17 เม.ย. 2554

เรียนรู้สุขภาพพื้นฐานจากศาสตร์อายุรเวท

หลักการหรือทฤษฎีแพทย์แบบชาวตะวันออก แตกต่างจากการแพทย์แบบตะวันตก ทฤษฎีการแพทย์ไทยว่าด้วยเรื่องธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ชาวจีนใช้หลัก ๕ ธาตุ และหลักการสรรพสิ่งมีคู่ตรงข้าม คือ ร้อน-เย็น อ่อน-แข็ง หรือหลักการของหยินหยางนั่นเอง สำหรับอายุรเวทซึ่งยอมรับกันว่ามีอิทธิพลกับการแพทย์แผนไทยอย่างมาก ใช้หลักการของธาตุทั้ง ๕ คือ ดิน น้ำ ลมไฟ และอากาศธาตุ
อากาศธาตุ ซึ่ง แตกต่างจากธาตุทั้ง ๔ ของไทยนั้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ความว่างหรือช่องว่าง หรือบางคนแปลว่า ที่ซึ่งไม่มีความหนาแน่น ถ้าเปรียบกับร่างกายมนุษย์ ธาตุดิน คือมวลมีความหนาแน่นและมีน้ำหนักก็คือ กระดูก ข้อต่างๆ หรือที่เป็นโครงสร้างร่างกายเนื้อหนัง ธาตุน้ำ ก็พวกของเหลวในร่างกาย เช่น เลือด และสารต่างๆที่หลั่งออกมาจากต่อม ธาตุลม คือลมหายใจ หรือหมายถึงลมหรือก๊าซที่ไหลเวียนในร่างกาย ธาตุไฟ คือพลังงานที่ช่วยย่อยอาหาร และความร้อนเพิ่มไออุ่นในร่างกาย
แต่ ถ้าไม่มีช่องว่างหรืออากาศธาตุ ก็เหมือนใช้ชีวิตอยู่ในห้องแคบๆ ที่ไม่มีช่องหน้าต่างและประตู ทุกอย่างจะอึดอัด เคลื่อนไหวไม่ได้ ศาสตร์อายุรเวทจึงให้ความสำคัญกับอากาศธาตุด้วย

เมื่อ แบ่งสรรพสิ่งเป็น ๕ ธาตุแล้ว อายุรเวทยังย่นย่อจัดแบ่งธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีแนวโน้มแสดงคุณสมบัติเด่นๆ ออกมา แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ คือ วาตะ ปิตตะ และกผะ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของร่างกาย เช่น มีวาตะเด่นคือมีธาตุลมและอากาศธาตุมากกว่าธาตุอื่นๆ มีปิตตะเด่นจะมีธาตุไฟมาก และมีกผะเด่นจะมีธาตุดินและธาตุน้ำอยู่มาก

ผู้ อ่านบางท่านอาจเคยวิเคราะห์ตัวเองบ้างแล้วว่าร่างกายจัดอยู่ในลักษณะเด่น อะไร เป็นวาตะหรือปิตตะหรือกผะ แต่ถ้าบางท่านไม่รู้ก็อาจจำแนกอย่างง่ายได้ โดยดูจากโครงสร้างร่างกาย และพฤติกรรมประจำตัวบางอย่าง เช่น ลักษณะวาตะ รูปร่าง ผอมบาง กินเท่าไรก็ยังผอม ข้อต่างๆ ปูดเห็นได้ชัด เป็นคนที่ทำอะไรว่องไวและไวต่อสิ่งกระตุ้น เป็นคนอ่อนไหว ลักษณะของปิตตะ รูปร่างปานกลาง มีกล้ามเนื้อมากกว่าวาตะ นิสัยส่วนตัวใจร้อน ดุดัน หรือเป็นคนกล้า สำหรับลักษณะกผะ คนประเภทนี้เจ้าเนื้อ น้ำหนักตัวขึ้นง่าย มีนิสัยส่วนตัวเนิบๆ ดูผ่อนคลายเสมอ การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นก็เป็นไปอย่างช้าๆ แต่ก็เป็นคนที่อดทนสูง ผิดกับคนวาตะและ ปิตตะ ที่ไม่ค่อยทนนัก

แต่ ต้องเข้าใจกันอีกนิดว่าโดยธรรมชาติของคนจะมี วาตะ ปิตะ กผะ ผสมอยู่ในตัวเสมอ เพียงแต่ว่าจะมีลักษณะใดเด่นกว่า บางคนเด่นทั้งสองลักษณะ จับเป็นคู่ๆ เช่น วาตะปิตะ ปิตะกผะ แต่ไม่ว่าจะมีลักษณะเด่นอย่างไร ศาสตร์อายุรเวทกล่าวไว้ถึงการสร้างความสมดุลให้กับคนทั้ง ๓ ลักษณะไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกิจวัตรประจำวันธรรมดาๆ แต่ส่งผลต่อความสมดุลในร่างกาย ซึ่งช่วยให้สุขภาพดีโดยที่ไม่ต้องใช้เงินทอง เหมาะกับยุคเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างยิ่ง

ศาสตร์อายุรเวทแนะนำตั้งแต่เริ่มชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความสำคัญกับทุกลักษณะทั้งวาตะ ปิตตะ กผะ สำหรับคนที่มีวาตะเด่น โดย ทั่วไปมักไม่ค่อยรู้ว่านิสัยประจำตัวนั้นมีผลทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้ง่าย เพราะคนวาตะเป็นผู้ที่อ่อนไหวง่าย ตื่นเต้นกระวนกระวายง่าย เปลี่ยนแปลงง่ายคล้ายกระแสลมที่พัดไปพัดมาได้ง่าย ดังนั้นตั้งแต่ตื่นนอนของคนวาตะ ถ้าเริ่มต้นพยายามตื่นและทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา จะช่วยลดความว่องไว ตื่นเต้น ให้ช้าลง เพียงเท่านี้ก็ช่วยสร้างสุขภาพได้มาก เพราะการปล่อยให้วาตะไหลเวียนมากเกินไป ก็ทำให้ปิตตะเพิ่มขึ้น กผะซึ่งเป็นมวลดินและน้ำไม่สามารถเกาะตัวได้ เปรียบดังลมสงบบ้าง เนื้อหนังก็สามารถรวมตัวหรือฟื้นฟูกลับมาได้ สุขภาพก็จะสมดุลขึ้น คนวาตะอาจรู้สึกว่าต้องทำตัวเข้ารูปเข้ารอยมีวินัยขึ้น แต่ผลที่มีต่อสุขภาพจะทำให้ร่างกายผ่อนคลายขึ้น ธาตุอื่นๆ สามารถดำรงอยู่อย่างสมดุลขึ้นนั่นเอง

สำหรับคนปิตตะธาตุไฟ ซึ่งทางอายุรเวทอธิบายไว้ว่า โดยทั่วไปไฟจะโหมเพราะแรงลม ปิตตะจึงสัมพันธ์กับวาตะมาก วาตะอ่อนไหว แปรปรวนได้ง่ายส่งผลทำให้ปิตตะเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นคนปิตตะและวาตะจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากการเข้านอนและตื่นนอนเป็น เวลา กินอาหารเป็นเวลา และต้องรู้จักเวลาพักผ่อนด้วย เพื่อไม่ให้ลมและไฟซึ่งมีแนวโน้วเปลี่ยนแปลงง่ายได้ชะลอหรือได้สงบลงบ้าง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพมากๆ

สำหรับคนกผะ แม้ว่าจะโดดเด่นด้วยธาตุดินและน้ำ ซึ่งเป็นคนที่มีธรรมชาติเนิบช้า ไม่ค่อยว่องไวเท่าวาตะและปิตตะ แต่การใช้ชีวิตประจำวันที่ทำอะไรเป็นเวลาก็มีผลต่อคนกผะเช่นกัน เพราะการทำอะไรเป็นเวลาช่วยให้ความเนิบช้าถูกกระตุ้นให้ว่องไวขึ้นช่วยให้ สุขภาพดีขึ้นด้วย

ดังนั้นคำ กล่าวของคนโบราณที่แนะนำลูกหลานให้เข้านอนหัวค่ำเป็นเวลาและตื่นเช้าเป็น เวลา ร่วมถึงกินอยู่ให้เป็นเวลามีส่วนช่วยให้ธาตุทั้งหมดในร่างกายสมดุล และหากเข้าใจเรื่องอาหารที่กินที่ช่วยให้วาตะ ปิตะ และกผะสมดุลด้วยก็จะเสริมสร้างสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น หลักการง่ายๆ คนวาตะ ควรกินอาหารอุ่น(ร้อนน้อยๆ) มีความหนัก และความมันบ้าง และควรเลี่ยงอาหารเย็น แห้ง เบา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไปกระตุ้นวาตะ ตัวอย่างอาหาร เช่นผลไม้ให้กินรสหวานและเปรี้ยว อาจเป็นกล้วย มะละกอ มะม่วง

คนปิตตะ ควรกินอาหารรสเย็น เพื่อลดความร้อนลงบ้าง รวมทั้งลดอาหารมันๆ ลงด้วย เพราะความมันจะไปเพิ่มพลังความร้อนยิ่งขึ้น รวมถึงลดอาหารรสเผ็ดๆ ข้อแนะนำของคนไฟแรง คือ อาหารรสหวาน รสขม และรสฝาด จะช่วยให้สมดุลในร่างกายดีขึ้น ตัวอย่างผลไม้ เช่น องุ่น แตงโม สัปปะรด มะพร้าว และคนกผะซึ่งมีมวลเป็นรากฐานอยู่แล้ว และมีแนวโน้มทำอะไรค่อยเป็นค่อยไป อาหารที่ควรลด คืออาหารหวาน เปรี้ยว และมัน น่าจะเพิ่มรสอาหาร เผ็ด ฝาด ขม เพราะจะช่วยเพิ่มวาตะและปิตะ
นี่ คือหลักพื้นฐานง่ายๆ แต่ถ้าเริ่มทำเป็นประจำ ด้วยการเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา เพียง ๒-๓ สัปดาห์ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ความสมดุลเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เริ่มที่ตัวเรานี่เอง

ไม่มีความคิดเห็น: