4 ธ.ค. 2553

คุณมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวหรือไม่?

ท่านเคยมีอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์หรือไม่

- รู้สึกติดขัดเวลาอ้าปาก ไม่สามารถอ้าปากได้เต็มที่

- มีอาการปวดบริเวณใบหน้า หรือข้อต่อขากรรไกร ขณะอ้าปากกว้าง , หาวหรือขณะเคี้ยวอาหาร

- รู้สึกมีเสียง “คลิก” หรือ “เป๊าะ” ที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร ขณะอ้าปากหรือหุบปากเคี้ยวอาหาร

- เคยมีขากรรไกรค้าง แต่เมื่อขยับคางซ้ายขวา ก็สามารถหุบลงได้เอง

- มีอาการปวดขมับ

หากเคยมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง แสดงว่าอาจจะเริ่มมีความผิดปกติบริเวณกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยว หรือข้อต่อขากรรไกร ซึ่งเรารวมเรียกว่าระบบการบดเคี้ยว กลุ่มอาการนี้เรียกว่า เทมโพโรแมนดิบูล่าร์ ดิสออเดอร์ (Temporomandibular Disorders) เขียนย่อว่า T.M.D. คือ กลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบการบดเคี้ยว ซึ่งจัดเป็นความผิดปกติของระบบกระดูก เอ็น ข้อ และกล้ามเนื้อที่ใช้ทำหน้าที่หน้าที่บดเคี้ยว อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าและช่องปาก หรือทำให้การทำหน้าที่ของระบบการบดเคี้ยวผิดปกติไป โดยปัจจัยต่างๆ ที่ลดความสามารถในการปรับตัวของระบบการบดเคี้ยวและทำให้เกิดกลุ่มอาการ T.M.D. ได้คือ


1 ภยันตราย คือมีแรงมากระทำต่อระบบการบดเคี้ยว มากกว่าแรงที่เกิดเกิดจากการทำงานปกติ เช่น จากอุบัติต่างๆ หรืออีกรูปแบบหนึ่งเกิดจากการที่ขากรรไกรถูกใช้งานมากเกินไปอย่างกะทันหัน เช่น กัดของแข็งโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนเช่น เม็ดกรวดในข้าว การอ้าปากนานๆ จากการทำฟัน นอกจากนี้อาจเกิดจากคนที่ชอบนอนกัดฟันเป็นระยะเวลานานๆ

2 ลักษณะโครงสร้างของกระดูกขากรรไกร ซึ่งเป็นผลจากพันธุกรรม หรือการเจริญเติบโต หรือเป็นผลกระทบจากการรักษาในอดีต เช่น การจัดฟันที่ไม่ถูกต้อง

3 ปัจจัยทางจิตสังคม หมายถึง สภาวะหรือสถานภาพที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ จากาการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย T.M.D. มักจะมีลักษณะวิตกกังวล และความซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไป อาจเป็นได้ว่าเกิดจากความเครียด ทำให้กล้ามเนื้อตึงมีอาการเจ็บปวดได้

4 ปัจจัยทางระบบ โรคทางระบบหลายๆ โรคที่เกี่ยวข้องได้แก่ ระบบต่อมไร้ท่อ เนื้องอก โรคข้อ คือความดันและการหล่อลื่นของข้อต่อผิดปกติ ระบบประสาท ระบบหลอดเลือด


อาการของ T.M.D. พบได้ในคนทุกกลุ่มอายุ ความชุกของ T.M.D. จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ อย่างไรก็ตามระดับความรุนแรงของอาการปวดมักไม่ค่อยแตกต่างกัน พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุประมาณ 20 - 40 ปี เนื่องจากผู้หญิงขอเข้ารับการรักษามากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 3:1 ถึง 9:1 อาจเป็นเพราะว่าผู้หญิงเอาใจใส่สุขภาพของตนเองมากกว่าผู้ชาย อาการที่พบได้บ่อยมีดังนี้คือ

1 ความเจ็บปวดและการกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อใบหน้า และข้อต่อขากรรไกร เป็นอาการที่พบมากที่สุดในผู้ป่วย T.M.D. เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบทันตแพทย์ บริเวณที่มักมีอาการปวดได้แก่ บริเวณ หน้าหู กราม ขมับ อาการปวดมักเพิ่มขึ้นขณะเคี้ยว หาว การพูดหรืออื่นๆ เมื่อกดที่บริเวณนั้นๆ จะเกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น ลักษณะการปวดกล้ามเนื้อใบหน้า มักจะมีลักษณะแผ่กระจายต่อเนื่องปวดตื้อๆ ตึงหรือเหมือนถูกบีบ สาเหตุของการปวดหรือเมื่อยล้านี้ เกิดจากการขาดเลือด และมีการหดตัวของหลอดเลือดส่วนอาการปวดที่ข้อต่อจะมีลักษณะปวดจี๊ดๆ และรุนแรงที่มักเกิดอาการร่วมกับการเคลื่อนที่ของขากรรไกรเมื่อขากรรไกรพักอาการปวดจะหายอย่างรวดเร็ว

2 เสียงที่ข้อต่อขากรรไกร มักเกิดขณะอ้าปาก หุบปาก เยื้องคางหรือยื่นคาง อาจตรวจพบเสียง “คลิก” ขณะมีการเคลื่อนที่ของขากรรไกร บางครั้งอาจดังมากเป็นเสียง “เป๊าะ” เหมือนหักไม้ เสียงนี้อาจเกิดจากรูปร่างของปุ่มกระดูกหรือหัวข้อต่อผิดปกติหรือขรุขระ ในกรณีที่มีเสียงดังอย่างเดียว แต่ไม่มีอาการปวดก็ยังไม่ถึงต้องรับการรักษา ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีเสียงดังผิดปกติ โดยเป็นเสียงดังกรอบแกรบ หรือเสียงครูด คล้ายเสียงลากไม้ไปตามพื้นกรวด มักเกิดจากการเสื่อมสภาพของข้อต่อขากรรไกร มีการทำลายของเนื้อเยื่อ และเอ็นยึดภายใน และผิวกระดูกอ่อนภายในมีความขรุขระ

3 การเบี่ยงเบนของแนวการเคลื่อนที่ของขากรรไกร ลักษณะแนวการอ้าปากและหุบปากของคนปกติเป็นแนวเส้นตรง ส่วนในผู้ป่วย T.M.D. อาจมีอาการเบี่ยงเบนของการอ้าปากได้เป็น 3 ลักษณะคือ

- แบบตัว S คือ เวลาอ้าปากจะเฉไปจากแนวตรงและเมื่อหุบ ปากก็จะเบี่ยงกลับมาที่แนวเส้นเดิมได้

- แบบเบนไปด้านข้าง คือเวลาอ้าปากจะเบี่ยงเบนออกไปจากแนวตรงไปทางด้านข้าง ขณะอ้าปากสุด ก็จะไม่เบนกลับมาแนวเดิม และเมื่อหุบปากจะได้แนวขนานกับเวลาอ้าปาก

- แบบกระตุก เป็นลักษณะของการอ้าปากที่ไม่ราบเรียบและต่อเนื่อง ดังภาพ 2D มักพบในกรณีผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ

- การเคลื่อนที่ของขากรรไกรได้จำกัดหรือน้อยลง หมายถึง ระยะการอ้าปากเต็มที่จะน้อยลง ซึ่งค่าปกติจะประมาณ 53-58 มม. แต่จะถือระยะที่น้อยกว่า 40 มม. เป็นระยะที่ผิดปกติ ในผู้ป่วย T.M.D. ถ้าฝืนอ้าให้กว้างขึ้นจาก 40 มม. จะมีอาการตึงหรือปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อขากรรไกรทันที รวมทั้งการเยื้องคางซ้ายขวา การยื่นคางมาข้างหน้าด้วยจะได้ระยะน้อยกว่า 7 มม. ซึ่งเป็นค่าปกติ

อาการอื่นๆ ที่พบร่วมกับ T.M.D. ได้คือ

- ปวดศีรษะ อาจเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยวบริเวณขมับในผู้ป่วยที่มีการนอนกัดฟัน พบได้ว่าจะมีอาการปวดศีรษะเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนกับถูกบีบรัดที่ศีรษะ และมักปวด 2 ข้างพร้อมกัน

- อาการทางหู เนื่องจากรูหูและข้อต่อขากรรไกรจะอยู่ใกล้กันมาก อาจทำให้ไม่สามารถบอกตำแหน่งของความเจ็บปวดได้แน่นอน นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วย T.M.D. อาจมีอาการหูอื้อ ลมออกหู มีเสียงในหู หรือวิงเวียนได้

- อาการแสดงที่ฟัน การโยกของฟัน พบได้มากในคนที่มีนิสัยนอนกัดฟัน การอักเสบของประสาทฟัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของเลือดที่จะเข้าไปเลี้ยงประสาทฟันทางปลายรากได้ ฟันสึก ฟันจะสั้นกว่าเดิม

หากสงสัยว่าจะมีความผิดปกติของกลุ่มอาการ T.M.D. อาจปรึกษาทันตแพทย์สาขาระบบการบดเคี้ยวได้ เพื่อช่วยรักษาและบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้น

ไม่มีความคิดเห็น: