7 ส.ค. 2554

5 เชื้อโรคที่อาจปะปนมากับอาหารของคุณ


โดยธรรมชาติแล้วเชื้อแบคทีเรียจะมีปะปนมากับอาหารทุกชนิด แต่เมื่อนำมาปรุงอาหารผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่ถูกต้อง และถูกสุขลักษณะ เชื้อเหล่านี้ก็จะสลายไป แต่ในทางกลับกันหากนำไปปรุงไม่ถูกวิธีก็จะเพิ่มปริมาณ และส่งผลเสียต่อร่างกาย

และนี่คือ 5 เชื้อโรคที่คุณอาจพบในอาหารโดยไม่ได้ตั้งใจค่ะ



คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเกนส์ (Clostridium perfringens)



พบในเนื้อสัตว์ แกง อาหารแห้ง เช่น กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ รวมถึงอาหารที่ยังร้อนไม่ได้ที่ หรือแช่แข็งอาหารช้าเกินไป เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ คลื่นไส้ ปวดบิดในท้อง โดยปกติจะไม่มีไข้ เริ่มมีอาการภายใน 1 – 16 ชั่วโมง และจะเป็นนาน
1 – 2 วัน



แต่สามารถป้องกันได้โดยการปรุงอาหารร้อน ๆ ให้เนื้อสุกเกิน 60 องศาเซลเซียส หรือนำไปอุ่นให้ได้อย่างน้อย 73 องศาเซลเซียส แช่แข็งอาหารทันที และเก็บอาหารในภาชนะที่สะอาดค่ะ



เอสเชอริเซีย โคไล หรือ เชื้ออี.โคไล



จะพบจากการปนเปื้อนในโรงฆ่าสัตว์ พบมากที่สุดในเนื้อบดที่ปรุงไม่สุก แหล่งอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ นมดิบ น้ำผลไม้ที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์ อุจจาระ และน้ำสกปรก เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ และถ่ายเป็นเลือดภายใน 24 ชั่วโมง ปวดบิดในท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ บางรายมีอาเจียน แต่ไม่มีไข้ เริ่มมีอาการภายใน 1 – 8 วัน และจะเป็นนาน 5 – 8 วัน



ส่วนการป้องกันนั้น ทำได้โดยปรุงเนื้อสัตว์ให้เนื้อในสุกถึง 70 องศาเซลเซียส หลีกเลี่ยงการดื่มนมดิบ หรือน้ำผลไม้ที่ไม่ได้พาสเจอไรซ์ และล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง



ซาลโมเนลลา (Salmonella)



พบในน้ำนม เนื้อสัตว์ดิบ หรือปนเปื้อน ไข่แดงปนเปื้อน พบในอาหารที่ปรุงไม่สุก เชื้อโรคมักจะแพร่ไปกับมีด เขียง หรือกับผู้ป่วยติดเชื้อที่รักษาสุขอนามัยไม่ดี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีอาการท้องร่วงรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูงถึง 38 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น เริ่มมีอาการภายใน 6 – 72 ชั่วโมง และจะเป็นนาน 1 – 14 วัน



สำหรับการป้องกันควรปรุงเนื้อสัตว์ให้สุก หลีกเลี่ยงการดื่มนมดิบ ไข่ดิบ หมั่นทำความสะอาดมีด เขียง และล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง



สเตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)



แพร่เชื้อจากการสัมผัสมือ ไอ และจาม เชื้อโรคจะเติบโตได้ดีในเนื้อสัตว์ น้ำปรุงสลัด ครีมซอส ขนมจีน อาหารและขนมที่ใช้มือหยิบจับ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีอาการถ่ายเหลวรุนแรง ปวดบิดในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด เริ่มมีอาการภายใน 1 – 6 ชั่วโมง และจะเป็นนาน 1 – 2 วัน



สามารถป้องกันได้ โดยอย่าวางอาหารที่ติดเชื้อง่ายทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ล้างมือและเครื่องครัวก่อนนำมาปรุงอาหารทุกครั้ง



วิบริโอ วัลนิฟิคัส (Vibrio vulnificus)



พบในอาหารทะเลดิบทุกชนิด โดยเฉพาะหอยนางรม หอยแครง และหอยแมลงภู่ดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการเป็นไข้ หนาวสั่น เป็นโรคผิวหนัง เริ่มมีอาการภายใน 1 ชม. – 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยร้อยละ 50 มีโอกาสเสียชีวิตได้



ส่วนการป้องกันคือ ให้งดเว้นการกินอาหารทะเลดิบทุกชนิด และต้องปรุงให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน

ไม่มีความคิดเห็น: