19 ธ.ค. 2554

คำแนะนำเบื้องต้น...สำหรับการกู้รถที่น้ำท่วม...ด้วยตนเอง

สภาพน้ำท่วมขยายวงกว้างในหลายจังหวัด ภาพผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายของทรัพย์สินที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการกู้หรือฟื้นฟูอีกมาก หนึ่งในทรัพย์สินที่เห็นถึงความเสียหายอย่างมากคือรถยนต์ที่จมน้ำทั้งคัน เจ้าของรถยนต์ที่จมน้ำคงมีความวิตกกังวลไม่ใช่น้อยว่าจะกู้หรือฟื้นฟูรถที่จมน้ำให้กลับมาขับอีกได้หรือไม่ และคงต้องใช้เงินในการซ่อมแซมอีกหลายหมื่นบาทแน่นอน ถนนสายสวัสดิภาพ เข้าใจถึงความเดือดร้อนและความวิตกกังวลของทุกท่าน และได้พยายามค้นคว้าหาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในสาขารถยนต์จากหลายๆแห่งมาบอกเล่าให้ท่านได้รู้และใช้เป็นแนวทางนำไปปฏิบัติในเบื้องต้น เพื่อให้การกู้คืนรถยนต์เป็นไปอย่างถูกวิธีและสูญเสียน้อยที่สุด






เมื่อรถจมน้ำทั้งคัน หลายคนเข้าใจว่าไฟฟ้าจะลัดวงจร แต่ในความเป็นจริงไฟฟ้ายังไม่ได้ลัดวงจรเพราะว่าไม่มีไฟฟ้าลงดิน แต่ความเสียหายจะเกิดขึ้นหลังจากที่ระบบอิเลคทรอนิกส์ต้องจมอยู่ในน้ำ และจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อมอเตอร์ไฟฟ้า กล่องอีซียูซึ่งปัจจุบันใช้ระบบกล่องรวมที่ควบคุมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นแอร์ ไฟส่องสว่างและเครื่องยนต์



หลังจากกู้รถขึ้นจากน้ำแล้ว ข้อห้ามอย่างแรกที่สำคัญคือห้ามติดเครื่องยนต์เด็ดขาด จนกว่าจะตรวจสอบจนแน่ใจว่าไม่มีน้ำค้างในเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรง รถที่ถูกน้ำท่วมต้องเปลี่ยนถ่ายของเหลวและกรองต่างๆออก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีฝุ่นหรือดินโคลนค้างอยู่ การซ่อมบำรุงรถน้ำท่วมจะต้องทำโดยช่างผู้เชี่ยวชาญรถยี่ห้อนั้นจริงๆ เพราะแทบจะต้องประกอบใหม่ทั้งคันทีเดียว







สิ่งแรกที่ควรทำคือเปิดฝากระโปรงรถถอดแบตเตอรี่ออกตากแห้งทำความสะอาด เพราะจะเป็นการตัดวงจรไฟฟ้าในรถทั้งคัน



ถอดเบาะถอดพรมและส่วนประกอบอื่นๆที่ถูกแช่น้ำ เช่น แผงประตู ยางอะไหล่ ที่รองพื้นในห้องสัมภาระท้ายรถทำความสะอาดตากแดดทิ้งไว้



ดูที่เครื่องยนต์โดยใช้หลักการที่ว่าน้ำหนักกว่าน้ำมันเมื่อเข้าไปอยู่ในเครื่อง เหล็กวัดระดับน้ำมันเครื่องจะเป็นตัวบ่งบอกว่าน้ำเข้าไปมากหรือน้อย ถ้าระดับน้ำมันเครื่องสูงกว่าปกติมากให้มุดไปใต้ห้องเครื่องคลายเกลียวน็อตถ่ายน้ำมันเครื่องคลายเพียงหลวมๆถ้ามีน้ำน้ำจะไหลออกมาก่อน ปล่อยให้น้ำไหลจนหมดน้ำมันเครื่องจะตามออกมานิดหน่อย แล้วจึงปิดน็อตถ่ายน้ำมันเครื่องขันน็อตให้แน่น



สำหรับห้องเกียร์ เฟืองท้ายและถ้งน้ำมันเชื้อเพลิง การตรวจสอบว่ามีน้ำเข้าไปหรือไม่ให้ทำวิธีการเดียวกับที่ทำกับห้องเครื่อง โดยคลายน็อตออกมาหลวมๆปล่อยให้น้ำไหลออกมาจนหมดแล้วค่อยขันน็อตคืนให้แน่น เมื่อแน่ใจแล้วว่าน้ำไหลออกหมดแล้วอย่าเพิ่งรีบร้อนติดเครื่องยนต์ ให้ตรวจดูกรองอากาศโดยถอดออกมาทั้งหมดก่อน ให้เอาน้ำออกจากส่วนประกอบและท่อต่างๆของเครื่องกรองอากาศโดยลมเป่าหรือคว่ำให้น้ำออกจนหมดและตากให้แห้ง



ในกรณีที่เป็นเครื่องเบนซินให้ใช้ลมเป่าไปที่เบ้าหัวเทียนไล่น้ำออกให้หมดทุกซอกทุกมุม จากนั้นให้ถอดหัวเทียนออก ตรวจดูแผงฟิวส์ตัวฟิวส์ กล่องรีเลย์ต่างๆรวมทั้งกล่องอีซียูต้องถอดออกให้หมดตากแดดทิ้งไว้ ตรวจดูปลั๊กไฟใช้ลมเป่าทำความสะอาดทั้งหมด หรือใช้สเปรย์ไล่ความชื้นฉีดทิ้งไว้



กล่องอีซียู รีเลย์หรือกล่องควบคุมอุปกรณ์ระบบต่างๆทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อรถจมน้ำจะไม่เสียเพราะไฟช็อต แต่การที่น้ำเข้าทำให้เปียกชื้น ให้แกะฝา กล่องออกซึ่งต้องทำอย่างระมัดระวังสักหน่อย ถ้าภายในมีน้ำให้ใช้ลมเป่าถ้าชื้นก็ตากแดดทิ้งไว้จนแห้ง



ตรวจแบตเตอรี่ดูระดับน้ำกลั่น ถ้าสูงจนล้นเพราะน้ำเข้า อย่าคว่ำหม้อเทน้ำกรดออกโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสียอย่างถาวร ถ้าระดับน้ำกลั่นสูงกว่าปกติมากจนปริ่มฝาปิดให้ดูดออกจนระดับเท่าปกติ ถ้ามีมาตรวัดไฟฟ้าให้วัดว่ามีไฟหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีมาตรวัดไฟฟ้าให้ใช้สายไฟเส้นใหญ่เท่าที่จะหาได้มีความยาวเท่ากับแบตเตอรี่ ให้ท่านกดปลายสายไฟด้านหนึ่งให้แน่นที่ขั้วบวก ส่วนปลายสายไฟอีกด้านให้ขีดผ่าน(ลากผ่าน)เร็วๆที่ขั้วลบ ถ้ามีประกายไฟออกที่ปลายสายที่ขีดผ่านก็แสดงว่ามีไฟ



เพลาขับ หากยางหุ้มเพลาขาดน้ำจะเข้าไปนำเอาจารบีออกไป ต้องอัด จารบีใหม่และเปลี่ยนยางหุ้มเพลาด้วย อีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือลูกปืนล้อทั้งหน้าและหลังที่มีอยู่ในรถทั่วไป ต้องนำออกมาล้างอัดจารบีใหม่แล้วใส่กลับคืนที่ด้วยการปรับใหม่ให้แน่นตามลำดับไม่แน่นเกินไปจนล้อหมุนฝืด



ล้างและเปลี่ยนน้ำระบายความร้อน เอาโคลนเลนที่ติดอยู่ตามรังผึ้งหม้อน้ำออกให้หมด ใส่น้ำยาลดความร้อนหล่อลื่นและรักษาโลหะลงผสมในน้ำระบายความร้อนใหม่อีกครั้งให้ได้ตามลำดับที่กำหนด



ล้างทำความสะอาดภายนอกของระบบห้ามล้อเปลี่ยนน้ำมันเบรก และหากแช่น้ำอยู่นานก็อาจจะต้องถึงขั้นซ่อมใหญ่เบรกทั้งระบบกันเลย



โคมไฟหน้าเลนส์ ไฟท้าย เบาะนั่ง พรมปูพื้น ที่ถอดออกมาตากแดดแห้งแล้วยังไม่ต้องรีบใส่ แม้ว่าส่วนประกอบอื่นๆจะแห้งดีแล้ว ให้เอารถออกตากแดดเปิดประตูรถทุกบาน พยายามให้แผงหน้าปัดรถตากแดดแรงๆเพื่อไล่ความชื้นออกจากแผงหน้าปัดให้หมด



เมื่อแน่ใจว่าทุกอย่างแห้งสนิทดีแล้วค่อยใส่ทุกอย่างที่ถอดออกจากในห้องเครื่องเข้าที่ให้หมด ยกเว้นหัวเทียนในกรณีของรถเครื่องยนต์เบนซินหรือหัวฉีดในกรณีเครื่องดีเซล ให้ยกแบตเตอรี่เข้าที่ก่อนโดยใส่ขั้วแบตเตอรี่ เสียบกุญแจบิดกุญแจไปจังหวะแรก(จังหวะสำหรับตรวจมาตรวัดต่างๆก่อนสตาร์ทรถ) หากเกจ์วัดไหนยังไม่ทำงานอย่าเพิ่งไปสนใจ ให้เปิดสวิตช์ค้างไว้แล้วลงมาตรวจสอบที่ห้องเครื่องยนต์ว่ามีควันหรือความร้อนอะไรเกิดขึ้นจากการใช้ไฟจากแบตเตอรี่หรือไม่ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีทุกอย่างปกติดีจึงค่อยบิดกุญแจปิดสวิทช์



จากนั้นให้ตรวจสอบเบ้าหัวเทียนอีกครั้งว่ามีอะไรติดขัดหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ หากดูแล้วว่าเรียบร้อยดีให้ลองสตาร์ทเครื่องใหม่ โดยคนหนึ่งบิดกุญแจส่วนอีกคนหนึ่งคอยดูที่รูหัวเทียน เมื่อเครื่องหมุนถ้ามีน้ำ น้ำจะถูกพ่นออกมาทางรูหัวเทียน ให้สตาร์ทต่อไปจนแน่ใจว่าน้ำถูกพ่นออกมาจนหมด ต่อไปก็ให้ใส่หัวเทียนเข้าที่ หากทำมาถูกต้องและไม่มีอุปกรณ์อื่นที่เสียหายรุนแรง เมื่อท่านสตาร์ทเครื่องยนต์ก็น่าจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ทำงานดังกระหึ่มขึ้นตามมา แต่ถ้าไม่มีเสียงเครื่องยนต์ดังตามมาก็คงต้องพึ่งรถลากมาลากรถยนต์ไปให้ช่างยนต์ผู้เชี่ยวชาญลงมือทำแล้วล่ะ



การแก้ปัญหาในเบื้องต้นนี้

หากช่วยให้รถกลับคืนมาทำงานได้อีก ก็จะช่วยประหยัดค่าซ่อมไปหลายหมื่นบาท

แต่ถ้าหากท่านไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์เลย

ข้อแนะนำเบื้องต้นนี้ก็ยังพอทำให้ท่านรู้ว่า รถของท่านต้องผ่านกรรมวิธีอะไรบ้าง

ซึ่งท่านสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการพูดคุยกับช่างได้

และที่สำคัญท่านควรเลือกศูนย์ซ่อมหรืออูซ่อมที่มีช่างมืออาชีพ

มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมแซมรถยนต์ยี่ห้อและรุ่นของรถท่านเป็นอย่างดี

เพราะรถที่ผ่านการจมน้ำมาระยะหนึ่งนั้นจะมีปัญหาที่ละเอียดอ่อนมาก

และต้องการช่างผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: