24 ต.ค. 2553

ค่าจ้าง-สวัสดิการ ปี 53-54 สะท้อนนโยบายจ้างงานแนวโน้มดีขึ้น

ในขณะที่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังสาละวนกับการรื้อสูตรการปรับโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
โดยคนกลุ่มหนึ่งเห็นควรว่าค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะอยู่ในระดับ 250
บาทเท่ากันทั่วประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ออกมาโวยว่า ถ้าต้องจ่าย 250
บาทเท่ากันทั่วประเทศ อุตสาหกรรมย่ำแย่แน่

ข้อเท็จจริงการจ่ายค่าตอบแทนในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ในปีนี้และแนวโน้มปีหน้าเป็นอย่างไร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศรีปทุม
ได้จัดทำรายงานผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2553-2554
แจงให้เห็นทุกรายละเอียดกว่า 16 ตาราง จากข้อมูลของ 302
สถานประกอบการที่กระจายอยู่ในหลากหลายกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมครบ ทุกขนาด
ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ที่น่าสนใจมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์
และฉายภาพให้เห็นถึงการจ่ายค่าตอบแทนของภาคอุตสาหกรรมในมิติต่าง ๆ มากถึง 118
มุมมอง

โดยผลสำรวจค่าจ้าง ปี 2553-2554
ค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามคุณวุฒิโดยเฉลี่ยรวมพบว่า วุฒิ
ปวช.จ่ายเฉลี่ย 6,590 บาท สูงสุด 12,000 บาท ต่ำสุด 4,680 บาท, วุฒิ
ปวส.จ่ายเฉลี่ย 7,697 บาท สูงสุด 15,000 บาท ต่ำสุด 5,100 บาท, วุฒิปริญญาตรี
จ่ายเฉลี่ย 11,518 บาท สูงสุด 28,000 บาท ต่ำสุด 6,000 บาท, วุฒิปริญญาโท
จ่ายเฉลี่ย 16,868 บาท สูงสุด 31,480 บาท ต่ำสุด 10,000 บาท, วุฒิปริญญาเอก
จ่ายเฉลี่ย 24,961 บาท สูงสุด 37,840 บาท ต่ำสุด 18,000 บาท

เมื่อจำแนกตามสาขาวิชาพบว่า วุฒิ ปวช.สาขาช่างเทคนิค จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 6,694
บาท สาขาคหกรรมศาสตร์ จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 6,196 บาท วุฒิ ปวส.สาขาช่างเทคนิค
จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 7,903 บาท สาขาคหกรรมศาสตร์ จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 7,169 บาท
วุฒิปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 15,056 บาท
สาขาคหกรรมศาสตร์ จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 10,133 บาท วุฒิปริญญาโท สาขาวิศวกรรมศาสตร์
จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 19,670 บาท สาขาคหกรรมศาสตร์ จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 14,051 บาท
วุฒิปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 37,840 บาท
สาขาเทคโนโลยีอาหาร จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 18,000 บาท

หากมองในมุมกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมจะพบว่า วุฒิ ปวช.กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า
จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 9,500 บาท ส่วนกลุ่มเซรามิก จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 5,771 บาท วุฒิ
ปวส.กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 12,369 บาท
กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 6,923 บาท วุฒิปริญญาตรี
กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 17,774 บาท กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ
จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 8,942 บาท วุฒิปริญญาโท กลุ่มยานยนต์ จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 21,074
บาท กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 11,167 บาท วุฒิปริญญาเอก
กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 30,000 บาท กลุ่มยาและเวชภัณฑ์
จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 20,068 บาท

ในส่วนของค่าจ้างสำหรับผู้มีประสบการณ์จำแนกตามระดับตำแหน่ง โดยเฉลี่ยรวมพบว่า
ผู้บริหารกลุ่มงานระดับสูง จ่ายเฉลี่ย 79,492 บาท สูงสุด 289,610 บาท ต่ำสุด
12,500 บาท ผู้บริหารกลุ่มงานระดับกลาง จ่ายเฉลี่ย 46,382 บาท สูงสุด 160,000
บาท ต่ำสุด 11,000 บาท ผู้บริหารกลุ่มงานระดับต้น จ่ายเฉลี่ย 26,092 บาท สูงสุด
117,000 บาท ต่ำสุด 8,000 บาท ผู้ชำนาญการ จ่ายเฉลี่ย 24,790 บาท สูงสุด
150,000 บาท ต่ำสุด 8,000 บาท ระดับเจ้าหน้าที่ จ่ายเฉลี่ย 15,748 บาท สูงสุด
62,500 บาท ต่ำสุด 11,000 บาท ระดับปฏิบัติการ จ่ายเฉลี่ย 9,788 บาท สูงสุด
30,421 บาท ต่ำสุด 4,500 บาท

เมื่อจำแนกตามกลุ่มงานพบว่า ผู้บริหารกลุ่มงานระดับสูง กลุ่มบัญชีการเงิน
จ่ายสูงสุด 90,116 บาท กลุ่มงานออกแบบ จ่ายต่ำสุด 56,400 บาท
ผู้บริหารกลุ่มงานระดับกลาง กลุ่มกฎหมาย จ่ายสูงสุด 59,507 บาท กลุ่มคลังสินค้า
จัดส่ง จ่ายต่ำสุด 40,613 บาท ผู้บริหารกลุ่มงานระดับต้น กลุ่มกฎหมาย
จ่ายสูงสุด 36,480 บาท กลุ่มคลังสินค้า จัดส่ง จ่ายต่ำสุด 22,353 บาท
ผู้ชำนาญการ กลุ่มกฎหมาย จ่ายสูงสุด 35,807 บาท กลุ่มงานออกแบบ จ่ายต่ำสุด
20,750 บาท ระดับเจ้าหน้าที่ กลุ่มงานเลขานุการ จ่ายสูงสุด 20,083 บาท
กลุ่มคลังสินค้า จัดส่ง จ่ายต่ำสุด 13,392 บาท ระดับปฏิบัติการ กลุ่มกฎหมาย
จ่ายสูงสุด 14,660 บาท กลุ่มคลังสินค้า จัดส่ง จ่ายต่ำสุด 8,521 บาท

สำหรับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมพบว่า ผู้บริหารกลุ่มงานระดับสูง กลุ่มปิโตรเคมี
ก๊าซและพลังงานทดแทน จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 141,893 บาท กลุ่มรองเท้า
จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 31,208 บาท ผู้บริหารกลุ่มงานระดับกลาง กลุ่มปิโตรเคมี
ก๊าซและพลังงานทดแทน จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 78,173 บาท กลุ่มรองเท้า
จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 24,298 บาท ผู้บริหารกลุ่มงานระดับต้น กลุ่มปิโตรเคมี
ก๊าซและพลังงานทดแทน จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 46,816 บาท กลุ่มรองเท้า
จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 14,119 บาท ผู้ชำนาญการ กลุ่มปิโตรเคมี ก๊าซและพลังงานทดแทน
จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 58,666 บาท กลุ่มรองเท้า จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 10,658 บาท
ระดับเจ้าหน้าที่ กลุ่มยาและเวชภัณฑ์ จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 27,470 บาท กลุ่มรองเท้า
จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 10,937 บาท ระดับปฏิบัติการ กลุ่มปิโตรเคมี
ก๊าซและพลังงานทดแทน จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 20,121 บาท กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง
จ่ายเฉลี่ยต่ำสุด 7,017 บาท

ด้านผลการสำรวจสวัสดิการพบว่า
ทุกสถานประกอบการจัดสวัสดิการให้กับพนักงานตามที่กฎหมายกำหนด
และหลายแห่งยังจัดสวัสดิการที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดให้กับพนักงาน
โดยสวัสดิการที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่อุตสาหกรรมต่าง ๆ จะเน้นไปที่การให้ชุดทำงาน
คิดเป็นร้อยละ 86.75 เงินช่วยเหลือกรณีสามี ภรรยา บิดา
มารดาของพนักงานเสียชีวิต คิดเป็นร้อยละ 83.11 การตรวจร่างกายประจำปี
คิดเป็นร้อยละ 82.12 เป็นต้น

และประเด็นที่หลายคนรอฟังอยู่ นั่นคือการจ่ายโบนัสและการปรับเงินเดือน
ปรากฏว่าจากผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการพบว่า ปี 2552 มีการจ่ายโบนัสในอัตรา 2.3
เดือน ด้านการปรับค่าจ้างประจำปีพบว่า ค่าเฉลี่ยการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ร้อยละ
5.05 ในขณะที่อัตราการเข้าออกของ พนักงานโดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 17.12

ส่วนนโยบายการจ้างงานเปรียบเทียบช่วงเดือนมกราคม-เมษายน กับ พฤษภาคม-ธันวาคม
2553 พบว่า การว่าจ้างปกติเป็นนโยบายที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกใช้
ไม่ว่าจะเป็นจำนวนวันทำงานปกติ ชั่วโมงการทำงานปกติ การปรับโบนัสปกติ
การปรับจำนวนกะปกติ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
นโยบายการปรับค่าจ้างปกติที่ช่วงแรก คิดเป็นร้อยละ 3.0
แต่ในช่วงที่สองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50.3 ในขณะที่นโยบายด้านลบ (negative
approach) บริษัท ส่วนใหญ่เลือกใช้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงแรก ตัวอย่างเช่น
การเลิกจ้าง พนักงานบางส่วน จากช่วงแรกคิดเป็น ร้อยละ 6.6
แต่ลดลงในช่วงที่สองเหลือเพียงร้อยละ 1.7
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพการจ้างงานที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: