15 พ.ค. 2551

วิตามินดี...ดีอย่างไร

วิตามินดีเป็นวิตามินจำพวกละลายในไขมัน ร่างกายได้รับวิตามินดี 2 ทางด้วยกันคือ จากการรับประทานเข้าไปแล้วดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้ไปพร้อมๆ กับอาหารพวกไขมัน อีกทางหนึ่งคือการที่ผิวหนังได้รับแสงแดด แล้วรังสีอุลตราไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ไปกระตุ้นคอเลสเตอรอลชนิดที่อยู่ในผิวหนังให้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี ในกรณีที่ไม่ถูกแดด จำเป็นต้องได้รับวิตามินดีจากอาหารให้มากขึ้น แต่หากได้รับแสงแดดเพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริม หรืออาหารที่มีการเสริมวิตามินดี

วิตามินดีคงทนต่อความร้อน การหุงต้มตามปกติจะไม่ทำลายวิตามินดี ไม่ถูกทำลายโดยออกซิเจน และถึงแม้จะเก็บไว้นานก็ยังมีสรรพคุณดี

แหล่งที่พบ
พบมากในน้ำมันตับปลา ไขมัน นม เนย ตับ ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ไข่แดง และพบได้ในพืชผักผลไม้ แต่มีปริมาณน้อยมาก
ปริมาณของวิตามินดีในอาหารอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาลและภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่น การได้รับแสงแดดมากหรือน้อย อาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์มีวิตามินดีมากหรือน้อยเพียงใด เป็นต้น

นมเป็นอาหารที่นิยมเสริมวิตามินดี เพราะเป็นอาหารที่มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และไขมัน ที่จะช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

ประโยชน์ต่อร่างกาย
- มีความสำคัญในการสร้างกระดูกและฟัน และการเจริญเติบโตตามปกติของเด็ก
- ช่วยในการดูดซึมและรักษาภาวะสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัส และกระตุ้นการนำเอาฟอสฟอรัสมาใช้
- นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท การเต้นของหัวใจ การแข็งตัวของเลือด เพราะหน้าที่เหล่านี้จะสัมพันธ์กับการมีอยู่และการใช้แคลเซียมและฟอสฟอรัสของร่างกาย

ปริมาณที่แนะนำ
บุคคลใดควรได้รับวิตามินดีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ไขมันในอาหาร การดูดซึมของระบบทางเดินอาหาร ความบ่อยครั้งในการถูกแสงแดด ถ้าผิวขาว รังสีอุลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์สามารถผ่านเข้าไปในผิวหนังได้มาก ก็จะมีการสังเคราะห์วิตามินดีได้มาก ถ้าผิวดำ รังสีอุลตราไวโอเลตจะผ่านเข้าไปได้น้อย ทำให้มีการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนังน้อย อย่างไรก็ตาม โดยปกติร่างกายต้องการวิตามินดีวันละประมาณ 10 ไมโครกรัม หรือเท่ากับ 400 IU

ทารก 7.5-10 ไมโครกรัม หรือ 300-400 IU
เด็ก 10 ไมโครกรัม หรือ 400 IU
วัยรุ่นและผู้ใหญ่ 5-10 ไมโครกรัม หรือ 200-400 IU
หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร 10 ไมโครกรัม หรือ 400 IU

การขาดวิตามินดี
- ทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่
- มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ส่งผลต่อการสร้างกระดูก ทำให้รูปร่างของกระดูกไม่ปกติและเจริญไม่เต็มที่ กระดูกจะอ่อน ไม่แข็งแรง ไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ ทำให้กระดูกโค้งงอหรือผิดรูปร่าง เช่น ขาโก่ง หลังโก่ง ส่วนข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า จะโตผิดปกติ กระดูกจะเปราะและหักง่าย และมีอาการปวดตามข้อและกระดูก
- ฟันขึ้นช้า กระดูกฟันและกระดูกขากรรไกรผิดรูปร่าง และฟันผุเร็วกว่าปกติ
- ความต้านทานต่อโรคต่าง ๆ ลดน้อยลง เช่น หวัด ปอดบวม วัณโรค
- กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง ขาดความคล่องแคล่วว่องไว ไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระปรี้กระเปร่า
- ต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานไม่เต็มที่ เชื่อกันว่าวิตามินดีและพาราธัยรอยด์ฮอร์โมนทำงานประสานกันในการนำแคลเซียมไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าขาดจะเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก

ผลข้างเคียงหากได้รับมากเกินไป
วิตามินดีในรูปอาหารเสริมมักจะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงหากใช้ตามปริมาณที่แนะนำ อย่างไรก็ตาม การได้รับในปริมาณสูงๆ หรือเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย และเกิดผลข้างเคียงได้ คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปัสสาวะมากกว่าปกติและบ่อย กระหายน้ำมาก เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด กล้ามเนื้อไม่มีแรง รู้สึกเหนื่อยอ่อน มีการสลายแคลเซียมออกมาจากกระดูกและมีการดูดซึมแคลเซียมเพิ่มขึ้น แคลเซียมและฟอสฟอรัสปริมาณสูงในเลือดอาจไปจับอยู่ตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมทั้งหลอดเลือด ทำให้เป็นอันตรายได้ อาจทำให้ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นผิดปกติ ในรายที่เป็นมากอาจเสียชีวิตเนื่องจากไตล้มเหลว ส่วนในรายที่ยังเป็นไม่มาก อาการต่างๆ จะหายไปภายใน 2 - 3 วันหลังหยุดวิตามิน

สารหรืออาหารเสริมฤทธิ์
วิตามินดีจะทำงานได้ดีขึ้น เมื่อรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ แคลเซียม และฟอสฟอรัสร่วมด้วย ส่วนวิตามินซีจะช่วยไม่ให้วิตามินดีเกิดอาการเป็นพิษขึ้น

สารหรืออาหารต้านฤทธิ์ ได้แก่ สุรา และยาบางชนิด เช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ยาแก้ชัก ยาขับปัสสาวะ และยาลดกรดบางชนิด

ไม่มีความคิดเห็น: