1 ก.ค. 2554

อิชิตันชาเขียว การย้อนเกล็ดโออิชิที่เจ็บแสบ ภาค7 อวสาน

การแข่งขันเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจ ยิ่งคุณมีคู่แข่งที่แข็งแกร่ง ยิ่งกระตุ้นให้คุณต้องพยายามคิดหาวิธีการใหม่ๆทางการตลาด การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สินค้าใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ความท้าทาย โอกาสใหม่ๆฯลฯ

โค้กก็ต้องยอมรับการมีอยู่ของเป๊บซี่ และมาม่าก็ต้องคิดว่ายำยำก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะยิ่งแข่งกันก็ทำให้ธุรกิจพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง

เมื่อตอนที่มีชาเขียวในตลาดกว่า 30 แบรนด์ มีหลายเจ้าลดราคาเหลือเพียงขวดละ 15บาท แต่โออิชิไม่เคยลดราคาลงมา แต่อิชิตันเปิดตัวอย่างร้อนแรงด้วยราคา 16 บาทโดยใช้ช่องทางโมเดิร์นเทรดอย่าง 7-11 เป็นธงนำ โออิชิก็โต้กลับด้วยการลดราคาลงมาทันทีถึงขวดละ 4 บาท คิดเป็นสัดส่วนถึง20%ของราคาขายเลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่าเจ้าสัวเจริญยอมรับตันเป็นคู่แข่งอย่างเป็นทางการในสมรภูมินี้

แต่สิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงแค่การโหมโรงก่อนสงครามที่แท้จริงระหว่างสองค่ายนี้เท่านั้น ด้วยเหตุผลหลายประการดังนี้

โรงงานอิชิตันยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ปัจจุบันยังจ้างให้บริษัทยูโรเปี้ยนฟู้ดส์ (อดีตเป็นเจ้าของแบรนด์ชาเขียวโตเซนที่มีอั้ม พัชราภาเป็นพรีเซนต์เตอร์) พอต้นปี2555 ฐานการผลิตของเครื่องดื่มในเครืออิชิตันก็จะย้ายไปที่โรงงานแห่งใหม่มูลค่า 2400 ล้านที่อยุธยา พร้อมกำลังการผลิต 15 ล้านขวดต่อเดือน

ถึงจะขายดีในเซเว่น โลตัส บิ๊กซี รวมสาขากันทั้งหมดยังมีไม่ถึงหมื่นสาขา แต่ตัวเลขของร้านโชว์ห่วยทั่วประเทศมีถึงกว่า 300,000 แห่ง ซึ่งคุณเจริญมีสายส่งช่องทางนี้ที่แข็งแกร่งที่สุดเจ้าหนึ่งในประเทศไทย ดูจากสินค้าของในเครือไทฟเบฟทั่งเหล้าแม่โขง แสงโสม เบียร์ช้าง โออิชิ ที่วางจำหน่ายอยู่แทบทุกร้านโชว์ห่วยทั่วประเทศไม่ต่างจาก มาม่า โค้ก เป๊บซี่ M150



การสกัดดาวรุ่งไม่ให้สินค้าอิชิตันทุกชนิดวางในร้านโชว์ห่วยได้จึงถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตามร้านโชว์ห่วยทั่วประเทศเวลานี้มีชาเขียวอยู่ยี่ห้อเดียวคือ “โออิชิ” เท่านั้น ไทยเบฟใช้กลยุทธ์กีดกันทางการค้า โดยแจ้งว่าร้านไหนมีดับเบิ้ลดริ๊งค์ หรืออิชิตันวางจำหน่ายก็จะไม่ได้รับส่วนลดพิเศษจากสินค้าของไทยเบฟ

รื้อฟื้นกลยุทธ์ขายเหล้า(แม่โขง) พ่วงเบียร์(ช้าง)ขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง

เมื่อกำลังการผลิตสมบูรณ์ การแข่งขันที่แท้จริงก็จะเริ่มขึ้นในปีหน้า ไทยเบฟก็ต้องผนึกกำลังพันธมิตรเพื่อสกัดไม่ให้อิชิตันเกิดในระดับภูมิภาคให้ได้ ขณะเดียวกัน ตันก็ต้องใช้หาพรรคพวกเครือข่ายสายส่งทั้งหลายที่ไม่ได้อยู่ข้างไทยเบฟให้มาเป็นพันธมิตรมากที่สุด เพราะศัตรูของศัตรูคือมิตรนั่นเอง

แต่สำหรับตัน ภาสกรนที และเจ้าสัวเจริญอาจจะเป็นการแข่งขันที่ซับซ้อนในเรื่องแบรนด์ที่สุดก็ได้ โออิชิมีตันเป็นแบรนด์ซ่อนอยู่มาตลอด มีหน้าตันโผล่ให้เห็นในโฆษณาแทบทุกชิ้นของโออิชิ แล้ววันหนึ่งหน้านั้นก็ไปปรากฎตัวในขวดเครื่องดื่มของอิชิตันทุกขวด แถมทั้งสองแบรนด์ยังมีคำว่า “อิชิ” เหมือนกัน ขายชาเขียวเป็นสินค้าหลักเหมือนกัน

1. ตันยังมีหุ้นในโออิชิอยู่3.5เปอร์เซนต์หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 600 กว่าล้านบาท โดยไม่ได้คิดจะขายออกไป

2. ตันได้ปันผลจากโออิชิเป็นเงินเกือบ 20 ล้านบาททุกปีตลอดไป โดยที่เขาไม่ต้องทำงานที่โออิชิอีกเลย

3. ตันใช้คนปรุงชาคนเดียวกันกับโออิชิ ซึ่งเป็นเพื่อนคนไต้หวันที่ออกจากโออิชิมาเหมือนกัน

4. เครือข่ายลูกน้องเก่าของตันโออิชิก็ยังอยู่ในบริษัทและโรงงาน ดังนั้นข้อมูลทุกอย่างของโออิชิไม่น่าจะใช้ความลับสำหรับตัน ภาสกรนทีเลยแม้แต่น้อย

หลังจากลาออกจากโออิชิ ตันออกรายการข่าว ทอล์คโชว์ ทำเดี่ยวกับโน้ต และเดินสายพูดตามที่ต่างๆอีกนับไม่ถ้วน

ใครถามก็แค่วนเวียนตอบว่า เปิดบริษัท สร้างโรงเรียน ทำภารกิจการกุศล รับพนักงาน ทำเดี่ยว ทำน้ำสมุนไพร

น่าแปลกใจว่าในช่วงที่ผ่านมาไม่มีพิธีกรคนไหนกล้าถามคุณตันว่าจะกลับมาทำชาเขียวหรือเปล่า เพราะสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจได้ถึงการขายกิจการว่า คุณได้กำไรตามที่คุณต้องการ และจะนำเงินไปทำธุรกิจใหม่ๆต่อไป ไม่มีใครคิดว่าจะกลับมาแข่งกับสิ่งที่ตัวเองสร้างมากับมือถึง 11 ปี

การแข่งขันของสองแบรนด์นี้จะยังคงยืดเยื้อ ยาวนาน ซับซ้อนยากเกินกว่าจะสรุปได้ในเร็ววัน แต่หากดูจากประวัติของเจ้าสัวก็เคยตกอยู่ในสภาพเดียวกับตัน เมื่อเขาใช้ จุล กาญจนลักษณ์ มือปรุงเหล้าคนเดียวกับแม่โขงมาทำ “หงษ์ทอง” แข่งกันโดยที่มีรสชาติใกล้เคียงกับแม่โขง และขายราคาถูกกว่า

ไม่ต่างอะไรกับอิชิตันและโออิชิในตอนนี้เลย

ศึกหงษ์ทองและแม่โขงจบลงด้วยการพ่ายแพ้ของผู้ท้าชิง คุณเจริญไม่สามารถสู้กับเครือข่ายที่ทรงพลังของแม่โขงได้ แต่หลังจากยุติศึกกันแล้วต่างฝ่ายต่างเหนื่อยล้ากับการต่อสู้มายาวนาน และปัญหาทะเลาะกันของผู้ถือหุ้นใหญ่ๆหลายคนในแม่โขง ทำให้พวกเขาเหล่านั้นตัดสินใจขายหุ้นให้กับคุณเจริญในที่สุด ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มตำนานราชันย์น้ำเมาของเจ้าสัวเป็นต้นมา

คุณตันบอกไว้ว่าจะอยู่บริษัทไม่ตันไปอีก 9 ปีจนกว่าจะเกษียณ หมายความว่าเหลือเวลาอีกประมาณ 8 ปีที่คุณตันจะสู้กับเจ้าของโออิชิ โดยมีตลาดมูลค่าหมื่นล้านบาทเป็นเดิมพัน เมื่อมีเงินสดเย็นๆในมือมหาศาลด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายหนึ่งมีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็ชูตัวเองเป็นแบรนด์ และมีการตลาดที่หวือหวาตลอด

ภารกิจของคุณตันที่จะนำเงิน “กำไร” ในส่วนที่เขาและภรรยาถือหุ้นไปบริจาคเข้ามูลนิธิ 50% ในปีแรก เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึง90%ในปีที่ 9 และเขาก็พร้อมจะวางมือจากอิชิตันตลอดไป ฟังดูสวยหรู แต่คุณตันไม่ได้ใช้เงินตัวเองสักบาทในการทำการกุศลแต่อย่างใดเพราะ กำไรในที่นี้หมายถึง ส่วนเกินจากการลงทุนลงแรงทุกอย่าง รวมถึงโรงงานมูลค่า 2400 ล้านบาทนี้ด้วย ถึงจะนำไปเข้าการกุศลได้

ถ้าอิชิตันโตได้ แผนต่อไปก็คืออีก 5 ปีนำเข้าตลาดหุ้นสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นทุกคน พนักงานที่บุกเบิกกันคุณตันจะให้ทุกคนสมัครใจหักเงินเดือนมาสะสมซื้อหุ้นไว้ เมื่อถึงเวลาก็จะได้รับผลลัพธ์จากกำไรในตลาดหุ้นอย่างทั่วหน้า แต่ถ้าไม่ลืมคนที่ถือหุ้นเยอะที่สุดในบริษัทไม่ตันจำกัดก็คือคุณตัน ภาสกรนทีนั่นเอง

บทสรุป จากใจผู้เขียน

ผมคงไม่สามารถคาดการณ์การเอาชนะกันของทั้งสองแบรนด์นี้ได้ มีเรื่องราวซับซ้อนของเหลี่ยมคมในธุรกิจที่สามารถพลิกพลันได้ทุกเวลา จิตใจคนเรายากแท้หยั่งถึง ไม่มีใครรู้ว่าคุณตันและเจ้าสัวคิดอะไรอยู่ แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วการกระทำนั้นสำคัญกว่าคำพูดเสมอ ทุกคนสามารถทำให้สังคมไทยดีขึ้นได้ โดยที่ไม่ต้องรอให้มีเงินเยอะๆ เราทำสิ่งดีๆได้มากมายโดยที่ไม่ต้องใช้เงินสักบาทเดียว ไม่ต้องมีเงื่อนไขในการให้หรือการทำ หรือหวังผลประโยชน์แอบแฝง ขอให้ทุกคนค้นพบความสุขที่แท้จริงในชีวิตโดยทั่วกัน สวัสดีครับ





ที่มา www.blogger.com โดย assuming

ไม่มีความคิดเห็น: