วิตามินอี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน การปรุงอาหารโดยใช้ความร้อนสูง การขัดสี การบดเพื่อทำแป้ง การกลั่นน้ำมันพืช และการแปรรูปที่มีความสลับซับซ้อน รวมทั้งการถูกแสงแดด จะทำให้สูญเสียวิตามินอีได้
ประโยชน์ของวิตามินอี
1.เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากสารอนุมูลอิสระ
2. ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ตามปกติ
3. ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ โดยวิตามินอีจะช่วยลดการเกิดลิ่มเลือด จึงช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยป้องกันหลอดเลือดตีบแข็ง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด
ส่วนที่มีการอ้างว่า วิตามินอีมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็ง บำรุงรักษาผิวพรรณ ป้องกันหรือรักษาสิว รักษาแผล ชะลอความแก่ ป้องกันผมร่วง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันสมองเสื่อม และการเป็นหมัน ฯลฯ ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจน จึงยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพดังกล่าว
แหล่งที่พบวิตามินอี พบมากในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ ยังพบในผักใบเขียว ถั่วและเมล็ดธัญพืช
ปริมาณที่แนะนำ
คณะกรรมการศูนย์การศึกษาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาด้านวิทยาศาสตร์ โภชนาการ และอาหาร แนะนำให้รับประทานวิตามินอีอย่างน้อย 10 มิลลิกรัมต่อวันในผู้ชาย และ 8 มิลลิกรัมต่อวันในผู้หญิง
เด็กแรกเกิด – 3 ปี:3-6 มิลลิกรัมต่อวัน
เด็กอายุ 4-10 ปี :7 มิลลิกรัมต่อวัน
วัยรุ่นและผู้ใหญ่เพศชาย : 10 มิลลิกรัมต่อวัน
วัยรุ่นและผู้ใหญ่เพศหญิง:8 มิลลิกรัมต่อวัน
หญิงตั้งครรภ์:10 มิลลิกรัมต่อวัน
หญิงให้นมบุตร:11-12 มิลลิกรัมต่อวัน
ผลของการขาดวิตามินอี
ในคนปกติทั่วไปไม่จำเป็นต้องเสริมวิตามินอี เพราะได้รับจากอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานว่าคนที่มีสุขภาพปกติและสามารถดูดซึมอาหารได้ดีจะมีภาวะขาดวิตามินอี นอกจากทารกที่คลอดก่อนกำหนด ที่จะเกิดภาวะโลหิตจางเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือผู้ที่มีโรคที่ทำให้ไม่สามารถดูดซึมวิตามินอีเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น โรคลำไส้ โรคตับ โรคตับอ่อน หรือการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกบางส่วน
อาการขาดวิตามินอี คือ ระบบการไหลเวียนโลหิตผิดปกติ โดยเฉพาะปลายมือปลายเท้า อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง เม็ดเลือดแดงแตกง่าย อายุของเม็ดเลือดลดลง การดูดซึมเหล็กลดลง และอาจทำให้ตับและไตถูกทำลายได้
ผลของการได้รับมากเกินไป
วิตามินอีมักจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ ยกเว้นเมื่อใช้ในปริมาณสูงเป็นเวลานาน เช่น ถ้าได้รับวิตามินอีวันละ 300 มิลลิกรัมเป็นเวลาหลายเดือน อาจเกิดอาการปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เซื่องซึม สายตามัวเห็นภาพไม่ชัด ปวดศีรษะ ถ้าได้รับมากกว่า 2,000 มิลลิกรัมขึ้นไปเป็นเวลา 3 เดือน จะเกิดอาการมุมปากและริมฝีปากอักเสบ กล้ามเนื้อไม่มีแรง
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ พบว่า ผู้สูงอายุที่รับประทานวิตามินอีมากกว่า 400 IU ต่อวัน แทนที่จะมีผลดีเหมือนที่บริษัทวิตามินต่างๆ โฆษณา เช่น ผลดีเรื่องการชะลอความแก่ กลับทำให้เกิดอุบัติการณ์การเสียชีวิตสูงกว่าคนที่ไม่ได้รับประทาน
นอกจากนี้ การใช้วิตามินอีในปริมาณสูงเป็นเวลานานร่วมกับยาอื่น เช่น ยา warfarin (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการตกเลือด
สารหรืออาหารเสริมฤทธิ์ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบีรวม วิตามินบี 1 วิตามินซี แมงกานีส เซเลเนียม
สารหรืออาหารต้านฤทธิ์ ได้แก่ คลอรีน น้ำแร่ ยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ฮอร์โมนเอสโตรเจน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น