12 ก.ย. 2553

2 ความเจ็บปวดที่เรื้อรัง



ปวด : ประจำเดือน
อยากจะติดป้ายแปะไว้ที่หน้าโต๊ะเหลือเกินว่า "วันนี้ฉันเป็นประจำเดือน" ปวดไปหมด ทั้งหลังและท้องน้อย ไหนจะอารมณ์หงุดหงิดอีก ใครพูดจาขวางหู มีหวังโดนลูกหลงไปเต็มๆ อารมณ์ไม่เท่าไหร่ เพราะเรารู้ตัวดี ขอปลีกวิเวกชั่วคราว 3-7 วัน แต่อาการปวดนี่สิ! มันปวดจนไม่อยากจะลุกจากเตียงเลย แม้จะบ่นตามประสาผู้หญิง แต่หญิงแกร่งอย่างฉันก็มีวิธีที่จะบรรเทาอาการปวดประจำเดือนซึ่งได้ผลดีมาบอก

เวลาปวดประจำเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีอาการปวดหน่วงแถวท้องน้อย (ใต้สะดือ) และปวดร้าวไปแถวก้นกบกระเบนเหน็บ แถมบางทีก็ปวดหน่วงจนรู้สึกเหมือนมดลูกจะหลุด! บางคนก็หน้ามืดเป็นลมไปเลย ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ใช่แค่ปวดประจำเดือนแล้วล่ะ อาจจะเป็นช็อกโกแลตซีสต์ หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ก็ได้นะ

เอาล่ะ! ไปหาอุปกรณ์บรรเทาอาการปวดกันดีกว่า อย่างแรกที่ต้องติดไว้ในลิ้นชักที่โต๊ะทำงานก็คือ ‘ถุงน้ำร้อน' ไว้ใช้ประคบท้องน้อย เลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ทางที่ดีก็กินยาพาราฯ กันไว้ตั้งแต่ ‘เริ่ม' รู้สึกว่าจะปวด (หากเกิดอาการปวดแล้ว ‘ธาตุอักเสบ' ขึ้นมาจะเอาไม่อยู่นะ!) และต้องออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ บวกกับการทำท่ากายบริหารในท่า ‘ขยับปีก' ไปด้วย โดยเริ่มจากนั่งขัดสมาธิเอาฝ่าเท้าชนกัน จากนั้นก็ยกขึ้นลงคล้ายกระพือปีก ให้ทำอย่างนี้วันละ 50 ครั้ง สลับกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ส่วนในเรื่องอาหารการกินนั้น แนะนำว่าให้กินอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงสำหรับคุมฮอร์โมน เช่น ผักคะน้า บร็อคโคลี่ ปวยเล้ง และ Dark Chocolate หรือ ช็อกโกแลตดำน้ำตาลต่ำ และอาหารต้านอักเสบ เช่น ปลาสด น้ำมันปลา และให้ลดน้ำมันพืชลง เพราะมีธาตุอักเสบ (โอเมก้า 6) อยู่มาก

ทีนี้ เวลาอาการปวดมาเยือน ก็ไม่ต้องทนปวดให้รวดร้าวอีกแล้ว เรื่องง่ายๆ ที่ผู้หญิงต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ








โรคเซ็ง! : อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง
"ไม่อยากให้ถึงวันจันทร์เลย ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากตื่น ไม่อยากไปเจอรถติด เหนื่อย!" เสียงบ่นจากคนขี้เบื่อหลายๆ คน ที่จะกลายเป็นคำพูดติดปากของคนทำงานไปเสียแล้ว แต่รู้ไหม... บ่นแบบนี้มากๆ อาจจะเป็นโรคเซ็งเรื้อรังได้นะ ซึ่งสาเหตุหลักมันก็มาจากอาการอ่อนเพลียมากๆ นั่นเอง

คนที่เข้าขั้น โรคเซ็งเรื้อรัง หรือ โรคเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome : CFS) มีอาการที่บ่งบอกชัดเจนก็คือ เริ่มจาก มีอาการปวดหัว เจ็บบริเวณต่อมน้ำเหลือง ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และขาดสมาธิ อาการจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่จะเป็นนานกว่า

ส่วนใหญ่ อาการที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดภายหลังการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย เช่น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ ท้องเดินอย่างแรง เป็นต้น บางรายก็เริ่มมีอาการหลังจากพบกับภาวะเครียดอย่างรุนแรง โดยโรคเซ็งเรื้อรังจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-4 เท่า

โรคเซ็งเรื้อรังหากเกิดขึ้นกับใครแล้วล่ะก็... ไม่ว่าจะพักผ่อนขนาดไหน หรือบำรุงร่างกายมากเพียงใด ก็ยังมีอาการอ่อนเพลียอย่างมากอยู่ โดยที่ไปหาหมอแล้วจะไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติใดๆ ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีการรักษาที่เฉพาะลงไป แต่ได้มีการให้ยาต้านไวรัส ต้านอารมณ์เศร้า และยาเพิ่มภูมิคุ้มกัน

อาการดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากผลทางจิตใจ การได้รับคำแนะนำ คำปรึกษา การได้รับกำลังใจที่ดีจากคนสนิท ญาติผู้ใหญ่ และคนในครอบครัว จะช่วยให้ดีขึ้น สามารถอยู่กับอาการที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างไม่แน่นอนนี้ได้

แต่ก่อนที่คุณจะเป็นโรคนี้ ทางที่ดี ควรพยายามรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา กินอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายพอสมควร ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดอาการเพลียมาก ทำจิตใจให้สบาย เพราะหากเกิดความเครียดจะทำให้เกิดอาการมากขึ้นได้

เพราะฉะนั้นแล้ว เช้าพรุ่งนี้ที่คุณตื่นขึ้น ให้บอกตัวเองว่า "แหม! เช้าวันนี้ เหมาะกับการออกเดินทางจัง!" (ไปทำงานนี่แหละ) เชื่อว่า มันอาจจะปรับอารมณ์ของคุณให้อยู่ในภาวะที่ดีตลอดวันได้นะคะ สู้ๆ และยิ้มเข้าไว้ค่ะ




ขอขอบคุณ
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
คลินิกจิตเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ไม่มีความคิดเห็น: