24 พ.ค. 2552

การปฐมพยาบาลฉุกเฉิน โรคลมชัก

โรคลมชัก เป็นชื่อรวม ๆ ของภาวะที่เกิดจากการทำงานของเซลล์สมองไม่ไปด้วยกัน โดยปกติเซลล์สมองจะส่งสัญญาณเป็นคลื่นไฟฟ้าขนาดน้อย ๆ เพื่อติดต่อระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน เพื่อการทำงานที่ประสานสอดคล้องกัน แต่ในกรณีที่มีอาการลมชัก เซลล์สมองกลุ่มหนึ่งจะส่งคลื่นไฟฟ้าออกมามากเกินกว่าปกติ จนทำให้เกิดการเกร็งชักกระตุกของกล้ามเนื้อ ที่ควบคุมโดยเซลล์สมองที่สั่งคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกตินั้น ๆ ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่มีส่วนน้อยที่เกิดภายหลังผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและสมอง ผู้ป่วยที่เคยมีการติดเชื้อของสมอง ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นเนื้องอกที่สมอง บางรายอาจมีประวัติสมองผิดปกติตั้งแต่แรกคลอด

สำหรับการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน มีหลักการกว้าง ๆ ดังนี้

1.ถ้าหากผู้ที่ชักกระตุกอยู่ในที่อันตราย เช่น บนที่สูง บนขั้นบันได หรือที่อื่นใดอันอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ต้องพยายามให้พ้นจากจุดอันตราย และหากมีวัสดุรอบ ๆ ที่อาจก่ออันตรายได้ให้เคลื่อนย้ายออก อย่าพยายามไปล็อคตัวหรือผูกตัวคนที่กำลังชักกระตุก

2.อย่าพยายามเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดยัดเข้าไปในปาก เพราะถ้าเป็นของแข็งแรงกัดลงมาอาจทำให้ฟันหรือกระดูกกรามหักได้ ถ้าใช้ผ้าม้วน ๆ ใส่ในปากได้ จะดีกว่าใช้ของแข็ง

3.การชักกระตุกโดยปกติจะเป็นเวลา 1-2 นาที ถ้าหากชักกระตุกนาน ๆ มากกว่า 3 นาที หรือชักกระตุกติดต่อกันเรื่อย ๆ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจรักษา

4.ภายหลังชักกระตุกผู้ป่วยมักจะหลับ ให้จัดอยู่ในท่ากึ่งคว่ำเพื่อป้องกันการสำลักถ้ามีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ระวังเรื่องลิ้นอาจจะตกไปขวางทางเดินหายใจ และถ้าทำได้อาจเคลื่อนย้ายให้ไปอยู่ที่ที่เงียบปราศจากเสียงรบกวน แต่ควรจะมีคนคอยดูแลใกล้ชิดด้วย

5.ปล่อยให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นเองตามปกติ ถ้าพูดคุยกันรู้เรื่องและผู้ป่วยมีประวัติชักมาก่อน ท่านควรเล่าให้ผู้ป่วยฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้น หากไม่มีประวัติชักมาก่อน ท่านควรแนะนำคนนั้นๆ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: