28 พ.ย. 2553

อันตรายถึงตาย เมื่อหยุดหายใจขณะหลับ

ระยะเวลาในการนอนที่รู้สึกว่าเพียงพอของมนุษย์เราแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายต้องการนอนมากน้อยเพียงใด แต่โดยทั่วไปมนุษย์เราใช้เวลาในการนอนเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาตลอดทั้งวัน แต่สำหรับบางคนในขณะที่กำลังนอนหลับอยู่นั้น ร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง แต่กลับต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม และบางรายต้องจบชีวิตทั้งขณะหลับโดยไม่ได้ตื่นขึ้นมาอีกเลย

ผู้ที่มีภาวะการหายใจที่ผิดปกติและหยุดหายใจขณะหลับ ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่นอนกรน ซึ่งผู้ป่วยที่มีทางเดินหายใจแคบมากในเวลาหลับ เมื่อยังหลับไม่สนิทจะมีเสียงกรนที่สม่ำเสมอ แต่เมื่อหลับสนิทจะเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ มีเสียงกรนที่ติดสะดุดไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีช่วงกรนเสียงดัง-ค่อยสลับกันเป็นช่วงๆ และจะกรนดังขึ้นเรื่อยๆ โดยมีช่วงหยุดกรนไปชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการหยุดหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจติดขัดเหมือนคนสำลักน้ำ และจะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง เป็นผลให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองระหว่างนั้นอาจทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้

ผลกระทบจากการนอนกรนที่ผู้ป่วยหยุดหายใจบางขณะ นอกจากเสียงกรนที่ดังน่ารำคาญแล้ว ยังสร้างปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันมากมาย เช่น ง่วงในเวลากลางวัน สมาธิสั้น อ่อนเพลียเรื้อรัง หงุดหงิดอารมณ์เสีย ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ผู้ที่นอนกรนยังมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดสมองแตก โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ และส่งผลต่อความสามารถในการจดจำและการใช้ความคิด หากมีอาการนอนกรนและหยุดหายใจร่วมด้วยมากๆ ปล่อยทิ้งไว้นาน จะมีปัญหาสุขภาพตามมาแน่นอน

คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวขณะหลับว่าตนมีภาวะผิดปกติ จนกระทั่งคนใกล้ชิดให้ข้อมูล หรือทำการตรวจหาความผิดปกติจากการนอนหลับ ซึ่งปัจจุบันนิยมแบ่งการตรวจเป็น 2 ส่วนคือ

ตรวจดูความผิดปกติของทางเดินหายใจ

1. ตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์ ในเบื้องต้นอาจพบความผิดปกติตั้งแต่จมูก โพรงจมูก หลังโพรงจมูก บริเวณเพดานอ่อน ช่องปาก ต่อมทอนซิล โคนลิ้น เป็นต้น

2. ตรวจพิเศษในท่านอน โดยใช้กล้องส่องตรวจหลอดลมชนิดอ่อนตัวได้ สอดเข้าไปบริเวณหลังโพรงจมูก ตำแหน่งเพดานอ่อนและโคนลิ้น วิธีนี้แพทย์จะพิจารณาใช้กับคนไข้บางรายที่เหมาะสม
3. ตรวจด้วยการเอกซเรย์ เพื่อหาตำแหน่งที่ตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน

การตรวจความผิดปกติจากการนอน (Sleep Test)

เป็นการตรวจการหายใจที่สัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจและสมองขณะหลับ การตรวจชนิดนี้ประกอบด้วย

1. การตรวจวัดคลื่นสมอง - เพื่อวัดระดับความลึกของการนอนหลับ และการตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อขณะหลับ ว่าหลับได้สนิทมากน้อยแค่ไหน ประสิทธิภาพการนอนดีเพียงใด พบว่าบางคนมีลมชักขณะหลับ

2. การตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะหลับ - เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะที่อาจมีอันตรายได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด

3. การตรวจวัดความอิ่มตัวของระดับออกซิเจนในเลือดแดงขณะหลับ - เพื่อดูว่าร่างกายมีการขาดออกซิเจนหรือไม่ในขณะหลับ และหยุดหายใจหรือหายใจเบาหรือไม่

4. การตรวจวัดลมหายใจ - ที่ผ่านเข้าออกทางจมูกและปาก และการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ใช้ในการหายใจ ดูว่ามีการหยุดหายใจหรือไม่ เป็นชนิดไหน ผิดปกติมากน้อยเพียงใด

5. ตรวจเสียงกรน - ดูว่ากรนจริงหรือไม่ กรนดังค่อยแค่ไหน กรนตลอดเวลาหรือไม่ กรนขณะนอนท่าไหน

6. การตรวจท่านอน – ในแต่ละท่านอนมีการกรน หรือการหายใจผิดปกติแตกต่างกันอย่างไร

ซึ่งการทำ Sleep Test หรือการตรวจการนอนหลับชนิดมาตรฐาน (Standard PSG) นี้ต้องทำในห้องปฏิบัติการนอนหลับ (Sleep laboratory) ควบคุมดูแลโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาเฉพาะทาง เพราะการตรวจค่อนข้างซับซ้อน และมีการติดอุปกรณ์ตามร่างกายหลายอย่าง การตรวจชนิดนี้สามารถบอกได้ว่า คุณภาพในการนอนของคืนนั้นๆ เป็นอย่างไร หลับได้ดีหรือสนิทเพียงไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นขณะนอนหลับ ถ้าพบว่ามีการหยุดหายใจบ่อย อาจทำให้ลองใส่เครื่องช่วยหายใจ(CPAP) แล้วทำการปรับความดัน เพื่อให้ทราบค่าความดันที่เหมาะสมที่สุด ที่ใช้รักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

สำหรับการวินิจฉัยความผิดปกติขณะนอนหลับ จะทำการวัดตลอดทั้งคืน อย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการหลับของคนทั่วไป ระยะเวลาที่นอนหลับถ้าน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ผลที่ได้จะเชื่อถือได้น้อย ผลการตรวจการนอนหลับที่ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลการวัดระดับความลึกของการนอนหลับอาจจะผิดพลาดได้ ต้องมีแพทย์หรือเจ้าหน้าที่มีความชำนาญในการอ่านคลื่นสมอง ตรวจเช็คผลซ้ำอีกครั้งด้วยจึงจะเชื่อถือได้

อย่างไรก็ตาม การตรวจการนอนหลับหรือ standard PSG เป็นที่ยอมรับว่าเป็น Gold standard หรือการตรวจที่ดีที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคของการนอน โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือแก้ไข อาจมีผลกระทบต่อสมอง หัวใจ และร่างกายส่วนอื่นๆ ได้ บางรายเป็นรุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตขณะหลับได้....




http://www.thairath.co.th/content/life/128064

ไม่มีความคิดเห็น: