24 พ.ค. 2552

การปฐมพยาบาลฉุกเฉิน บาดเจ็บที่ศรีษะ/สมอง

การบาดเจ็บที่ศีรษะในกรณีที่ไม่รุนแรงมาก อาจพบว่าศีรษะจะมีก้อนนูนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "หัวโน" ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าบริเวณเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังของศีรษะ มีเลือดมาเลี้ยงมากมาย ดังนั้นก้อนนูนหรือหัวโนดังที่กล่าวไว้แล้วก็คือเลือดที่ออกใต้ผิวหนังนั่นเอง และหากมีบาดแผลเลือดออกด้วย เลือดก็จะออกค่อนข้างมาก การประคบเย็นหรือการเอาผ้ากดให้แน่นไว้สักระยะหนึ่ง 5 - 10 นาที จะช่วยให้เลือดหยุดและไม่บวมมาก

สำหรับกรณีที่บาดเจ็บรุนแรง ซึ่งอาจจะมีอาการหมดสติหรืออัมพาตเกิดขึ้น และถ้ามีบาดแผลร่วมด้วย การให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นด้วยการกดบาดแผลให้แน่น จะต้องมีข้อควรระวังดังนี้ หากท่านกดแรง ๆ และมีความรู้สึกว่าไม่ได้กดไปบนกระโหลกศีรษะ อาจจะเป็นไปได้ว่ากระดูกกระโหลกศีรษะตรงตำแหน่งนั้นแตกหรือหักเป็นชิ้น ๆ การกดอาจทำให้เศษกระดูกทิ่มตำเนื้อสมองได้ และในกรณีมีน้ำใส ๆ ไหลอาจมาจากบาดแผลที่ศีรษะ ให้ท่านนึกถึงว่า บาดแผลนั้น จะต้องมีกระดูกกระโหลกศีรษะแตก และมีทางติดต่อกับช่องน้ำในสมองและในสันหลังได้ ในบางครั้งภายหลังศีรษะได้รับแรงกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยไม่มีบาดแผล แต่มีน้ำใส ๆ ไหลออกมาจากรูหู ซึ่งก็จะเป็นน้ำจากในสมองและในสันหลังเช่นเดียวกัน ท่านควรเอาผ้าก๊อซทำแผลปิดรูหูไว้หลวม ๆ เท่านั้น อย่าพยายามเอาสำลีใส่เข้าไปในรูหูเพื่อกั้นไม่ให้น้ำไหลออกมา

อาการอื่น ๆ ที่อาจบ่งบอกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสมอง ได้แก่การหมดสติพูดจาโต้ตอบกันไม่ได้ อาการอ่อนแรงของแขนขาหรือที่เรียกว่าอัมพาต อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนพุ่ง สายตาพร่ามัวมองได้ไม่ชัดเจน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อให้แนวทางในการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ท่านต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหวของกระดูกคอ เพราะอาจมีกระดูกคอหักร่วมด้วย ซึ่งถ้าจับไม่ดีอาจทำให้มีอันตรายเพิ่มขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น: