การต่อรองเงินเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะได้คนเข้าทำงานในช่วงนี้เป็นต้นไป

เบื่อการสัมภาษณ์

ลักษณะอาการเบื่อการสัมภาษณ์หรือพยายามสัมภาษณ์ให้จบๆไป เป็นอีกลักษณะอาการหนึ่งที่พบหลังจากการบอบช้ำ ทั้งนี้ ยิ่งทำให้คุณเสียโอกาสมากขึ้นในการทำงานในองค์กรต่างๆ เพราะเขาก็จะมองว่าคุณไม่มีความกระตือรือล้นในงาน รับเข้ามาก็อาจจะทำงานแรกๆดี พอมีปัญหาก็ชิ่งหนี ดังนั้นไม่ว่าจะนัดสัมภาษณ์สักกี่ครั้งมาแล้ว ก็ต้องพยายามทำการบ้านว่าจะคุยอย่างไร ให้เหมือนกับการนัดสัมภาษณ์ครั้งแรกให้ได้ เพื่อที่จะไม่ให้เสียโอกาสไป (เขียนง่าย ทำยาก)

รู้สึกตัวเองไร้ค่า

บางคนที่มีปมด้อย เมื่อถึงจุดๆนี้ จะดูเหมือนว่าตัวเองช่างเป็นคนไร้ค่าเสียจริงๆ ที่สมัครงานมาเกือบปี แต่ไม่มีใครเอา ทั้งนี้ไม่ว่าจะลดอัตราเงินเดือนลงเท่าใด หรือ ลดการเลือกงานลงก็ไม่เป็นผล เพราะ บริษัทฯต่างๆ ก็จะรอรับเด็กใหม่ที่เพิ่งจบในอีกไม่นาน งานที่จะรับก็จะต้องมีประสบการณ์มาบ้างเขาถึงจะรับ เป็นช่วงที่น่าท้อแท้ใจอีกช่วงหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็อย่าท้อใจนานนัก ให้พยายามต่อไปครับถ้าต้องการทำงานในบริษัทฯ เพราะอาจจะมีอีกหลายองค์กรที่ไม่ได้รอนักศึกษาจบใหม่นะครับ

รุ่นน้องจะจบแล้ว

และแน่นอนว่า รุ่นน้องที่กำลังจะจบมาก็จะเริ่มเข้าวัฐจักรของการกำหนดเงินเดือน กำหนดความต้องการของตนเอง ทั้งนี้ คนที่จบมาที่ไม่ได้งานมาเป็นปี ก็จะมีคู่แข่งการหางานมากขึ้น แต่นั่นแหละ ความบอบช้ำที่ผ่านมาทำให้ความต้องการเงินเดือนของคุณลดลง จนเหมาะสมกับตลาด ซึ่งก็น่าจะดีใจขึ้นว่า คุณก็จะมีโอกาสที่จะได้งานทำเพิ่มมากขึ้น หากไม่เลือกงานมากนัก

ทำไม และ เริ่มไม่ทำ ไม่หางาน

และบางคนเมื่อไม่ได้งาน ท้อแท้ จิตใจไม่เข้มแข็งจริงๆ ก็จะเริ่มไม่หางานไม่ทำงาน ยิ่งทางบ้านสามารถเลี้ยงได้ หรือ มีธุรกิจส่วนตัวก็จะดึงเข้าไปทำธุรกิจของตนเองแล้ว และแล้วความสูญเสียของชาติ ก็ตกไปอยู่กับกลุ่มคนที่เรียนสูงแต่ไม่ทำงานไป...

สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงมุมมองว่าวัฐจักรการหางานนั้น จุดที่องค์กรเลือกที่จะรับคนเข้าทำงานคือจุดที่คนหางานเริ่มบอบช้ำจากการหางาน ซึ่งมันง่ายกว่าที่จะเลือกคนที่จบใหม่ๆมาทำ ความผิดหวังบอบช้ำจะทำให้เขาเริ่มเห็นคุณค่าของงานว่าหายากกว่าจะได้งาน ซึ่งแน่นอนว่า มันจะส่งผลถึงการอยู่ในองค์กรที่นานขึ้น

องค์กรที่รับเด็กใหม่เข้าทำงาน จากการสมัครงานครั้งแรก จะพบปัญหาของการลาออก เนื่องจากได้งานใหม่ หรือ จะอ้างว่างานที่ทำไม่เหมาะกับเขา หรือ ค่าแรงน้อยเกินไป งานใหม่ให้เงินมากกว่า กลุ่มคนที่จบมาใหม่แล้วได้งานก็คิดว่า งานหาง่าย แต่ก็ยังดีที่ HR บางคนยังไม่ได้มองเห็นถึงจุดๆนี้

มีคนว่างงานหลายคน และ จากนี้ไปจะยิ่งมีคนว่างงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเลือกงาน และ การเรียกร้องเงินเดือนที่สูงกว่าความสามารถที่จะจ่ายได้ขององค์กร ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของไทยที่จะเริ่มมีการหดตัวขนานใหญ่ ซึ่งขอทำนายไว้น่าจะประมาณ สิงหาคม ถึง ตุลาคมปีนี้ คนชั้นทำงานจะมีเงินเดือนจะไม่พอค่าใช้จ่าย แล้วยิ่งไม่มีงานทำ ก็ยิ่งจะลำบาก

ทั้งนี้ หากไม่ได้งานทำจริงๆ ก็อยากที่จะให้มองหาธุรกิจเล็กๆที่สามารถเลี้ยงตนเองได้รอด แล้วค่อยพัฒนาธุรกิจต่อไปให้มีรายได้เพิ่มขึ้นก่อนจะดีกว่า แต่พึงระลึกเสมอว่า เศรษฐกิจของไทยยังไม่คงที่ ถ้ายิ่งรัฐบาลยังเป็นไม่ชัดเจนอย่างนี้แล้ว ยังมองภาพความรุ่งเรืองของประเทศไม่เห็นเลยแม้นแต่น้อย .. เหนื่อยใจ..

สรุป...

ในฐานะลูกจ้าง :

-การหางานนั้น อย่าให้วงจรของการหางานที่ยาวนานมาบีบบังคับให้ความคิด ความรู้สึกของคุณเปลี่ยนไป เพราะ จะกลายเป็นจุดอ่อนให้กับองค์กรที่กำลังหาคน ใช้จุดนี้ในการที่จะกดดันคุณให้โอนอ่อนผ่อนตาม ซึ่งถ้าสามารถทำให้การสมัครงานทุกครั้ง กระตือรือล้นเหมือนครั้งแรก ก็จะทำให้ ความเชื่อมั่นในเวลาสัมภาษณ์งาน จะเพิ่มขึ้นทุกครั้งเช่นกัน

ในฐานะองค์กร :

-การจะหาคนเข้าทำงานนั้น ถ้าคุณต้องการคนงานที่อยู่กับคุณได้นานๆ และคุณมีคนให้เลือกมาก เช่น ถ้ามีคนที่จบเมื่อปีที่แล้วกับคนจบใหม่ ผมจะเลือกคนจบปีที่แล้ว เพราะ เขาผ่านความบอบช้ำมามากแล้ว ทำให้เขาเห็นคุณค่ากับโอกาสที่คุณได้เสนอให้เขา และ เขาจะทำงานให้คุณได้นาน และ ทุ่มเทกว่า อีกทั้งยังสามารถมีโอกาสได้คนในราคาตลาดได้มากกว่าด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: