15 พ.ค. 2551

ดูแลหัวใจกันบ้างหรือเปล่า (4)

7.การขาดการออกกำลังกาย
คนที่ขาดการออกกำลังกายมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจพอๆ กับคนที่มีความดันโลหิตสูง การออกกำลังกายแม้เพียงแค่พอประมาณ ก็ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้มากมาย

ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
- ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ความอ้วน ระดับคอเลสเตอรอลสูง เบาหวาน และภาวะเครียด

- เพิ่มหรือคงระดับความแข็งแรง ความทนทาน และเพิ่มระดับพลังงานของร่างกาย

- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก

- ช่วยให้หลับสบาย

- ทำให้สุขภาพดี และมีรูปร่างสมส่วน

- เพิ่มความกระฉับกระเฉง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข้อแนะนำในการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็ว การขี่จักรยาน หรือการว่ายน้ำ ช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ควรใช้เวลาในการออกกำลังกายประมาณ 30 นาที ประมาณ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายเบาๆ ก็เป็นประโยชน์ ถ้าทำสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การทำความสะอาดบ้าน การทำสวน หรือการเต้นรำ หากิจกรรมใดทำก็ได้ที่ทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว

การเริ่มต้นออกกำลังกาย
- อาจปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยเลือกกิจกรรม หรือวิธีการออกกำลังกายที่เกิดประโยชน์ต่อคุณมากที่สุด
- เลือกกิจกรรมที่ชอบหรือสนใจ จะทำให้รู้สึกสนุกและสะดวกที่จะทำ
- เลือกเวลาที่สามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นอาจหยุดออกกำลังกายเมื่อจัดเวลาไม่ได้
- เลือกเวลาที่สามารถออกกำลังร่วมกับกิจวัตรประจำวันได้ เพื่อให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
- เริ่มช้าๆ และเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมทีละน้อย
- ต้องมีการ warm up, cool down และยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้ง

เมื่อออกกำลังกายเป็นประจำแล้ว อาจตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดกำลังใจที่จะทำให้ได้ การออกกำลังกายร่วมกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว จะช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการออกกำลังกาย

8.การดื่มสุรา
คนที่ดื่มสุราจัดเป็นประจำมีโอกาสเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่ดื่มน้อยกว่า เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ และยังอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจด้วย

ปริมาณเท่าไรจึงจะเรียกว่าดื่มพอควร
จากการศึกษาพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์วันละ 1-2 แก้ว ทำให้เกิดโรคหัวใจน้อยกว่าคนที่ไม่ดื่มสุราเลย เนื่องจากปริมาณแอลกอฮอล์เล็กน้อยจะช่วยเพิ่มระดับ HDL คอเลสเตอรอล (คอเลสเตอรอลที่ดี) ในเลือด แต่สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มสุรา ก็ไม่แนะนำให้หันมาดื่ม เพราะสุราอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีปัญหาทางสุขภาพ และถ้าเป็นคนที่ดื่มสุราเล็กน้อยอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเพิ่มปริมาณการดื่มให้มากกว่า 2 แก้วต่อวัน


1 แก้วดังกล่าวหมายถึง เบียร์ 12 ออนซ์ หรือไวน์ 5 ออนซ์ หรือสุราดีกรีสูงๆ 1 ? ออนซ์ ( 1 ออนซ์ เท่ากับ 30 ซีซี )

ภาวะติดสุรา (Alcoholism)
พบว่าคนที่ดื่มสุรา 1 ใน 10 คน จะติดสุราจนถึงภาวะ Alcoholism สุราอย่างเดียวไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิด Alcoholism ภาวะ Alcoholism จะพบได้ในผู้ที่มีประวัติ Alcoholism ในครอบครัว อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม

การวินิจฉัยการติดสุรา
การติดสุราอาจมีผลมาจากการดื่มปริมาณมากเกินไปหรือจากรูปแบบของการดื่ม Alcoholism สามารถวินิจฉัยได้จาก
- การตรวจสุขภาพ
- การซักประวัติ
- การตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างแบบสอบถามที่ใช้ในการตรวจสอบภาวะการติดสุรา ได้แก่
- คุณเคยรู้สึกต้องการลดปริมาณการดื่มของคุณหรือไม่
- คุณเคยรู้สึกรำคาญคนที่วิจารณ์คุณเกี่ยวกับการดื่มสุราของคุณหรือไม่
- คุณเคยรู้สึกผิดในการดื่มสุราหรือไม่
- คุณเคยรู้สึกต้องการสิ่งที่ทำให้คุณตาสว่างหรือไม่ เช่น ดื่มสุราทันทีหลังตื่นนอน
ถ้าตอบว่าใช่ 2 ข้อหรือมากกว่า ควรปรึกษาจากแพทย์

9.ในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด
พบว่าการมีประวัติผู้ที่อยู่ในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการเกิดโรคนี้ หากทราบว่าบิดาหรือมารดา หรือญาติสนิทเป็นโรคนี้ ควรใส่ใจต่อการลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ด้วยการปรึกษาแพทย์ ตรวจระดับคอเลสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือด วัดความดันโลหิต หยุดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา เริ่มออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก เป็นต้น

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกคนควรทราบ ก็คือ วิธีปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เพื่อลดอัตราการเกิดโรคดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะยังมีอายุไม่มากและไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือดในครอบครัวก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น: