6 ม.ค. 2552

ไขปัญหา ผีอำมีจริงหรือ

หลายคนอาจเคยสงสัยหรือเคยได้ยินคนอื่นเล่าถึงอาการนอนอยู่แล้วเกิดขยับแขนขาหรื­อส่งเสียงร้องไม่ได้มาบ้างแล้ว ที่คนทั่วไปมักเรียกกันว่าผีอำ แต่ท่านเคยสงสัยบ้างไหมว่าผีอำ คืออะไร เกิดได้อย่างไร เป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์หรือเป็นจากการกระทำของผีสางกันแน่ ผมก็สงสัยเหมือนที่หลายคนอยากรู้นั่นแหละ และจากการไปค้นคว้ามาจึงขอนำ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบดังนี้ครับ

ผีอำหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Sleep paralysis นั้นจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในขณะที่คนเรานอนหลับอยู่ ซึ่งจะขออธิบายกันก่อนว่า การนอนหลับของคนเรานั้นมี 2 ช่วง คือ

1. ช่วงที่ตาไม่กระตุก (Non-rapid eye movement sleep ; non-REM sleep)
2. ช่วงที่ตากระตุก (rapid eye movement sleep ; REM sleep)

เมื่อคนเราเริ่มหลับนั้น การหลับจะเริ่มด้วยช่วงตาไม่กระตุกก่อนแล้วเปลี่ยนเป็นแบบตากระตุกแล้วจะเปลี่ย­นเป็นตาไม่กระตุกใหม่ สลับกันไปเรื่อยๆ แบบนี้ โดยช่วงที่หลับแบบตาไม่กระตุกจะสั้นลงๆ และช่วง ที่หลับแบบตากระตุกจะยาวขึ้นๆ เมื่อใกล้ตื่น โดยเฉลี่ยช่วงตาไม่กระตุก รวมทั้งหมดจะประมาณร้อยละ 75-80 ของเวลาหลับทั้งหมด ส่วนช่วงตากระตุก รวมทั้งหมดจะประมาณร้อยละ 20-25 และการหลับช่วง สุดท้ายก่อนจะตื่นขึ้นตามธรรมชาตินั้น จะเป็นการหลับแบบตากระตุก

การนอนหลับช่วงตาไม่กระตุกแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ตามลักษณะของคลื่นไฟฟ้าสมอง คือ

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้าสมองเริ่มช้าลง เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ง่าย

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้าสมองช้าลงอีก เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ยากขึ้น หรือหลับลึกขึ้นนั่นเอง

ระยะที่ 3 เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้าสมองช้าลงและใหญ่ขึ้นอย่างมาก และพบคลื่นสมองไฟฟ้าแบบนี้อย่างน้อยร้อยละ 20 แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของคลื่นไฟฟ้าสมองที่บันทึกได้ ระยะนี้กินเวลาเพียงไม่กี่นาที ก็จะเข้าระยะที่ 4

ระยะที่ 4 เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้าสมองช้าลงและใหญ่มากจะพบได้เกินร้อยละ 50 และระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 20-40 นาที

ระยะที่ 3-4 นี้เองที่เป็นระยะที่คนหลับลึก หลับสนิท ตาทั้งสองข้างจะหยุดการเคลื่อนไหว การหายใจเปลี่ยนเป็นแบบสม่ำเสมอ และหายใจช้าลงๆ หัวใจ (ชีพจร) จะเต้นช้าลงๆ ความดันโลหิตจะลดลงๆ กล้ามเนื้อจะอ่อนตัวลง แต่ไม่ถึงขั้นอัมพาต

การหลับที่เข้าสู่ระยะ 3-4 นี้ เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ยากคนที่หลับอยู่ในระยะนี้ ถ้าถูกปลุกอย่างรุนแรงจนตื่นจะมีอาการสับสนเลอะเลือน ละเมอ หรือจำในสิ่งที่ตนเองทำไป ไม่ได้เลย อย่างเช่น การเดินละเมอ ปัสสาวะรดที่นอน หรือขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขณะหลับ เป็นต้น ประมาณกันว่าในคืนหนึ่งๆ คนเราจะมีการพลิกตัว ขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าทางการ นอนอย่างน้อย 8-9 ครั้ง เมื่อลักษณะการหลับเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง (จากแบบตาไม่กระตุกเป็นแบบตากระตุก)

ส่วนการนอนหลับช่วงตากระตุกนั้น เป็นการหลับที่คลื่นไฟฟ้าสมองมีลักษณะเหมือนกับในขณะที่ตื่นอยู่ การหลับช่วงนี้เป็นการหลับที่ประกอบด้วยการกระตุก (การเคลื่อนไหว เร็วๆ) ของตาทั้ง 2 ข้างเป็นพักๆ ภายใต้หนังตาที่หลับอยู่ ช่วงนี้การหายใจจะไม่สม่ำเสมอ และช้าลงกว่าแบบตาไม่กระตุก มีการหายใจทางท้อง (ก็คือการหายใจโดยใช้กระบังลมนั่น เอง) เป็นสำคัญ กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะอ่อนตัวลงมากเหมือนเป็นอัมพาต ยกเว้นกล้ามเนื้อตาที่ยังทำงานให้ตากระตุกเป็นพักๆ

ในขณะที่นอนหลับช่วงตากระตุกนี้ เป็นช่วงที่ปลุกให้ตื่นได้ง่าย หรือบางคนก็อาจจะตื่นเอง และมักจะจดจำความฝันต่างๆ ในช่วงก่อนตื่นได้ (เพราะฝันในช่วงที่หลับแบบ ตากระตุก) และนี่เองจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ตื่นในช่วงนี้เกิดอาการขยับแขนขาหรือส่งเส­ียงร้องไม่ได้ จึงเรียกกันว่า ผีอำ และทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมผีอำจึงมักเกิดช่วงใกล้ตื่น เพราะตรงกับช่วงตากระตุกนี่เองครับ ทำให้ กล้ามเนื้อยังอ่อนแรงอยู่ในขณะที่เราเริ่มมีความรู้สึกตัวกลับคืนมา และการที่ขยับตัวไม่ได้เลยทำให้รู้สึกอึดอัดเหมือนถูกของหนักทับที่หน้าอกดังที­่คนที่เคยเป็นผีอำเล่าต่อๆ กันมานั่นเองครับ

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมบางคนจึงเกิดผีอำ บางคนไม่เกิดผีอำล่ะ ก็เคยมีคนรายงานไว้ถึงปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิดผีอำครับ ได้แก่

- การนอนหลับในท่านอนหงาย
- การที่นอนหลับไม่เป็นเวลาหรืออดหลับอดนอน
- มีความเครียด
- มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมหรือการดำเนินชีวิตอย่างกะทันหัน
- อุปกรณ์ที่ช่วยในการนอนหลับหรือยาที่รักษาโรคซนสมาธิสั้น หรือยากลุ่ม antihistamines เช่น chlorpheniramine ที่เราใช้ลดน้ำมูกจากโรคหวัดนี่เองครับ

โดยปกติแล้วผีอำไม่ถือเป็นโรค ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาครับ เวลาโดนผีอำให้นอนเฉยๆ สักพักอาการจะหายไปเอง หรือป้องกันการเกิดผีอำโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดผีอำดังกล่าวข้าง­ต้น เช่น นอนหลับให้เป็นเวลา รู้จักผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น แต่สำหรับคนที่มีอาการบ่อยๆ ก็มีวิธีการที่พอจะช่วยได้ คือ การผ่อนคลายความเครียด โดยก่อนนอนสัก 1-2 ชั่วโมง อย่าไปทำอะไรที่มันตื่นเต้น (เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์) ก่อนนอนอาจจะอาบน้ำอุ่น หรือดื่มนมอุ่นๆ โดยเฉพาะนมถั่วเหลือง จะทำให้หลับสบายขึ้น หรืออาจจะใช้วิธีสะกดจิตเข้าช่วย โดยการโปรแกรมจิตใหม่ก็ช่วยได้ กรณีที่มีอาการมากๆ เราอาจใช้ยาได้ โดยใช้ยาพวกยาคลายเครียด หรือยาต้านเศร้า เช่น imipramine ซึ่งจะทำให้เขาหลับสนิทขึ้นโดยไม่ต้องฝันมากนัก

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆคับ