24 พ.ค. 2552

การปฐมพยาบาลฉุกเฉิน กรณีฉุกเฉิน : ข้อควรทราบ (2)

สำหรับการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินมุ่งเน้นไปตามลำดับความสำคัญ ดังนี้

1.การหายใจ ต้องดูว่ามีอะไรค้างอยู่ในปากหรือจมูกหรือไม่ จัดศีรษะให้เงยขึ้น โดยมือหนึ่งจับที่หน้าผากและอีกมือหนึ่งชันคางขึ้นจะทำให้ช่องทางเดินหายใจโล่งขึ้น ขยับขยายเสื้อผ้าให้การหายใจเป็นไปสะดวก ถ้าหายใจสม่ำเสมอดี และกลัวจะสำลัก ท่านอาจจะให้คนไข้นอนตะแคงกึ่งคว่ำ งอสะโพก งอเข่าพอสมควร แต่ถ้าหากคนไข้ไม่หายใจ ถือเป็นกรณีฉุกเฉินที่ท่านต้องเริ่มปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานถ้าท่านสามารถทำได้ ด้วยการช่วยใส่อากาศเข้าไปในปอดของคนไข้ โดยการใช้ปากเป่าลมเข้าไปในปากของคนไข้ แต่ถ้าไม่ได้อาจเป่าเข้าทางจมูก โดยเป่าเข้าไป 12-14 ครั้งต่อนาที จนกระทั่งคนไข้เริ่มหายใจ แต่ถ้าไม่สำเร็จคนไข้จะต้องการการช่วยในขั้นต่อไปซึ่งคนช่วยจะต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

2.การเสียเลือด ท่านสามารถช่วยลดการเสียเลือดได้ โดยหาผ้ากดตรงบาดแผลให้แน่นสักระยะหนึ่ง และอาจใช้ผ้ายืดพันทับปล่อยทิ้งไว้ ถ้าเป็นส่วนแขนหรือขาให้พยายามยกสูงกว่าลำตัว หากยังมีเลือดออกมากอีก อาจต้องหาผ้าม้วนให้พอดีกับจุดที่จะกดเลือดให้หยุด และให้ลอดกดดูอีกครั้ง ท่านต้องพยายามกดให้เลือดหยุด หรือออกน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

3.การบาดเจ็บต่อสมอง ท่านสามารถช่วยเหลือคนไข้ที่หมดสติได้โดยการทำให้การหายใจดีขึ้น แต่มีข้อระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายคนไข้ที่ท่านควรทราบคือ ท่านต้องระมัดระวังกระดูกคอของคนไข้ด้วย เพราะบ่อยครั้งที่คนไข้มีกระดูกคอหักร่วมด้วย ท่านต้องพยายามเคลื่อนย้ายคนไข้ โดยต้องให้คออยู่นิ่งๆ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีกระดูกคอหักโดยการเอ็กซเรย์

4.การบาดเจ็บต่อกระดูกและข้อ ท่านสามารถช่วยได้ โดยหาไม้หรือวัสดุที่แข็งมารองส่วนที่หักและพันดามไว้ให้อยู่นิ่งๆ ถ้าหาไม่ได้จริงๆให้เอาหนังสือพิมพ์เหลาย ๆ ชั้นมาม้วนให้กลมเป็นแท่งจะทำให้มีความแข็งแรงพอที่จะใช้ดามแขนขาได้

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลคร่าวๆ ที่อาจเป็นประโยชน์บ้างต่อกรณีฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นต่อหน้าท่าน แต่ทางที่ดีถ้าท่านมีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมการปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานได้ จะมีประโยชน์อย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น: