1 พ.ย. 2552

ชูกำปั้นชนกัน เปลี่ยนนัยยะสู่ความมุ่งมั่น-สำเร็จ

"Fist bump" ได้เปลี่ยนความหมายจากแค่การทักทายเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างชัยชนะร่วมกันของทศวรรษนี้ไปแล้ว??

หลัง บารัค และ มิเชล โอบามา แสดงท่าทาง "ชูกำปั้นชนกัน" ในแบบที่ฝรั่งเรียกกันด้วยคำสองพยางค์ง่ายๆ ว่า "Fist Bump" เมื่อคืนวันที่ 3 มิถุนายน ปี 2008 ท่ามกลางสายตาของผู้คนที่จับจ้องอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ในวันประวัติศาสตร์ที่ขึ้นเวทีประกาศชัยชนะในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครต เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

การแสดงท่า Fist Bump ก็ได้กลายเป็นกระแสที่โหมกระพือจนคนพูดถึงกันทั่วทั้งโลก
พูดถึงอย่างเดียวไม่พอ ยังมีคนตีความท่าทางของว่าที่ครอบครัวหมายเลข 1 ในตอนนั้นไปต่างๆ นานา เพราะเหตุว่า ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่กำปั้นชนกันถูกแสดงออกต่อสายตาสาธารณชนจำนวนมากมายขนาดนี้ และเพราะคนที่แสดงยังมีตำแหน่งเป็นผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งคนอเมริกันและผู้คนในเชื้อชาติต่างๆ ทั่วโลกย่อมให้ความสนใจ จนสื่อมวลชนหัวใหญ่อย่าง "วอชิงตัน โพสต์" เรียกท่าทางของบารัคและมิเชลว่า "การชนกำปั้นที่ดังสนั่นไปทั่วโลก" (The First Bump heard"round the world) และนับแต่นั้น ความหมายของ "Fist Bump" ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

ย้อนกลับไป นอกจากหนังสือ "ไทม์" (Time) เล่มสรุปปลายปี 2008 จัดอันดับให้คำว่า "Fist Bump" เป็น "Buzzword" หรือวลีที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในอเมริกาเป็นอันดับ 4 ทั้งย้อนประวัติของ Fist Bump ให้ทราบด้วยว่า บางที Fist Bump น่าจะมีที่มา หรือพัฒนามาจากการ "จับมือ" และการยกมือขึ้นสูงเพื่อปะทะฝ่ามือกันที่เรียกว่า "High Five" ที่วัยรุ่นฝรั่งชอบทำเพื่อทักทายกัน

เมื่อสืบสาวราวเรื่องได้เป็นหลักฐานและยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า กิริยา "Fist Bump" เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ไหน ก็ต้องย้อนไปในราวยุค 70 เมื่อนักบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอจากทีมบัลติมอร์ บุลเล็ตส์ เฟร็ด คาร์เตอร์ เป็นผู้ทำท่านี้
แต่มีคนแย้งด้วยอีกเหตุการณ์หนึ่งว่า สองคาแร็กเตอร์ The Wonder Twins ในการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ชุดของ ฮันนา-บาร์เบรา ต่างหากที่ทำท่านี้ เพราะหลังจากชนกำปั้นกันเสร็จ ทั้งสองก็จะร้องออกมาว่า "พลังวันเดอร์ทวินส์ มาแล้ว!" (Wonder Twin Powers, activate!)

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ยังมีบางคนที่เชื่อว่ากิริยาท่าทาง Fist Bump นั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพิธีกรรายการดัง "Deal or No Deal" อย่าง โฮวี่ แมนเดล เป็นคนริเริ่มท่านี้ในรายการ ด้วยสาเหตุที่ว่าเขาไม่ต้องการสัมผัสมือผู้เข้าแข่งขันในรายการตรงๆ เนื่องจากกลัวติดเชื้อโรค!

การกำหมัดชนกันของบารัคและมิเชล แน่ว่าย่อมต้องมีคนตีความไปต่างๆ นานา และไม่แปลก หากมีคนพูดถึงกันมากชนิดกลายเป็น Talk of the Country ในช่วงนั้น นิวยอร์ค ไทม์ส อรรถาธิบายท่าทางของสองคนนี้ว่าเป็นการไฮไฟว์แบบกำหมัด (Closed-fisted high-five) ที่เก๋กว่าคือมีชาวอเมริกันคนหนึ่งโพสในอินเตอร์เน็ตว่า ท่าทางของบารัคและมิเชล หมายถึง "Fist Bump of Hope" หรือการแสดงออกซึ่งความหวังกันเลย

จะว่าไป สิ่งที่พูดมาอาจไม่ได้เกินจริง เพราะดูเหมือนคนอเมริกันสัมผัสกับกิริยาท่าทางนี้มาก ถึงขนาดที่ เดวิด
กิฟเว่นส์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอวัจนภาษา กรุงวอชิงตัน กล่าวถึงการ Fist Bump ของครอบครัวโอบามาว่า "ผมคิดว่า เป็นช่วงเวลาของการสื่อสารกันด้วยท่าทางเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้พวกเราที่นั่งดูอยู่ ได้เข้าไปเป็นประจักษ์พยานในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของทั้งสองคน"

ในเวลาต่อมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้ความเห็นเรื่องการแสดงออกของเขากับภรรยาด้วยการ Fist Bump กับผู้ประกาศข่าวช่องเอ็นบีซี "ไบรอัน วิลเลี่ยมส์" ว่า Fist Bump เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความรักที่เขามีต่อภรรยา ซึ่งผู้ชายที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกคนนี้พูดย้ำว่า "ผมเป็นสามีของเธอ และบางครั้งเราก็ชอบทำอะไรบ๊องๆ ด้วยกัน"

จากกรณีของโอบามา พูดได้ว่า กิริยาชูกำปั้นชนกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นกิริยาที่ผู้กระทำสร้าง "emotional engagement" หรือความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างกันและกัน และยิ่งเมื่อเป็นบุคคลสาธารณะ แล้วเผอิญหยิบเอากิริยาท่าทางนี้มาปฏิบัติต่อหน้าสาธารณชน ยิ่งกลายเป็นการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างตัวเขากับสาธารณชนที่เฝ้าดูไปด้วยโดยอัตโนมัติ

จากวันนั้นถึงวันนี้ "Fist bump" ดูเหมือนแปลงสภาพจากสัญลักษณ์ของการทักทายกัน กลายเป็นกิริยาที่แฝงนัยยะแห่ง "ความร่วมมือกัน" เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ราวกับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้มีการคิดคำนวณมาเป็นอย่างดีเพื่อให้เข้าถึง กลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่านท่าทางที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงและความเพียรพยายามของโอบามา รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการประกาศก้องถึงความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ

กล่าวได้ว่า ชูกำปั้นชนกัน เป็นอาวุธที่แยบยลของโอบามาในการแทรกซึมเข้าไปสู่ใจคนรุ่นใหม่ โดยใช้แอ๊คชั่นที่คุ้นตากันดี ช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันและความเป็นพวกพ้องเดียวกันได้อย่างชาญฉลาดที่สุด และเมื่อสื่อมวลชนขานรับกันอย่างถ้วนหน้า ย่อมไม่แปลกที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กับผู้คนทั่วอเมริกา และคงจะลามไปกลายเป็นเทรนด์ใหม่ทั่วโลกแล้วด้วย

ล่าสุดต้นปีนี้เอง แม้แต่โทรศัพท์สุดฮิตจากค่ายแอปเปิ้ลแหว่งอย่าง "ไอโฟน" (iPhone) ยังสร้างแอพพลิเคชั่น "Bump" ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากการ Fist Bump โดยผู้ใช้ไอโฟน (หรือแม้แต่ไอพ็อดทัช) สามารถส่งผ่านข้อมูลหากันได้ด้วยการกำเครื่องไว้ในมือแล้ว Fist Bump กัน เท่านี้ข้อมูลที่ต้องการส่งก็จะส่งไปอยู่ในอีกเครื่องภายในเวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น

ที่สำคัญเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คงจะมีใครได้เห็นภาพข่าวที่ นายไมรอน โลวเวอรี นายกเทศมนตรีเมืองเมมฟิส แสดงท่าทาง Fist bump กับ ดาไลลามะ ซึ่งไปทัวร์สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ อีกต่างหาก

ชูกำปั้นชนกัน กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและความสำเร็จ รวมไปถึงการส่งผ่านความรู้สึกผูกพันระหว่างกันของคนรุ่นใหม่ในทศวรรษนี้ไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: