24 ต.ค. 2553

"เทคโนโลยีผ่าตัดไซนัส แบบเสียเลือดน้อย"


การรักษาโรคไซนัสอักเสบมีทั้งการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดในรายที่เป็นเรื้อรังและไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา มีความผิดปกติอื่นๆบริเวณรูเปิดไซนัส เช่น เป็นริดสีดวงจมูก เนื้องอกในโพรงจมูก หรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นต่อตา สมอง และกระดูกที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี ศัลยแพทย์ด้าน หู คอ จมูก เชี่ยวชาญการผ่าตัดช่องจมูกและไซนัส โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ณ ปัจจุบันการผ่าตัดด้วยกล้อง endoscope ผ่านทางรูจมูกถือเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ มีเฉพาะในบางกรณีเท่านั้นที่แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดร่วมกับการเปิดแผลจากภายนอกส­ำหรับอุปกรณ์ที่ช่วยในการผ่าตัดไซนัสนั้นก็มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน ผลลัพธ์คือ ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย แผลผ่าตัดหายเร็ว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนานและกลับคืนสู่ชีวิตประจำวันตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

“ลองทำความรู้จักกับเครื่อง Microdebrider”

เครื่อง Microdebrider or soft tissue shaver หรือบางท่านอาจเรียกว่าเครื่อง ดูด, ปั่น, ตัด
ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง

เป็นเครื่องมือพิเศษที่ช่วยในการผ่าตัดไซนัสลักษณะเป็นแท่งโลหะ ส่วนปลายด้านหนึ่งมีอุปกรณ์คล้ายฟันเลื่อยทำหน้าที่ดูดเอาเนื้อเยื่อที่ต้องการเข้ามา แล้วจึงทำการปั่นและตัดเนื้อเยื่อให้เป็นชิ้นขนาดเล็กด้วยความเร็วเฉลี่ย 1500- 3000 รอบต่อนาที มีด้ามจับที่ง่ายต่อการควบคุมขณะผ่าตัดและมีความแม่นยำสูงเนื่องจากเครื่องจะตัดเฉพาะเนื้อเยื่อที่ถูกดูดเข้ามาในตัวเครื่องเท่านั้น จึงสามารถป้องกันการบาดเจ็บต่ออวัยวะสำคัญบริเวณข้างเคียงและยังสามารถเก็บรักษ­าเนื้อเยื่อปกติมิให้ถูกทำลายซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการหายของแผลผ่าตัด

โดยหลักการของเครื่องนี้เป็นเครื่องที่อาศัยการดูดเป็นสำคัญ (suction-based power instrument) คือมีการต่อสายเข้ากับเครื่องดูดอยู่ตลอดระยะการผ่าตัด ซึ่งประโยชน์ก็คือช่วยดูดซับเลือดไปพร้อมๆกับการปั่นและตัดเนื้อเยื่อ ทำให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นบริเวณที่ทำผ่าตัดผ่านกล้องชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัญหาที่พบบ่อยจากการผ่าตัดด้วยวิธีแบบเดิมก็คือ เมื่อมีเลือดออกปริมาณมากเข้ามาในโพรงจมูกมักบดบังทัศนวิสัยในบริเวณที่ทำผ่าตั­ดจนบางครั้งไม่สามารถดำเนินการผ่าตัดต่อได้หรือมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือชนิดนี้ต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์เท่านั้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีความเร็วสูงในการดูดและตัดเนื้อเยื่อ ดังนั้นหากเกิดภาวะแทรกซ้อนก็มักเกิดได้ง่ายและรวดเร็วมากกว่าการใช้เครื่องมือผ่าตัดแบบเดิม มีรายงานในต่างประเทศถึงอุบัติการณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญประมาณร้อยละ 0.5 หรือน้อยกว่า ซึ่งได้แก่ การบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อหรือกล้ามเนื้อลูกตา การฉีกขาดของเยื่อหุ้มสมองส่งผลให้มีน้ำไขสันหลังรั่ว หรือบาดเจ็บต่อเนื้อสมอง

การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด

เช่นเดียวกับผู้ป่วยหลังผ่าตัดไซนัสทั่วๆไป คือ จะมีวัสดุห้ามเลือดใส่อยู่ภายในโพรงจมูกข้างเดียวหรือสองข้างแล้วแต่บริเวณที่ผ่าตัด ผู้ป่วยมักมีอาการปวดในโพรงจมูก คัดแน่น หูอื้อ หรืออาจมีน้ำมูก น้ำลายปนเลือดออกมาได้บ้างในช่วง 1-2 วันแรก
ประโยชน์อื่นๆของเครื่อง Microdebrider

นอกเหนือจากประโยชน์ที่ใช้ในการรักษาเพื่อผ่าตัดไซนัสอักเสบและริดสีดวงจมูกแล้ว เครื่องมือชนิดนี้สามารถนำมารักษาภาวะอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโรคของจมูก

1. โรคจมูกอักเสบเรื้อรังซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
เพื่อช่วยลดขนาดของเนื่อเยื่อบางส่วนที่อยู่ใต้เยื่อบุผิวและกระดูกเทอร์บิเนตชิ้นล่างให้มีขนาดเล็กลง ทำให้อาการคัดแน่นจมูกดีขึ้น
2. โรคเยื่อกั้นโพรงจมูกทางด้านหลังอุดตัน (Choanal atresia)
3. การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน

http://www.thairath.co.th/content/life/120682

ไม่มีความคิดเห็น: