15 ธ.ค. 2552

"ปาย" กับตัวตนที่เหลืออยู่

ปายเมืองท่องเที่ยวที่ถูกหลายคนตั้งคำถามถึงตัวตนของตัวเอง จะเป็นเรื่องดีหรือร้ายก็ไม่รู้ สำหรับเมืองเล็กๆในอ้อมกอดแห่งขุนเขาอย่างเมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน ที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ไม่หยุดหย่อน ยิ่งช่วงปลายปีแบบนี้รับประกันได้ว่าจำนวนที่พักต้องมียอดการจองยาวเป็นหางว่าว­ต้นข้ามปี

เรื่องดีของการที่มีคนมาเที่ยวเยอะๆก็คือ ทำให้เศรษฐกิจของเมืองปายคล่องตัวตามไปด้วย แต่ก็มีกระแสความเป็นกังวลของคนปายเองที่กลัวว่า ระบบการท่องเที่ยวที่ถาโถมเข้าสู่ปายทุกวันนี้ กำลังจะฆ่าปายให้ตายลงอย่างช้าๆ

*คนปาย มองปาย*

ประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวของเมืองปายนี้ ได้มีการถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในหลายเวที ทั้งในระดับท้องถิ่น และในแวดวงการท่องเที่ยว ซึ่งต่างเป็นห่วงว่าปรากฏการณ์ แฟชั่น อิน ปาย ของคนไทย จะกระตุ้นให้เมืองนี้ห่างหายจากตัวตนที่แท้จริงของปายเร็วมากขึ้น

เราจะเห็นได้ว่าภายหลังจากที่เมืองปายเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้าง ก็เริ่มมีการลงทุนของภาคธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างโรงแรมที่พักต่างๆเป็นต้น และบ่อยครั้งที่มีการโปรโมตความเป็นปายไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของคอนเสิร์ต การแต่งงาน ดูหนัง ฟังเพลง ที่ทางผู้จัดงานหลายๆแห่งมองว่าปายนี่แหละคือขุมทองของการจัดงานเหล่านี้ เหล่าคนปายก็ได้เพียงแต่มองบ้านเกิด เมืองนอนของพวกเขาที่แปรเปลี่ยนกันตามยถากรรม

จริตคนเมืองที่นำมาเสริมใส่ในปาย *เจริญศักดิ์ เลิศมงคล*พยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการ และนักดนตรีผู้ลุ่มหลงในเสน่ห์ของเมืองปายถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อเมืองปายได­้นับสิบๆเพลง พื้นเพเขาเป็นคนแม่ฮ่องสอน หลังจากเรียนจบพยาบาลก็ย้ายมาประจำอยู่ที่ปายและไม่เคยจากปายไปไหนอีกเลย จากวันนั้นจนวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว

"ทีแรกกะว่าจะอยู่แค่ปีสองปี แต่กลับหลงรักที่นี่เพราะความเรียบง่าย ปายว่าเป็นเมืองที่มีวิถีชีวิต 15 ปีก่อน ปายเงียบมากทุ่มหนึ่งก็ไม่มีคนเดินกันแล้ว ร้านอาหารมีน้อย แต่ก่อนเราจะขี่มอเตอไซค์ไปที่ไหนสักที่แป๊บเดียวก็ถึง แต่ตอนนี้รถมันติดไปหมด คนต่างถิ่นก็เยอะ เมื่อก่อนเราเคยรู้จักกันหมด แต่เดี๋ยวนี้เราเดินไปในชุมชนเราแทบเหมือนคนแปลกหน้า บางชุมชนเป็นอีกรูปแบบที่ไม่ใช่ปายไปเลย"เจริญศักดิ์เล่าเปรียบเทียบระหว่างอดี­ตและปัจจุบัน

เจริญศักดิ์มองว่า สาเหตุที่ปายเปลี่ยนไปมากขนาดนี้ เพราะเราหนีความเจริญไปไม่พ้น มีคนพยายามจะตีความปายไปในหลายๆรูปแบบอย่าง เมืองโรแมนติก เมืองศิลปะ เมืองดนตรี แต่ว่าปายเป็นเมืองอะไรกันแน่ เจริญศักดิ์มองว่า อยากให้เป็นเมืองน่าอยู่ ไม่ใช่เมืองที่ฟุ้งเฟ้อ ผู้คนแห่แหนกันเข้ามาขนาดนี้ เขาบอกว่าว่าปายเป็นเมืองแฟชั่น ใครๆก็อยากมาสัมผัสปาย บางคนก็ผิดวังว่าปายไม่มีอะไร แต่ไม่เคยถามตัวเองว่ามาปายเพื่ออะไร

หลักกิโลเมตรเมืองปาย พร็อพสำคัญที่ใครหลายคนขาดไม่ได้ "มีคนมาเที่ยวมันก็ดีระดับหนึ่ง แต่วิถีชีวิตเรื่องอาหารการกิน การใช้ชีวิตมันเปลี่ยนไปหมด ตอนนี้ธุรกิจทุกสายมุ่งเข้าปายหมด ไม่ว่าจะเป็นเกสเฮ้าส์ หรือว่า บริษัทใหญ่ในกรุงเทพฯมีนามสกุลปายหมด คนพื้นที่เองอึดอัดก็ขายที่หนีไปหาที่ใหม่ ที่ไกลๆมีเสรีกับการใช้ชีวิตมากขึ้น มีหลายเวทีที่พูดคุยกับเรื่องนี้ ว่าการท่องเที่ยวปายจะยั่งยืนไหม ปายจะเดินต่อไปในทางไหน แต่ตอนนี้ยังไม่มีผู้นำที่มีพลังพอ"เจริญศักดิ์กล่าวด้วยความอึดอัดใจ

แต่คนปายก็ยังคงเป็นคนปาย ที่ต้องอยู่กับปายไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อทำอะไรกับความเจริญที่ไหลบ่าเข้ามาไม่ได้ ก็หันหลังกลับสู่พื้นฐานของมนุษย์เสียเลยดีกว่า ดังที่ *สันโดษ สุขแก้ว*กำลังกระทำอยู่ขณะนี้ที่ *"ไฮ่อุ๊ยต๋าคำปาย โฮมสเตย์"* โฮมสเตย์บ้านพักแบบชนเผ่าที่จะพาผู้พัก ไปปลูกข้าว ไถนา นอนเล่นกลางทุ่งนา ซึ่งเขายืนยันว่านี่แหละปายที่แท้จริง รากของปายดั้งเดิม คือ วิถีแห่งเกษตรกรรมไม่ใช่การท่องเที่ยว เพราะเหตุนี้ครั้งหนึ่งสันโดษจึงเคยได้รับขนานนามว่า *"ผีบ้าแห่งเมืองปาย" *

สันโดษเป็นคนปายโดยกำเนิด เห็นปายตั้งแต่ยังไม่มีถนนลาดยาง เขาเล่าให้ฟังว่าเห็นนักท่องเที่ยวมาปายครั้งแรกเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ตั้งแต่สมัยเขาอยู่มัธยม

ร้านโปสการ์ดมากมาย หรือนี่คือตัวตนของปาย? "ฝรั่งเค้ามาเที่ยวธรรมชาติ มาดูคันนา นอนเถียงนา นอนแบบไม่คิดอะไร วิถีชาวบ้านก็เอาผ้าห่มมาให้เอาข้าวเอาปลามาให้กิน เพราะตอนนั้นไม่มีรูปแบบของเมืองท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ภาพแบบนั้นกลายเป็นเกสเฮ้าส์ในอุดมคติไปแล้ว"สันโดษเล่า

เขาเล่าต่อไปว่า ตอนนั้นปายโตด้วยตัวเอง มีเรื่องยาเสพติดบ้าง หลังๆมีคนไทยติดสอยห้อยตามมา เริ่มมีพัฒนาการ แรกๆจัดการดีเงินเข้าถึงชาวบ้าน จับจ่ายใช้สอยในชุมชน นานวันเข้าปายเริ่มเปลี่ยนผู้ประกอบการที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของหายไป

ความเชื่อของคนมาปายมันเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงจากมาดู ภูเขา หมอก ต้นไม้ คนไทยมองแค่ตัวเมืองความโรแมนติก ใส่ไหมพรม ในอากาศหนาว ไปกินกาแฟ แวะถ่ายรูปกับหลักกิโลเมตร คนในปายทิ้งทุ่งนามารับจ้าง หลักกิโลเมตร กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมืองปาย ผู้นำก็ตามกระแสจัดงานแต่งงานร้อยคู่บ้าง วาเลนไทน์บ้าง เตะบอลบ้าง มันไม่ได้มีความเป็นปาย ชาวบ้านเขาเข้าใจว่าแค่ว่าทำงานแล้วได้เงิน ถ้าเรามองในระยะยาวมันไม่ยั่งยืน ฉะนั้นควรช่วยกันดูแล ผู้นำต้องกระตุ้นชาวบ้านเปลี่ยนความคิดตัวเอง

แม่น้ำปาย สายน้ำที่ไหลผ่านความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย "สำหรับส่วนตัวผมที่ทำได้ก็คือ โฮมสเตย์ที่อนุรักษ์พื้นฐานชีวิตมนุษย์ ส่วนใหญ่จะรับฝรั่งที่ต้องการท่องเที่ยวด้วยความรู้สึกเป็นส่วนตัว พวกยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น แม้แต่เกาหลี เค้ายังบอกเลยว่า เขาไม่มีวิถีวัฒนธรรม ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเอง เขารู้เพียงว่าระดับหนึ่งของความเจริญ เขาสูญเสียทุกอย่าง"สันโดษเล่าประหนึ่งจะเตือนว่าปายอาจจะเข้าสู่วิถีที่สูญสิ้­น เมื่อความเจริญฟูมฟักอย่างเต็มคราบ

*เละแค่ไหน ก็ไปได้เรื่อยๆ*

คนปายอีกคนหนึ่งที่มีสถานะเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นด้วยอย่าง *สถาพร บุญตันกัน* เจ้าของรีสอร์ทบ้านระเบียงปาย เขาเป็นคนปายโดยกำเนิดเช่นกัน เขามองว่าการท่องเที่ยวของปาย มองได้สองทางทางแรก คือธุรกิจปายดีอย่างน้อยคนปายมีอาชีพ แต่ถ้ามองอีกทางหนึ่ง คือ ความเจริญมันเข้ามามากเกินไปไม่ใช่ไม่อยากให้ปายเจริญ แต่มันเหมือนวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของคนปายไม่เหมือนเดิม

"เรื่องความเปลี่ยนแปลง ที่ปายมีคนใต้ คนอีสาน แทบทุกภาครวมกัน แต่ทุกคนไม่รู้จักกัน คนที่เราเคยรู้จักบางตาไปเยอะ สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นชัดว่าปายเปลี่ยน คือ หมู่บ้านป่าขาม เมื่อก่อนมีแต่คนป่าขามแต่ตอนนี้มีแต่นายทุนที่เข้ามากว้านซื้อที่ดิน หมู่บ้านป่าขามในตอนนี้ยังเหลือคนพื้นถิ่นจริงๆแค่10% เท่านั้น แทบไม่เหลืออะไรดั้งเดิม"สถาพรกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็น

สะพานประวัติศาสตร์ข้ามแม่น้ำปาย เอกลักษณ์หนึ่งของเมืองปาย สำหรับเขาแล้วปายเป็นเมืองคลาสสิก มีคนบอกว่าปายเละเทะแล้ว ก็หนักใจกันมาก เขาอยากให้มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งยื่นมือเข้ามาช่วย นักธุรกิจที่ลงทุนในปายก็ขาใหญ่เหมือนกัน จะไปห้ามคงยากเพราะเขาลงทุนเยอะมาก

"ถ้าต้องการหาความเป็นปายจริงๆ ต้องออกนอกเมือง อยู่ในเมือง บอกตรงๆมองหาความเป็นปายไม่ได้ เคยมีการรวมตัวกันของคนปายโดยเฉพาะ ที่ออกมาช่วยกันควบคุมพวกร้านค้าต่างๆ แต่มันทำได้ยาก ผมว่าผู้ประกอบการส่วนมากหวังผลเกินไป บางคนมาจากใต้มาขายของแค่ 3เดือน ช่วงที่คนเยอะๆแล้วก็กลับไปแล้วรอช่วงคนเยอะๆก็เข้ามาใหม่”สถาพรเล่าสิ่งที่เกิ­ดขึ้นกับปาย

ทั้งนี้ในฐานะผู้ประกอบการคนหนึ่งของเมืองปายเขามองความความต่างของผู้ประกอบกา­รท้องถิ่นกับต่างถิ่น คือ คนท้องถิ่นทุนไม่เยอะที่พักเล็กๆ ควบคุมปริมาณคนได้ ต่างจากผู้ประกอบการต่างถิ่นที่เป็นนายทุนใหญ่ที่ทุนหนา

อย่างไรก็ตามสถาพรยังคิดในแง่ดีว่า เพราะทุนต่างถิ่นที่ลงทุนมหาศาลในปายนี่แหละจะเป็นตัวช่วยพยุงปาย เพราะนักธุรกิจเหล่านี้คงไม่ยอมให้ปายเจ๊ง หากปายไม่รอดมันก็หมายถึงธุรกิจของพวกเขาไม่รอดเช่นกัน ดังนั้นหากเขาไม่จำกัดดูแลระบบจริงๆ พวกเขาเจ็บหนักกว่าพวกเราทุนท้องถิ่นแน่ๆ

"บริบทการท่องเที่ยวของปายผมเชื่อว่าคงเดินได้อยู่ แม้มันจะถูกมองว่าเละเทะ แต่มันคงไม่มีทางที่จะร้างคนไปเลย"สถาพรกล่าวถึงทิศทางปายในอนาคตอันใกล้ที่เขา­มองเห็น

นานาเสื้อยืดเมืองปาย *ชาติพันธุ์สำคัญที่ปาย*

ฟังความจากคนพื้นเพปายมาแล้วลองมาฟังจาก* อำนวย ศรีสมบัติ*ตัวแทนจากกลุ่มศิลปินลุ่มน้ำปาย คนกระบี่ที่หนีสึนามึมาอยู่ปายกันบ้าง อำนวยมาอยู่ปายได้ 5 ปีแล้ว เขารักปายไม่ต่างจากคนที่เกิดที่ปายเลย
“มีคนสงสัยถามว่าการท่องเที่ยวให้อะไรคนปาย คำตอบที่ผมอยากบอกก็คือ ที่ดินแพงขึ้น ธุรกิจฟู วิถีชาวบ้านเปลี่ยนไปเนื่องจากระบบทุนนิยมเข้ามาเต็มๆ ชาวบ้านที่ขายที่ เขาก็ต้องโอเค อยากขายที่ก็ขายที่ดินไปได้ รวย แต่กลุ่มที่เป็นชาวนาพอขายที่นาไป วิถีก็เปลี่ยนไม่ทำนาซื้อรถตู้ไปวิ่ง ใช้เงินหมดก็จะมาเป็นลูกจ้างในรีสอร์ทที่ดินเดิมตัวเอง”อำนวยกล่าว

ภาพลักษณ์บริบทต่างๆมันถูกบิดเบือนไป เพราะความคิดของนักท่องเที่ยวด้วย จริงๆแล้วจะโทษคนปายอย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก นักท่องเที่ยวนี่แหละตัวสำคัญ ตลาด100ปี ที่อื่นเขาหวงเก็บไว้จะตาย ที่ปายเทศบาลเซ็นต์ให้รื้อทิ้ง เอาเต็นท์มาลงขาวโพลน พูดแล้วของขึ้น เราก็ไม่สามารถห้ามได้กับระบบทุนนิยม คนที่มาเที่ยวเพี้ยนขนาดไหนรู้ไหม ขนาดบางคนมาแล้วต้องไปไหว้หลักกิโลปาย ถ่ายรูปกอดเสากิโลเมตร มันเปื้อนไปหมด

"ความจริง คือ ผมเพิ่งประท้วงไปที่หน้าที่ว่าการอำเภอปายมาอาทิตย์ก่อน เอากลุ่มชาติพันธุ์มาประท้วง ประท้วงเรื่องตลาดขายของ เดิมทีถนนคนเดินปาย ก็คือ การที่มาชาวบ้านรวมทั้งชาวเผ่ามาปูพื้นขายของจุดเทียน คนเฒ่าคนแก่ มานั่งขายตรงไหนก็ได้ สองสามปีต่อมาเทศบาลก็มาทำถนนคนเดินแบบเป็นระบบปีแรกก็ยังพอถูไถไปได้ แต่มาปีนี้คนขายมาเป็นสิบปีไม่มีที่อยู่ ให้คนที่อื่นเช่าที่หมดเดือนละห้าพันถามหน่อยว่าชาวบ้านชาวเขาจะเอาเงินจากที่ไ­หนมาเช่า

สินค้าชนเผ่าที่ดูจะขายฝรั่งได้ดีกว่าคนไทย เราก็ประท้วงให้เปิดถนนเส้นวัฒนธรรมให้เขา ก็ตกลงกับว่าจะมีถนนสายวัฒนธรรมให้พวกชาวเผ่ากับคนพื้นเดิมให้มีที่ขาย"อำนวยกล­่าวถึงสิ่งที่เขาต่อสู้ในปาย

ความเป็นปายที่แท้จริงที่อำนวยมอง คือ ธรรมชาติ ชนเผ่า วิถีทางวัฒนธรรม คือองค์ประกอบหลักๆ ส่วนนิยามความเป็นปายต่างที่ว่า โรแมนติก อินดี้ เมืองดนตรี มันคือมายาที่แต่งเติมเข้าไป

ในเรื่องชาติพันธุ์นี้สอดคล้องกับความคิดของสันโดษเช่นกัน สันโดษกล่าวว่า หากต้องการแสวงหาความเป็นปายที่แท้จริง แต่ถามว่าตัวตนของปายแท้จริงแล้วคืออะไร สันโดษตอบได้ทันทีว่าคือ ความหลากหลายของชาติพันธุ์ ดังนั้นชนเผ่าควรอนุรักษ์วิถีตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น ตัวตนของปายจึงจะไม่สูญหาย

สำหรับสิ่งเรียกร้องของคนปายหลากหลายอาชีพ ดูเหมือนว่าจะมีข้อหนึ่งที่ทุกคนเล็งเห็นเหมือนกันคือ ปายควรจะมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งเข้ามาดูแลเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งนี้ได้แล้ว ก่อนที่จะสายเกินไป.

ไม่มีความคิดเห็น: