4 ก.ค. 2554

ก้อนเล็กๆ เหลืองๆ เหม็นๆ ในคอ มันคืออะไร


ใครเคยมีประสบการณ์ ก้อนเล็กๆ สีขาวนวลหรือเหลืองอ่อนๆ มีกลิ่นเหม็นๆ หลุดออกมาจากในคอบ้างไหมคะ คนที่เคยประสบพบเจออาจจะนึกสงสัยว่าร่างกายของเรามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เจ้าก้อนเล็กๆ เหลืองๆ เหม็นๆ ที่ว่านี้ มันคืออะไร วันนี้เรามีคำตอบค่ะ

เจ้าก้อนปริศนานี้มาจากต่อมทอนซิล ดังนั้น ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับต่อมทอนซิลกันก่อน ต่อมทอนซิล คือ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณด้านข้างลำคอตรงโคนลิ้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำหน้าที่คอยดักจับเชื้อโรค

ปกติต่อมทอนซิลจะมีร่องหรือซอกหลืบ ซึ่งเศษอาหารอาจเข้าไปติดอยู่ได้ นอกจากนั้น เซลล์ที่บุร่องหรือซอกนั้น อาจตายแล้วหลุดลอกออกมา แล้วมีแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาว และเอนไซม์ในน้ำลายเข้าไปย่อยสลาย จนเกิดเป็นสารลักษณะคล้ายก้อนแป้งอยู่ในร่องของต่อมทอนซิล เมื่อสะสมไว้ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งขึ้น ทางการแพทย์เรียกเจ้าก้อนนี้ว่า นิ่วทอนซิล (Tonsilloliths หรือ Tonsil Stones)

ปัญหาดังกล่าวพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ผู้ที่มีเจ้าก้อนเล็กๆ นี้ติดอยู่ในร่องของต่อมทอนซิล อาจรู้สึกรำคาญ เหมือนมีอะไรติดอยู่ในคอ และอาจทำให้มีกลิ่นปาก ในบางรายอาจทำให้มีอาการเจ็บคอเป็นๆ หายๆ หรืออาจทำให้กลืนลำบากหากมีขนาดใหญ่มากๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของนิ่วทอนซิลด้วย นอกจากนี้อาจทำให้ต่อมทอนซิลโต ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือมีอาการปวดร้าวไปที่หูได้

วิธีการแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่วทอนซิลและอาการต่างๆ ที่เป็นผลมาจากนิ่วทอนซิล รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำวิธีการแก้ปัญหานิ่วทอนซิลไว้ว่ามี 2 วิธีด้วยกัน คือ วิธีไม่ผ่าตัดและวิธีผ่าตัด



วิธีไม่ผ่าตัด

- กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ การกลั้วคอแรงๆ อาจช่วยให้นิ่วทอนซิลหลุดออกมา นอกจากนี้ น้ำเกลือยังช่วยบรรเทาอาการระคายคอจากทอนซิลอักเสบ ซึ่งอาจเกิดร่วมกับนิ่วทอนซิลอีกด้วย

- ใช้ไม้พันสำลี แปรงสีฟัน หรือไม้แคะหูที่สะอาด และไม่มีคม ค่อยๆ เขี่ยหรือกดบริเวณต่อมทอนซิล วิธีนี้ควรทำอย่างเบามือและระมัดระวัง มิฉะนั้นอาจเกิดการบาดเจ็บได้

- ตัดเล็บและล้างมือให้สะอาด แล้วใช้นิ้วมือค่อยๆ ดันบริเวณส่วนล่างของต่อมทอนซิลขึ้น เพื่อให้นิ่วทอนซิลหลุดออกมา

- ใช้ที่พ่นน้ำทำความสะอาดช่องปาก (water pick) ฉีดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อให้นิ่วทอนซิลหลุดออก

- ใช้นิ้วมือนวดใต้คางบริเวณมุมขากรรไกรล่าง ซึ่งตรงกับตำแหน่งของต่อมทอนซิล เพื่อให้นิ่วทอนซิลหลุดออกมา

อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวอาจไม่ได้ช่วยให้นิ่วทอนซิลหลุดออกมาเสมอไป ขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่วทอนซิลและตำแหน่งของซอกหลืบนั้นด้วย แต่ปกติแล้วเมื่อก้อนในร่องของต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่กว่าที่ร่องจะรับได้ ก็อาจหลุดออกมาเอง หรือบางครั้งเมื่อไอหรือขากเสมหะแรงๆ เจ้าก้อนนี้ก็อาจหลุดออกมาได้เองเช่นกัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นบ่อยๆ รำคาญมากๆ หรือมีปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ แพทย์อาจแนะนำวิธีผ่าตัด

วิธีผ่าตัด

วิธีแรก คือ การใช้กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic Acid) หรือการใช้เลเซอร์ (Laser Tonsillotomy) จี้ต่อมทอนซิลเพื่อเปิดขอบร่องของต่อมทอนซิลให้กว้าง ไม่ให้มีซอกหลืบที่จะเป็นที่สะสมของสิ่งต่างๆ ได้อีก

อีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอและกลืนลำบากอย่างน้อย 2-3 วันหลังการผ่าตัด วิธีนี้เป็นการรักษาที่หายขาด แต่มักจะทำในกรณีที่ใช้วิธีแรกแล้วไม่ได้ผล

คงจะหายสงสัยกันแล้วว่าเจ้าก้อนปริศนานี้ คืออะไร นิ่วทอนซิลที่มีขนาดเล็กและไม่ก่อปัญหาใดๆ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา การใช้อุปกรณ์ใดๆ ที่ไม่สะอาดหรือมีคมเข้าไปล้วงแคะ อาจยิ่งก่อให้เกิดผลเสียมากกว่า แต่ถ้าหากรู้สึกว่านิ่วทอนซิลของคุณก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: