5.ความอ้วน
ความอ้วนไม่ใช่เพียงแค่การมีน้ำหนักเกินปกติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสะสมไขมันที่มากเกินความต้องการของร่างกายเมื่อเปรียบเทียบกับมวลกล้ามเนื้อ กระดูก และของเหลวในร่างกาย มักเกิดจากการขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารมากเกินไปหรือไม่เหมาะสม
ความอ้วนกับโรคหัวใจ
ความอ้วนแสดงถึงภาวะสุขภาพที่ไม่ดี เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะเพิ่มภาระให้กับหัวใจ และอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
การลดน้ำหนัก
กิจกรรมเพื่อการลดน้ำหนักควรเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ ควรใช้วิธีเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าและออกกำลังกาย จะช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผลดีกว่าการรับประทานอาหารเสริมลดน้ำหนัก ยาลดน้ำหนัก ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ที่ล้วนแล้วแต่ให้ผลชั่วคราวระยะสั้น และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และเมื่อใช้ในระยะยาว จะไม่เกิดผลในการลดความอ้วน
ร่างกายของคนเราต้องใช้พลังงานไปประมาณ 3,500 แคลอรีในการลดน้ำหนักตัวลง 1 ปอนด์ ( 1 กิโลกรัม เท่ากับประมาณ 2.2 ปอนด์ ) ควรใช้วิธีออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการลดปริมาณแคลอรี โดยการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ใน 1 สัปดาห์น้ำหนักควรลดลงประมาณ 0.5-1.0 กิโลกรัม ผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถลดน้ำหนักได้ตามนี้ โดยการรับประทานอาหารวันละ 1,200-1,500 แคลอรี ส่วนผู้ชายประมาณวันละ 1,500-1,800 แคลอรี
ควรเลือกรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชต่างๆ ในปริมาณ 60-70% ของแคลอรี่ทั้งหมด อาหารประเภทโปรตีน 10-15% ของแคลอรีทั้งหมด และอาหารที่มีไขมันน้อยในปริมาณน้อยกว่า 30% ของแคลอรีทั้งหมด ร่วมกับวิธีการรับประทานอาหารดังต่อไปนี้
- รับประทานปริมาณน้อยลง
- รับประทานช้าๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เลือกรับประทานผัก ผลไม้ ปลา เป็ด ไก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำหรือไม่มีไขมัน
- หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด
- ลดอาหารประเภททอด ควรใช้วิธีอื่นในการประกอบอาหารแทน เช่น อบ ปิ้ง ย่าง หรือต้ม เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
- อ่านฉลากส่วนประกอบของอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง
- ไม่ควรงดอาหารบางมื้อ
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดน้ำหนัก เพราะจะช่วยเผาผลาญแคลอรีและกำจัดน้ำหนักส่วนเกินออกไป
การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การจ็อกกิ้ง เดินเร็ว หรือขี่จักรยาน เป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยให้น้ำหนักลดลงได้ ควรหากิจกรรมที่ชอบและจัดตารางให้เหมาะสม สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกวิธีการออกกำลังกาย
6.ความเครียด
ความเครียดกับโรคหัวใจ
การเปลี่ยนแปลงภาวะทางจิตใจของคนเรา เกิดขึ้นเมื่อมีความเครียดเข้ามากระทบ ความเครียดทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ร่างกายจะปล่อยไขมันเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น
จากการศึกษาพบว่าความเครียดส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับพฤติกรรมนิสัยกับภาวะโรคหัวใจ เช่น เมื่อเกิดความเครียดจะทำให้รับประทานมากขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น
การจัดการกับความเครียด
คนเราทุกคนมีความเครียด และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเครียดอยู่เป็นระยะๆ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการหาวิธีจัดการกับความเครียดที่เหมาะสม หากไม่สามารถควบคุมความเครียดได้ จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้ในภายหลัง
วิธีกำจัดความเครียด มีหลายวิธี ได้แก่
1.ทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้น หาสาเหตุและวิธีการแก้ไข
2.พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจ
3.หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจ ไปเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์ ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ
4.พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เหมาะสม
การจัดการความเครียดในทางที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดความเครียดมากยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่อไปนี้ ได้แก่ บุหรี่ สุรา เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรือกาเฟอีนสูง และสิ่งเสพติด
การผ่อนคลายทางร่างกายและอารมณ์
การผ่อนคลายเป็นหลักสำคัญในการจัดการความเครียด ต้องฝึกวิธีการผ่อนคลายความเครียดทั้งทางร่างกายและอารมณ์
วิธีผ่อนคลายอารมณ์ ได้แก่ พูดคุยกับเพื่อน หัวเราะ ร้องไห้ อ่านหนังสือ ฟังเพลง เป็นต้น
วิธีผ่อนคลายทางร่างกาย ได้แก่ หายใจเข้าออกลึกๆ เหยียดกล้ามเนื้อ ออกกำลังกาย อาบน้ำอุ่น การนวด การรับประทานอาหารที่เหมาะสม เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น