15 พ.ย. 2553

ปอดบวม-ปอดอักเสบ

ข้อน่ารู้
1. โรคปอดอักเสบ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ปอดบวม ภาษาอังกฤษเรียกว่า นิวโมเนีย (pneumonia) หมายถึง การอักเสบของเนื้อปอด เมื่อเนื้อปอดอักเสบ บวม มีหนองขัง จึงทำหน้าที่ไม่ได้เต็มที่ ทำให้การหายใจสะดุด เกิดอาการหายใจหอบ เหนื่อย อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ จึงนับว่าเป็นโรคร้ายแบบเฉียบพลันชนิดหนึ่ง

2. โรคนี้มักเกิดกับคนที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือทารกแฝดซึ่งมีน้ำหนักน้อย เด็กขาดอาหาร คนชรา คนเมาเหล้า ผู้ป่วยโรคเอดส์ คนที่กินยาสตีรอยด์ (เช่น ยาชุด หรือยาลูกกลอนบางชนิด) เป็นประจำนานๆ คนเหล่านี้ร่างกายจะขาดภูมิต้านทานโรค อาจถูกโรคนี้เล่นงานได้ คนที่เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง (เช่น หืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง เป็นต้น) ก็มีโอกาสเป็นโรคปิดอักเสบแทรกซ้อนได้บ่อย นอกจากนี้ อาจพบโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด ไข้สุกใส ไอกรน เป็นต้น

3. เชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของโรคปอดอักเสบมีอยู่มากมายหลายชนิด นับตั้งแต่ตระกูลไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และพยาธิต่างๆ

นอก จากนี้ยังอาจเกิดจากสารเคมี ที่พบบ่อย ได้แก่ น้ำมันก๊าด เช่น เด็กเอามาอมเล่นหรือกลืนด้วยความพลั้งเผลอ เกิดสำลักเข้าไปในปอด ก็ทำให้ปอดอักเสบได้ ในกรณีนี้มักจะเป็นที่ปอดข้างขวามากกว่าข้างซ้ายเนื่องจากหลอดลมใหญ่แขนง ข้างขวาจะหักมุมน้อยกว่าข้างซ้าย น้ำมันก๊าดจึงเข้าไปที่ปอดข้างขวาได้ง่ายกว่า

การติดต่อของโรค อาจติดต่อได้โดยทางใดทางหนึ่ง ดังนี้

ก. ทางเดินหายใจ เชื้อโรคจะผ่านเข้าทางจมูก ลำคอ ลงไปที่ปอด

ข. โดยการสำลักเอาสารเคมีหรือเศษอาหารเข้าไปในปอด

ค. เชื้อแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยาหรือให้น้ำเกลือที่ไม่ถูกเทคนิค (ทำให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนที่ปลายเข็ม) หรืออาจมีการอักเสบหรือมีหนองฝีอยู่ที่อวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย เชื้อโรคก็สามารถแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดไปที่ปอดได้

4. โรคนี้ในสมัยก่อนจัดว่าอันตรายร้ายแรงและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของเด็ก เล็กและคนชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ขาดอาหาร ในปัจจุบันมียาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าเชื้อที่เป็นต้นเหตุจึงสามารถรักษาให้หาย ขาดได้ ข้อสำคัญจะต้องได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ถ้าหากปล่อยให้เป็นมากแล้วค่อยไปหาหมอ ก็อาจยากแก่การรักษาได้ ดังนั้น ถ้าหากสงสัยเป็นโรคปอดอักเสบจะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

5. การป้องกันโรคนี้อยู่ที่การบำรุงรักษาร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด ไข้สุกใส จะต้องดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ควรเก็บน้ำมันก๊าดไว้ในที่มิดชิด อย่าเผลอให้เด็กหยิบไปอมเล่น อย่าติดเหล้า หรือกินยาสตีรอยด์เป็นประจำ ซึ่งทำให้ภูมิต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอ และข้อสำคัญอย่าสูบบุหรี่ ซึ่งชักนำให้เกิดโรคทางปอดเรื้อรัง ซึ่งจะเปิดช่องให้เกิดโรคปอดอักเสบได้

รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น

อาการ สำคัญของโรคปอดอักเสบหรือปอดบวม ได้แก่ ไข้สูงตัวร้อนจัด (บางคนอาจมีอาการหนาวสั่นมากในวันแรกๆ ร่วมด้วย) ร่วมกับอาการหายใจหอบ บางคนอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด และไอมีเสลดเป็นหนองสีเหลืองหรือเขียว บางคนอาจมีไข้สูงร่วมกับอาการเจ็บแปล๊บรุนแรงในหน้าอกเวลาหายใจ ในเด็กเล็กที่มีอาการไข้สูงหรือเป็นไข้หวัด พึงนับจำนวนครั้งของการหายใจ (โดยสังเกตการกระเพื่อมขึ้นลงของหน้าอกและหน้าท้อง) นานสัก 1-2 นาที ถ้าหายใจเร็วกว่าปกติ ก็ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคปอดอักเสบ จำนวนครั้งของการหายใจที่ถือว่าเร็วกว่าปกติให้ยึดถือตามนี้

- เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน หายใจมากกว่านาทีละ 60 ครั้งขึ้นไป

- เด็กอายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่านาทีละ 50 ครั้งขึ้นไป

พ่อ แม่ผู้ปกครองจึงควรฝึกนับการหายใจของเด็กเล็กทุกครั้งที่พบว่าเด็กตัวร้อน หรือเป็นไข้หวัด ถ้าสงสัยว่าเด็กมีอาการหายใจเร็วกว่าปกติดังกล่าวก็ควรพาเด็กไปหาแพทย์ทันที

อาการไข้สูงร่วมกับหายใจหอบ นอกจากโรคปอดอักเสบแล้ว ยังอาจเกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น

1. คอตีบ (diphtheria) มักจะพบในเด็ก จะมีอาการไข้ หายใจลำบาก คอบุ๋ม ไอเสียงแหบห้าว

2. หลอดลมฝอยอักเสบ (bronchiolitis) จะมีอาการไข้สูง หอบตัวเขียว ซี่โครงบุ๋มมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ

3. ภาวะมีน้ำหรือน้ำท่วมขังอยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอด (ซึ่งอาจเกิดจากวัณโรคหรือการติดเชื้ออื่นๆ มะเร็งปอด และโรคอื่นๆ) จะมีไข้ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก

โรคดังกล่าวทั้งหมดนี้ ถือเป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องไปพบแพทย์ทันที คนที่เป็นโรคปอดอักเสบในระยะเริ่มแรกก่อนจะมีอาการหอบ จะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบได้ แต่จะมีข้อสังเกตที่แตกต่าง เช่น อาจมีอาการหนาวสั่นมาก (ต้องห่มผ้า 2-3 ผืน) เจ็บหน้าอกแปล๊บๆ เวลาหายใจเข้า หรืออาจไอมีเสลดเป็นหนอง ถ้ามีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็พึงสงสัยว่าอาจเป็นปอดอักเสบ

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

คนที่เป็นไข้ตัวร้อน หรือมีอาการเป็นไข้หวัด ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อ

1. มีอาการหายใจหอบเร็วกว่าปกติ

2. มีอาการหนาวสั่นอย่างมาก

3. มีอาการเจ็บแปล๊บรุนแรงในหน้าอกเวลาหายใจเข้าแรงๆ

4. ไอมีเสลดเป็นหนอง

แพทย์จะทำอะไรให้

ใน รายที่มีอาการหอบ แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล อาจตรวจเพิ่มเติมโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุ และให้การรักษาโดยให้ออกชิเจน ให้น้ำเกลือ (ถ้าคนไข้กินไม่ได้) รวมทั้งให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อต้นเหตุ ซึ่งในระยะแรกอาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีด เมื่อดีขึ้นแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นชนิดกินแทน ในรายที่เริ่มเป็นปอดอักเสบระยะแรก ยังไม่มีอาการหายใจหอบ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะไปกินที่บ้าน แล้วนัดมาตรวจเป็นระยะๆ จนกว่าจะหายขาด โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษาตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์

โดยสรุป โรคปอดอักเสยหรือปอดบวมเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ข้อสำคัญจะต้องรีบไปพบแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ เมื่อสงสัยว่าจะถูกโรคนี้เล่นงาน

ไม่มีความคิดเห็น: