29 ต.ค. 2552

คลอดในน้ำไม่ต้องกลัวทารกสำลัก

การคลอดทารกในน้ำ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าหวาดกลัว มันจัดอยู่ในหมวดการคลอดแบบธรรมชาติ สามารถลดความเจ็บปวดจากการคลอด และยังดีสำหรับทารกด้วย
คิดดูเอาแล้วกัน ทารกอยู่ในอยู่ในครรภ์มารดาถึงเก้าเดือน เล่นบัลเล่ต์อยู่ในสระน้ำคร่ำอันแสนอบอุ่น แต่ถึงกำหนดคลอดต้องทะเล่อทะล่าออกมาสู่โลกภายนอกที่เย็นกว่า สว่างกว่า และแห้งกว่าที่อันเคยชิน
คนที่สนับสนุนการคลอดในน้ำจึงบอกว่า ทำไมไม่ปล่อยให้ทารกลืมตาดูโลกในสภาพที่คล้ายอยู่ในครรภ์มารดาล่ะ - อบอุ่นและเปียกแฉะ - มันช่วยลดความเครียดให้พวกเขาได้นะ
การคลอดในน้ำเหมาะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำเท่านั้น และคงต้องเตรียมสถานที่คลอดเป็นพิเศษ หากได้รับการรับรองจากสูตินรีแพทย์ ในต่างประเทศบางแห่งอนุญาตให้คลอดลูกในน้ำที่บ้านตัวเองได้ "ภายใต้การดูแลของพยาบาลทำคลอด หรือสูตินรีแพทย์ "แต่ส่วนใหญ่มักเลือกใช้บริการของศูนย์ หรือโรงพยาบาลมากกว่า สถานที่เหล่านั้นมีอ่างน้ำ หรือจาคุซซีสำหรับคลอดโดยเฉพาะ เรียกว่าถ้าอยากลงไปนอนแช่น้ำอุ่นเล่นก่อนคลอดก็ยังได้ เรียกว่าของอุ่นเครื่องก่อนคลอดจริง
อุณหภูมิของน้ำในอ่างจาคุซซี่ หรือสระน้ำสำหรับคลอดทารกจะถูกปรับให้อยู่ระดับเดียวกับอุณหภูมิร่างกาย (ประมาณ 32 -37 องศาเซลเซียส ไม่สูงกว่านี้เพราะหากอุณหภูมิร่างกายของแม่สูงไปอาจมีผลให้อัตราเต้นของหัวใจลูกเต้นเร็วไป
ช่วงที่เด็กใกล้คลอด เขาจะถูกเบ่งออกมาในน้ำ พยาบาลทำคลอดจะค่อยๆ ยกตัวตัวเขามาไว้ในอ้อมแขนคุณอย่างช้าๆ สามีอาจลงไปแช่อยู่ในน้ำกับคุณด้วยเพื่อให้กำลังใจ และอุ้มลูกด้วยกัน
เรื่องอัศจรรย์คือ ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะสำลักน้ำ ระบบหายใจของเด็กจะยังไม่เริ่มทำงานจนกว่าเขาจะโผล่พ้นน้ำมาสู่อากาศ (เวลาที่พวกเขาอยู่ในครรภ์ก็ไม่ได้หายใจเหมือนกัน)
ส่วนความกังวลว่าเด็กอาจจมน้ำนับเป็นความเสี่ยงที่ต่ำมาก การคลอดทารกในน้ำไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยให้เขาอยู่ในน้ำ ว่ายน้ำเล่นเป็นนาน ปกติแล้วจะปล่อยให้เด็กอยู่ในน้ำเพียงไม่กี่วินาที (ในสหรัฐให้อยู่ได้ไม่เกิน 10 วินาที) เนื่องจากสายรกอาจขาดได้เมื่อเด็กคลอดออกจากครรภ์มาแล้ว เมื่อตัดสายรกออกก็เหมือนกับการตัดท่อออกซิเจนนั่นเอง นอกจากนี้ เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว เขาจะไม่มีรกคอยหุ้มอีกต่อไปทำให้เด็กได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
ปัจจุบัน คุณแม่ทั้งหลายสามารถเลือกรูปแบบการทำคลอดได้ด้วยตนเอง เพื่อตัดความกังวลระหว่างคลอดและทำให้การคลอดราบรื่นและง่ายขึ้น แต่ยังต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์อย่างใกล้ชิด
หากไม่แจ้งความประสงค์ว่าจะผ่าตัดเอาเด็กออกมาทางหน้าท้อง โดยการผ่าแบบขวางลำตัว (Cesarean Section) ด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ใดๆ เมื่อถึงเวลาคลอด คุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยภาวะที่มีข้อบ่งชี้ต่างๆ และถ้ามีความเห็นว่าไม่สามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ จึงจะหาวิธีจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ไล่ระดับจากกรณีรุนแรงน้อยไปหามาก คุณหมอจะทำการคลอดทางปากช่องคลอดโดยใช้น้ำเกลือเร่งคลอด หรือในกรณีไม่มีแรงเบ่งคลอดเอง ก็จะใช้เครื่องดูดแบบสุญญากาศ หรือถ้าทารกในครรภ์ไม่ยอมหมุนตัวออกมาทางปากช่องคลอด คงต้องใช้คีมช่วยดึงเด็กออกมาในขณะที่มดลูกกำลังบีบตัว และจะใช้วิธีผ่าตัดคลอดเป็นทางเลือกสุดท้าย
ถ้าไม่เข้าข่ายอันตราย คุณแม่ส่วนใหญ่มักตัดสินใจคลอดได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งคุณแม่จะเป็นจุดศูนย์กลางของกระบวนการคลอด โดยแพทย์และพยาบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการ และไม่ใช้เครื่องมือ หรือยาปฏิชีวนะช่วยในการทำคลอดเพื่อคงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด
มีนะ สพสมัย พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการคลอด และการเลี้ยงดูด้วยนมแม่แห่งประเทศไทย บอกเทคนิคการเบ่งคลอดว่า คุณแม่ต้องครองสติให้มั่นคง หายใจตามจังหวะที่แพทย์แนะนำก็สามารถช่วยทำให้การคลอดราบรื่น และคลอดได้โดยไม่มีเสียงร้องโวยวายอันเกิดจากความเจ็บปวด
เพราะยิ่งเวลาคุณแม่ส่งเสียงร้อง จะทำให้แรงในการเบ่งคลอดน้อยลง แทนที่จะคลอดได้เร็วขึ้น กลับยิ่งสร้างความเจ็บปวดซ้ำๆ จากการเบ่งคลอดไปอีก
วิธีป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจความทรมาน คือต้องเตรียมพร้อมด้านจิตใจ นอกจากเตรียมใจแล้ว พ่อแม่มือใหม่ควรศึกษาข้อมูลอื่นไว้ล่วงหน้า เช่น อาการบีบรัดตัวของมดลูกและน้ำคร่ำของคุณแม่ เพื่อลดความวิตกกังวลมากจนเกินเหตุ
สำหรับท้องแรกนั้น ระยะการเจ็บท้องจนถึงการคลอดจะเป็นไปได้ถึง 10-12 ชั่วโมง เป็นการเจ็บท้องเป็นระยะๆ หรือมดลูกบีบรัดตัวทุกครึ่งชั่วโมง มีช่วงให้ผ่อนคลายเรียกว่าการ "เจ็บท้องเตือน" ซึ่งในระยะนี้คุณแม่ยังไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล
แต่เมื่อใดมีการเจ็บท้องในลักษณะที่มดลูกบีบรัดตัวทุก 10-15 นาที และถี่แรงทุก 2 นาทีคือภาวะการ "เจ็บท้องจริง" ควรเริ่มมาพบแพทย์ เพื่อเข้าสู่กรรมวิธีคลอดน้องในน้ำ
ทั้งนี้ มดลูกจะเริ่มมีการหดรัดตัวถี่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปกติเมื่อครบ 1 ชั่วโมง ปากมดลูกจะเปิด 1 เซนติเมตร โดยสัญญาณที่แสดงให้รู้ว่าใกล้คลอดแล้วคือปากมดลูกเปิดครบ 10 เซนติเมตร จากนั้นก็อดใจรอการเบ่งคลอดอีกประมาณ 2 ชั่วโมง
คุณแม่ควรสังเกตลักษณะ จังหวะการบีบรัดตัวของมดลูกด้วย ซึ่งสามารถจับความรู้สึกของมดลูกคลายตัว และแข็งตัวได้ ด้วยการนับจังหวะ หรือระยะเวลาห่างระหว่างมดลูกหดรัดตัว และคลายตัว เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ในการวินิจฉัยเบื้องต้นสำหรับช่วงเวลาทำคลอดได้
สัญญาณต่อมาคือ น้ำคร่ำ ซึ่งคุณแม่ควรใส่ผ้าอนามัยไว้เสมอ เพื่อสะดวกในการเฝ้าสังเกตปริมาณน้ำคร่ำ และสี หากเกิดภาวะถุงน้ำคร่ำแตกขึ้นมา ก็ต้องตั้งสติให้ดีเสียก่อน และสังเกตสีของน้ำคร่ำ โดยปกติแล้วสัญญาณเตือนว่ายังไม่คลอดนั้น น้ำคร่ำจะมีลักษณะขาวใส อาจมีเมือก มีไขมันปนมาเล็กน้อย แต่จะเริ่มเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อน้ำคร่ำเป็นสีเขียว หรือมีมูกเลือดปนมา
พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ เล่าต่อว่า ลักษณะอาการของคนใกล้คลอดแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ซึ่ง 15% ของคุณแม่จะมีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนที่มดลูกบีบรัดตัว ส่วนที่เหลือ 85% มีอาการบีบรัดตัวของมดลูกก่อนที่ถุงน้ำคร่ำจะแตก
ก่อนจะถึงภาวะใกล้คลอดนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความเคยชินกับลูกตัวน้อย โดยการหมั่นพูดคุยกับลูกในท้อง เพราะถือว่ามีความสำคัญต่อสมอง และพัฒนาการของลูก ความถี่ของคลื่นเสียงต่างกันของผู้ชาย (พ่อ) กับผู้หญิง (แม่) จะทำหน้าที่กระตุ้นสมองในส่วนที่ต่างกัน และน้ำเสียงที่ให้ลูกได้ยินตั้งแต่ท้อง 7 เดือนขึ้นไปเป็นเสียงที่ลูกสามารถจำได้ และรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้ยินเสียงในลักษณะนี้
และเมื่อได้เวลาที่เหมาะสม คุณแม่จะลงอ่างเพื่อเตรียมการคลอดในน้ำ โดยไม่ใช้ยาเร่งคลอด และเครื่องมือใดๆ ช่วยในการคลอด แต่จะใช้วิธีธรรมชาติบำบัดเพื่อกระตุ้นให้คุณแม่เบ่งคลอดเอง
สำหรับ คุณแม่บางคนเพียงแช่น้ำอุ่นในอ่างทำคลอด ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และทำให้สารความสุขหลั่งออกมา รวมทั้งลดความเจ็บปวดในการเบ่งคลอด แต่ใช่ว่าความอดทนของคุณแม่แต่ละคนจะเท่ากัน
เมื่อเสร็จสิ้นวิธีการคลอดลูกแล้ว ทารกจะถูกกระตุ้นการดูดนมแม่ และแพทย์จะทำการตัดสายสะดือ จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการคลอดรกบนเตียง โดยเลือดจะออกหลังจากคลอดรกออกไปแล้ว คุณแม่มือใหม่จึงลดความกังวลในเรื่องของการติดเชื้อและเบาใจได้
ข้อดีของการคลอดในน้ำ คือไม่ต้องพักฟื้นนาน เหมือนการผ่าตัดคลอด คุณแม่จะได้ใช้เวลาแห่งความสุขกับเจ้าตัวน้อย โดยไม่ต้องทรมานบาดแผลผ่าตัด และยังตักตวงความภูมิใจที่ได้เป็นแม่ตามธรรมชาติโดยสมบูรณ์

ไม่มีความคิดเห็น: