15 พ.ค. 2551

ดูแลหัวใจกันบ้างหรือเปล่า (1)

โรคหัวใจขาดเลือดพบมากขึ้นในประเทศแถบเอเชีย อาจเนื่องมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ความอ้วน ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มสุราจัด และการมีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หากเราตระหนักถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ ก็จะสามารถป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคนี้ลงได้

1.ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

คอเลสเตอรอลกับโรคหัวใจ
คอเลสเตอรอลเป็นสารไขมันชนิดหนึ่ง พบในร่างกายมนุษย์และในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง อันที่จริงคอเลสเตอรอลเป็นสารที่มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากมีปริมาณมากเกินไป จะทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ เนื่องจากคอเลสเตอรอลจะก่อตัวเป็นแผ่น plaque เกาะที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ นำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด

การตรวจระดับคอเลสเตอรอล
แพทย์จะแนะนำให้ตรวจดูระดับไขมันในร่างกาย 4 ตัว ได้แก่

1.Total Cholesteral หรือคอเลสเตอรอลรวม
ค่า Total Cholesteral ที่สูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ค่า Total Cholesteral ปกติควรอยู่ที่ระดับน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

2.HDL Cholesteral หรือไขมันที่ดี
ถ้าค่า HDL สูง จะทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบน้อยลง โดยทั่วไปผู้ชายควรมีระดับ HDL ระหว่าง 40-50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขณะที่ผู้หญิงควรมีระดับ HDL อยู่ระหว่าง 50-60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถ้าค่า HDL อยู่ในระดับที่น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามี HDL อยู่ในระดับต่ำ

3.LDL Cholesteral หรือไขมันที่ไม่ดี
จะค่อยๆ สะสมเกาะอยู่ที่ผนังหลอดเลือดแดง ค่า LDL ที่สูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ค่าLDL ควรน้อยกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

4.ไตรกลีเซอไรด์ ( Triglyceride )
ไตรกลีเซอไรด์ที่สูง มักพบร่วมกับระดับคอเลสเตอรอลและ LDL ในเลือดสูง ค่าไตรกลีเซอไรด์ควรน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร


การควบคุมระดับคอเลสเตอรอล

เราสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้โดยการลดน้ำหนักหากมีน้ำหนักเกิน การออกกำลังกาย และเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่า

อาหารที่มีไขมันสูงโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง จะทำให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง มีคำแนะนำในการเลือกรับประทานอาหารดังต่อไปนี้
- เพิ่มการรับประทานอาหารประเภทปลา หรือไก่ที่ลอกเอามันหรือหนังออก
- รับประทานผัก ผลไม้ หรือธัญพืชให้มากขึ้น
- เลือกใช้น้ำมันชนิดไม่อิ่มตัวในการประกอบอาหาร
- เลือกดื่มนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ
- จำกัดการรับประทานไข่แดงเพียง 2-3 ฟองต่อสัปดาห์ หรือใช้เฉพาะไข่ขาวทำอาหาร

2.การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่กับโรคหัวใจ

การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจที่สามารถป้องกันได้ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบเป็นอย่างมาก เมื่อสูดควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย ปริมาณเลือดที่มีออกซิเจนที่ไปสู่หัวใจและอวัยวะต่างๆ จะลดลง การที่ปริมาณเลือดที่มีออกซิเจนไปสู่หัวใจลดลง จะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก การสูบบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง และเพิ่มการก่อตัวของสารไขมันไปเกาะที่ผนังเส้นเลือดด้านในมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งจะลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย นำไปสู่ภาวะหัวใจและสมองขาดเลือดได้

ผลของนิโคติน
ส่วนใหญ่ผู้ที่สูบบุหรี่จะติดนิโคตินที่ให้ผลทางด้านจิตใจในระยะยาว บางคนสูบบุหรี่เพราะคิดว่าจะช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น ลดความเหนื่อยล้า และช่วยเพิ่มความรู้สึกในการควบคุมตนเอง การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

จะเลิกบุหรี่ได้อย่างไร
มีหลายวิธีในการเลิกบุหรี่ วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี คือความตั้งใจจริงในการปรับพฤติกรรมและการดูแลตนเอง เช่น การลดความเครียด การออกกำลังกาย รวมถึงการสนับสนุนจากคนรอบข้าง
- หลายๆ คนสูบบุหรี่เพื่อลดความเครียด หรือช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ควรเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีอื่นที่ดีกว่าการสูบบุหรี่
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะเกิดผลทางจิตใจเหมือนกับการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกในการควบคุมตนเอง ความรู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับได้ดีขึ้น และเพิ่มความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ที่มีความเครียด ควรหากิจกรรมการออกกำลังกายที่ชอบ เช่น การเดิน ขี่จักรยาน หรือกิจกรรมอื่นที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน
- กำลังใจจากคนรอบข้างในสังคมก็เป็นส่วนสำคัญ เลือกคนที่สามารถให้กำลังใจและช่วยคุณในการเลิกบุหรี่ได้ การดูแลตนเองเป็นวิธีช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ดีที่สุด แต่วิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่งอาจใช้ไม่ได้ผลกับอีกคนหนึ่ง ดังนั้นควรเลือกวิธีที่รู้สึกว่าดีที่สุดสำหรับคุณ

ไม่มีความคิดเห็น: