29 ต.ค. 2552

ชอบหมูติดมัน! เสี่ยงนิ่วในท่อน้ำดี

คุณไม่จำเป็นต้องอ่านเรื่องนี้เลย ถ้าคุณไม่สวาปามพวกเนื้อติดมันเป็นนิจศีล ห่างไกลฟาสต์ฟู้ด ระดับไขมันปกติ และไม่เคยปวดตื้อใต้ลิ้นปี่

เริ่มต้นมื้อเช้าด้วยกาแฟร้อนๆ หอมกรุ่น พร้อมแซนวิชชีสสักชิ้น บีบมายองเนสเพิ่มอีกหน่อย ก่อนออกไปทำงาน กว่าจะประชุมเสร็จก็เที่ยงกว่าแล้ว ต้องรีบกลับมาตรวจเอกสาร เวลาน้อยอย่างนี้คงหนีไม่พ้นอาหารจานด่วนที่กินประจำกับชีสเบอร์เกอร์อันโต พร้อมเฟรนช์ฟราย และโคล่า กลับไปทำงานด้วยความอิ่มท้อง และตั้งใจว่า มื้อเย็นจะกินอย่างหรู ด้วยอาหารอิตาเลี่ยน ชุ่มนมเนย

"อาหารที่อุดมไปด้วยคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะจากไขมันสัตว์ไม่ว่าจะเป็นเนย ชีสต่างๆ นอกจากจะเป็นสาเหตุของภาวะโรคอ้วนแล้วอาจก่อให้เกิดโรคนิ่วในทางเดินน้ำดีอีกด้วย" นพ.วิชัย อยู่ยงวัฒนา อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลปิยะเวทเฉลยต้นตอของโรคอันตราย

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับระบบทางเดินน้ำดีกันก่อน ระบบที่ว่าประกอบด้วยตับ ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี ทำหน้าที่เก็บกักน้ำดีเพื่อปล่อยมาช่วยย่อยอาหารมันร่วมกับเอนไซม์ในกระเพาะ อาหาร

น้ำดีจะประกอบด้วยคอเลสเตอรอล, เกลือ, กรดน้ำดีและน้ำ ในปริมาณที่สมดุลกัน แต่หากส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งเปลี่ยนไป ก็จะส่งผลให้เกิด "นิ่ว"

"นิ่วในท่อน้ำดี เกิดจากส่วนประกอบของน้ำดีมีความเข้มข้นเกินไปจนตกตะกอนเป็นผลึก หรืออาจเกิดจากถุงน้ำดีที่ผิดปกติจากโรคบางชนิดเช่น เบาหวาน โรคระบบประสาทที่ต้องนอนอยู่กับที่นานๆ ทำให้การผสมส่วนประกอบต่างๆ ของน้ำดีผิดปกติ หรือโรคทางระบบทางเดินน้ำดีที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อเร่งปฏิกิริยาการตกตะกอนให้เร็วขึ้น" อายุรแพทย์แจงเหตุปัจจัย
นิ่วในทางเดินน้ำดีมี 2 ประเภท ได้แก่ นิ่วคอเลสเตอรอล ที่เกิดจากการบริโภคอาหารมัน หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลจากไขมันสัตว์ รวมไปถึงยาคุม หรือยาบางประเภทที่เพิ่มระดับเอสโตรเจนในร่างกาย หรือภาวะการตั้งครรภ์ที่จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) เพิ่มสูง เพิ่มความเข้มข้นของคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสาเหตุทางกรรมพันธุ์ คนที่ได้รับอาหารทางเส้นเลือด

อีกหนึ่งประเภทคือ นิ่วผลึกเกลือ ที่เกิดจากโรคบางชนิดที่ทำให้มีเกลือเข้าไปในระบบทางเดินน้ำดีจำนวนมากเช่น โรคเลือดอย่างธาลัสซีเมีย ซึ่งผลึกเกลือจากบิลิรูมินในเม็ดเลือดแดงแตกตัวเข้าสู่ถุงน้ำดีมากผิดปกติ ก่อให้เกิดเป็นนิ่วผลึกเกลือ

"ก้อนนิ่วจะเข้าไปอุดตันท่อทางเดินน้ำดี หรือถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีผิดปกติ ระบบทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมาหาด้วยอาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ โดยจะปวดตื้อๆ หลังมื้ออาหาร หรือหลังการรับประทานอาหารมัน โดยมากอาการปวดนาน 30 นาทีถึง 3 ชั่วโมงแล้วจะหายไปเอง" นพ.วิชัยกล่าว

สำหรับผู้ป่วยที่ปวดด้วยลักษณะดังกล่าวเป็นเวลานานโดยไม่รักษา ก้อนนิ่วจะขยายขนาดและไปอุดตัน ทำให้มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ตัวเหลืองตาเหลืองเมื่อตรวจเลือดจะพบว่าปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงมากเพราะเกิดภาวะท่อน้ำดีอักเสบ จำเป็นต้องฉีดยาแก้อักเสบหรือเข้ารับการผ่าตัดต่อไป

หากเป็นนิ่วก้อนเล็กกว่า 0.5 เซนติเมตร นิ่วคอเลสเตอรอลจะรักษาด้วยการรับประทานยาละลายก้อนนิ่ว ช่วยต้านการตกผลึกของนิ่วได้ดีเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน แต่หากเป็นนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี จะใช้วิธีส่องกล้องจากทางปากแล้วใช้เครื่องมือเข้าไปเกี่ยวก้อนนิ่วให้หลุดจากท่อน้ำดี ซึ่งร่างกายจะกำจัดไปพร้อมของเสียทางลำไส้ใหญ่

การผ่าตัดเป็นวิธีรักษามาตรฐานนิ่วก้อนใหญ่ ปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่มีแผลใหญ่ใช้เวลาพักฟื้น 1-2 สัปดาห์ และการผ่าตัดส่องกล้องที่มีแผลเล็ก พักฟื้นน้อยลง

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคใช้คลื่นเสียงสลายก้อนนิ่ว แต่สำหรับนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีพบว่า การใช้คลื่นเสียงให้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก จึงไม่เป็นที่นิยม

นพ.วิชัยบอกว่า กลุ่มเสี่ยงเป็นนิ่วในระบบทางเดินน้ำดี คือผู้หญิงวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เรียกว่ามากกว่าผู้ชายวัยเดียวกัน 2-3 เท่า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเยอะ และยิ่งแก่ตัวก็ยิ่งเพิ่มปริมาณฮอร์โมนขึ้น นอกจากนี้ คนที่อยู่ในภาวะอ้วนก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน

"แม้อุบัติการณ์ในไทยจะมีไม่มากนัก จากตัวเลขสำรวจเมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่มีผู้ป่วยด้วยโรคนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีเพียง 3-5% ของประชากรทั้งหมด และส่วนมากจะเป็นนิ่วผลึกเกลือ"

อย่างไรก็ดี อายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารและโรคตับ โรงพยาบาลปิยะเวท คาดว่า รูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกินอาหาร ทำให้คนนิยมอาหารจานด่วน หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง แนวโน้มของผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินน้ำดีจะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน และความรุนแรงของโรคก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

แม้จะเป็นโรคที่ฟังดูไม่ร้ายแรง แต่หากมีนิ่วอุดตันและติดเชื้อทั้งในท่อน้ำดีและกระแสเลือด อาจรุนแรงถึงตายได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรจะควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนมากเกินไป, ควบคุมอาหาร, หลีกเลี่ยงของมัน, เพิ่มอาหารที่มีกากใย, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน

ที่สำคัญ หากพบอาการเบื้องต้น คือ ปวดท้องตื้อบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือบริเวณใต้ลิ้นปี่ หลังมื้ออาหารหรือหลังการรับประทานอาหารมัน ควรรีบปรึกษาแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น: