17 เม.ย. 2554

นอนหลับอย่างไรให้เป็นสุข ตอนที่ 1


ศาสตร์อายุรเวทเปรียบเปรยชีวิตว่าเหมือนกับอาคารที่ต้องมีเสาหรือรากฐานรองรับ ถ้ารากฐานแข็งแรงอาคารก็มั่นคงไม่โยกคลอน แต่ถ้ารากฐานไม่ดีอาคารย่อมโอนเอนกระทั่งอาจพังครืนลงมา


เสาที่ค้ำจุนชีวิตมีอยู่ 3 อย่างรวมเรียกว่า "ตรีสดมภ์"(tritambha) แปลว่า "เสาหลักแห่งชีวิตสามต้น"(three pillars of life) ได้แก่ อาหาร การนอนหลับ และการมีเพศสัมพันธ์ โดยที่ชีวิตจะดำรงอยู่อย่างปกติสุขได้ เสาหลักทั้ง 3 ต้นต้องมีความสมดุล หมายถึง กินอาหาร นอนหลับ และมีเพศสัมพันธ์ในระดับที่พอดีๆ ไม่มากหรือน้อยเกินไป พูดอีกอย่างก็คือเดินทางสายกลางนั่นเอง


ในส่วนของการนอนหลับหรือ"นิทรา"(nidra) ในภาษาสันสกฤตนั้น อายุรเวทกล่าวว่าเปรียบเหมือนพยาบาลที่ประคบประหงมพรมพร่ำความชุ่มชื้นให้ร่างกายและจิตใจ เพราะหลังจากตรากตรำมาทั้งวันแล้ว เราจะสูญเสียพลังและความชุ่มชื้นไป การนอนหลับพักผ่อนจะช่วยเติมเต็มความชุ่มชื้นและพลังให้ร่างกายและจิตใจอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้สังเคราะห์และหล่อหลอมอาหารกายอาหารใจให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา

อาหาร กายก็คืออาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งร่างกายก็ย่อยและสังเคราะห์เพื่อนำไปสร้างเป็นเนื้อเยื่อต่างๆ ส่วนอาหารทางใจก็คือ ประสบการณ์ในชีวิตที่เราได้เรียนรู้และซึมซับเข้ามาในแต่ละวัน ห้วงยามแห่งนิทรารมณ์ก็คือช่วงเวลาที่ร่างกายและจิตใจจะสังเคราะห์สิ่งที่ เราเอามาจากภายนอกและแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับเรา

การนอนหลับจึงมีส่วนสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพชีวิตของเรา จะพูดว่าเรานอนอย่างไรเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนกับที่พูดว่าเรากินอะไรเราก็เป็นอย่างนั้น(you are what you eat) ก็คงไม่ผิดนัก

ถ้าเรานอนหลับสนิทและนานพอเหมาะ เราจะตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นแจ่มใสกระปรี้กระเปร่า ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจจะหมดไป ขณะเดียวกันร่างกายและจิตใจก็สามารถสังเคราะห์หล่อหลอมอาหารและประสบการณ์ ที่รับเข้าไปในวันวานได้เต็มที่ ก่อเกิดเป็นคุณภาพของชีวิต(ในวัน)ใหม่ที่เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ แต่ถ้าเรานอนหลับๆตื่นๆนอนน้อย เราจะตื่นขึ้นมาด้วยความง่วงเหงาหาวนอน ยังงัวเงีย มึนงงคล้ายๆกับว่ายังไม่พร้อมที่จะเริ่มชีวิตในวันใหม่

แต่ถ้าสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่งคือนอนมากเกินไป ก็จะเกิดความเกียจคร้านไม่อยากทำอะไร เหมือนกับเวลากินอาหารมากเกินแล้วร่างกายไม่อยากขยับหรือโยกย้ายไปไหน เรียกว่าเกิดการสะสมมากเกินไป


ดังนั้นถ้าต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ต้องดูแลเสาหลักแห่งการนอนหลับให้ดีด้วย ดีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ปริมาณคือนอนในจำนวนชั่วโมงที่พอเพียง ส่วนคุณภาพคือนอนหลับให้สนิท ถ้าได้นอนหลับลึกถึงขนาดที่เรียกว่า "โยคะนิทรา" (yoga nidra) คือนอนหลับอย่างมีสมาธิ(meditative sleep) ด้วยล่ะ ก็ถือว่าเป็นสุดยอดของการนอนหลับเลยทีเดียว




ผู้เขียน: ธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์

ไม่มีความคิดเห็น: