15 พ.ค. 2551

ดูแลหัวใจกันบ้างหรือเปล่า (2)

3.ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิต คือแรงดันในการส่งเลือดในหลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย การวัดความดันจะมี 2 ค่า ได้แก่ ตัวเลขตัวบน (Systolic Blood Pressure) คือค่าแรงดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว และตัวเลขตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) คือแรงดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว

ความดันโลหิตสูง คือภาวะที่มีการเพิ่มแรงดันในหลอดเลือด ค่าความดันโลหิตสูง คือ มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 ค่าความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากันตลอดเวลา หากตรวจพบว่าค่าความดันมากกว่า 140/90 อยู่เสมอ ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ความดันโลหิตสูงกับโรคหัวใจ
ความดันโลหิตสูงก่อให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและหลอดเลือด หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดโรคทางหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายเฉียบพลันได้ บางคนอาจมีความดันโลหิตสูง แต่ไม่มีอาการแสดงให้เห็น จึงเรียกโรคความดันโลหิตสูงว่า Silent Killer การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะสามารถพบภาวะความดันโลหิตสูงที่ซ่อนเร้นอยู่ได้

เมื่อแพทย์สั่งยาควบคุมความดันโลหิตให้ ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง และหากเกิดอาการจากผลข้างเคียงของยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เนื่องจากยาที่ใช้ควบคุมความดันโลหิตมีหลายชนิด สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นได้ ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

การควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง

1.ควบคุมน้ำหนัก การลดน้ำหนักจะช่วยลดความดันโลหิตได้ การลดน้ำหนักทำได้โดยการลดปริมาณแคลอรี่ ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2.ลดปริมาณเกลือในอาหาร เกลือจะทำให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้นในผู้ป่วยบางคน ควรอ่านฉลากส่วนประกอบในอาหาร หรือเลือกประกอบอาหารโดยใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศ ซึ่งจะช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้น

3.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความดันโลหิตได้ ควรเริ่มอย่างช้าๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยต้องมีการ warm up และ cool down ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือเมื่อต้องการเริ่มกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างใหม่

4.จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป อาจจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเหลือ 2-3 แก้วต่อวัน และจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์เหลือ 1-2 แก้วต่อวัน

5.ลดความเครียด การปล่อยให้มีความเครียดอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ควรรู้จักหาวิธีผ่อนคลายความเครียด


4.เบาหวาน

เบาหวาน คือภาวะที่ระดับอินซูลินในร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดมาสู่เซลล์ในร่างกายได้ ซึ่งปกติแล้วน้ำตาลในเลือดจะถูกส่งไปสู่เซลล์ เพื่อนำไปใช้เพิ่มพลังงานแก่ร่างกาย

เบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

Type I คือภาวะที่ร่างกายไม่สร้างอินซูลิน หรือสร้างได้เพียงเล็กน้อย มักเกิดในเด็กหรือวัยรุ่น แต่ก็สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อาการของภาวะนี้มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อย น้ำหนักตัวลดลง และอ่อนเพลียง่าย

Type II คือภาวะที่ร่างกายสามารถสร้างอินซูลินได้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้หรือใช้ได้น้อย พบได้บ่อยกว่าชนิดแรก และมักพบได้ในกลุ่มคนอายุมากกว่า 40 ปี หรือคนอ้วน อาการของชนิดนี้ ได้แก่ เหนื่อยง่าย ติดเชื้อง่าย แผลหายยาก สายตามองไม่ชัด คันตามผิวหนัง ชามือหรือเท้า หิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย และปัสสาวะบ่อย

เบาหวานกับโรคหัวใจ

คนที่เป็นโรคเบาหวานมักเป็นโรคหัวใจด้วยในภายหลัง โดยผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีอัตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้สูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานจะทำให้หลอดเลือดเสื่อมลง

คนที่เป็นโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะมีระดับ LDL คอเลสเตอรอลหรือคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี สูงกว่าคนปกติ

แม้ว่าโรคเบาหวานจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ เป้าหมายของการควบคุมโรคนี้ คือควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงค่าปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของหลอดเลือดได้ โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

วิธีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

1.เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารประเภทแป้งและไขมัน

2.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว และพยายามลดความเครียด

3.ใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาล บางคนต้องใช้แบบฉีด บางคนควรเลือกใช้แบบรับประทาน เพื่อให้ได้ผลในการควบคุมระดับน้ำตาลที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

4.ตรวจและบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามและควบคุมระดับน้ำตาล

ไม่มีความคิดเห็น: