4 ธ.ค. 2553

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและตับคือ การค้นหาให้พบรอยโรคตั้งแต่เพิ่งเริ่มเป็น ยิ่งพบเร็วเท่าไหร่โอกาสในการรักษาให้หายก็มีมากขึ้นเท่านั้น แต่บางรายเป็นเรื้อรังหาสาเหตุไม่พบว่าต้นตอของโรคอยู่ที่ใด อาจเพราะรอยโรคซ่อนอยู่ในส่วนลึกลับซับซ้อน ซึ่งแม้แต่การส่องกล้องทั่วไปก็ไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงต้องพยายามคิดค้นเครื่องมือและเทคโนโลยีตรวจวินิจฉัยที่จะเอาชนะ ข้อจำกัดเหล่านั้นให้ได้



EUS เพิ่มขีดความสามารถของการส่องกล้อง

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือที่เรียกว่า EUS คือการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นกล้องส่องทางเดินอาหารแบบปกติ แต่ที่บริเวณส่วนปลายของกล้องมีเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงติดอยู่ ดังนั้นนอกจากแพทย์จะได้ข้อมูลเรื่องลักษณะของรอยโรคที่บริเวณผนังของทางเดินอาหารจากการส่องกล้องปกติแล้ว แพทย์ยังสามารถตรวจดูรอยโรคหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่ใต้ผนังเยื่อบุนี้ได้ ดังตัวอย่างที่เห็น ในภาพที่ 1 และภาพที่ 2 จะพบว่าภาพที่ 1

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

เป็นลักษณะรอยโรคที่มองเห็นว่าผนังเยื่อบุทางเดินอาหารมีก้อนเนื้อที่โป่งพองออกมาแต่ไม่สามารถบอกชนิดได้ชัดเจน เพราะรอยโรคที่แท้จริงนั้นอยู่ภายใต้ผนังเยื่อบุและดันผนังเยื่อบุออกมา ซึ่งเมื่อแพทย์ทำการตรวจด้วยเครื่องมือ EUS แพทย์ก็จะสามารถบอกได้ว่าก้อนที่อยู่ภายใต้ผนังเยื่อบุทางเดินอาหารนั้น กำเนิดมาจากผนังชั้นใดของทางเดินอาหารซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนได้ในที่สุด

เครื่องมือทางรังสีวิทยาหรือเครื่องมือการส่องกล้องที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถที่จะแยกชั้นของผนังเยื่อบุทางเดินอาหารได้ชัดเจน ยกเว้นกล้อง EUS ซึ่งสามารถแยกผนังของระบบทางเดินอาหารออกเป็นชั้นต่างๆ ได้ ดังในภาพตัวอย่างที่ 2 จะเห็นว่าผนังของเยื่อบุทางเดินอาหารสามารถแยกออกได้เป็น 5 ชั้น และพบว่ารอยโรคที่เรามองเห็นจากการส่องกล้องปกตินั้นกำเนิด มาจากชั้นที่ 1 ในผู้ป่วยรายนี้ผลจากการตัดชิ้นเนื้อพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งระบบทางเดินอาหาร โดยทั่วไปในอดีตการรักษามะเร็งระบบทางเดินอาหารจำเป็นจะต้องผ่าตัดกระเพาะออกไปทั้งกระเพาะ หรือเกือบทั้งกระเพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับเป็นซ้ำ แต่เมื่อเราใช้เครื่องมือ EUS ตรวจในผู้ป่วยรายนี้ ก็พบว่ารอยโรคมะเร็ง นั้นจำกัดอยู่เพียง ที่ชั้นที่ 1 จาก 5 ชั้นของระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น ผู้ป่วยรายนี้สามารถที่จะเข้ารับ การผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกไปได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการ ผ่าตัดใหญ่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำเครื่อง EUS มาใช้ในการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพแต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า

คุณสมบัติและประโยชน์ของ EUS ในการตรวจวินิจฉัยโรค

• การประเมินมะเร็งในทางเดินอาหาร การประเมินมะเร็งในทางเดินอาหารด้วยเครื่อง EUS นั้นให้ประโยชน์มาก ดังได้กล่าว มาแล้วว่า เครื่อง EUS สามารถแยกระดับของผนังทางเดินอาหารออกได้เป็น 5 ชั้น หรือ 3 ชั้น ขึ้นกับว่าเป็นอวัยวะใด การที่สามารถแยกชั้นได้ชัดเจนเช่นนี้ ทำให้สามารถประเมินได้ว่ามะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นนั้นกินลึกไปถึงชั้นไหน ทำให้มีผลต่อการกำหนดการรักษาได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งมะเร็งของหลอดอาหารและลำไส้ใหญ่นั้นการประเมินอย่างมีความแม่นยำทำให้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น หรือในบางครั้งถ้าพบว่ามะเร็งไม่ลึกจนเกินไปก็สามารถที่จะทำการเลาะออกด้วยการส่องกล้องได้เลยโดย ที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้อง เข้ารับการผ่าตัด

• การประเมินรอยโรคที่อยู่ชั้นข้างใต้เยื่อบุของระบบทางเดินอาหาร โดยปกติการส่องกล้องแบบธรรมดานั้นการตัดชิ้นเนื้อจะตัดทางด้านเฉพาะส่วนบน แต่การทำ EUS นั้นนอกจากบอกได้ว่าก้อนเนื้อมาจากชั้นไหนแล้ว ยังสามารถใช้เข็มผ่านกล้องเจาะเข้าไปที่บริเวณของก้อนเนื้อที่อยู่ใต้ต่อผนังเยื่อบุทางเดินอาหารได้ ทำให้ได้การวินิจฉัยจากผลชิ้นเนื้อ ดังภาพตัวอย่างที่ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก้อนเนื้อที่พบผ่านทางการส่องกล้องปกติมาจากชั้นทางด้านใต้ แต่ไม่สามารถบอก ได้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด และกำเนิดมาจากผนังชั้นไหน แต่ถ้าใช้ EUS ดูก็จะปรากฏออกมาเป็น ดังภาพที่ 2 ซึ่งสามารถบอกแหล่งกำเนิดของก้อนเนื้อได้ชัดเจน นอกจากนี้ถ้าดูจากลักษณะของกล้องจะพบว่า เข็มนั้นสามารถใส่ผ่านกล้อง EUS เพื่อไปเจาะชิ้นเนื้อได้

• การประเมินบริเวณตับอ่อนและทางเดินน้ำดี การประเมินตับอ่อนและทางเดินน้ำดี โดยทั่วไปใช้วิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการตรวจโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งให้ข้อมูลได้ดีพอสมควร แต่ในบางกรณีที่ก้อนเนื้อหรือรอยโรคมีขนาดเล็กการใช้ EUS จะสามารถเพิ่มกำลังขยายของภาพได้มาก และอาจค้นพบรอยโรคเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตรวจไม่พบ นอกจากนั้น EUS ยังสามารถที่จะทำการสืบค้นในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยจะมีนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องทางเดินน้ำดี ERCP ซึ่งวิธีนี้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ในอัตราร้อยละ 5 ถึง 10 หรือ 20 ซึ่งสูงกว่าการตรวจด้วยวิธี EUS เพื่อหานิ่วในท่อน้ำดี ที่มีอัตราการเกิด ภาวะแทรกซ้อนเพียง ร้อยละ 1 ถึง 2 เท่านั้น

• การประเมินรอยโรคที่ติดอยู่บริเวณหลอดอาหารในช่องทรวงอก ประโยชน์ในข้อนี้หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า EUS นั้นสามารถช่วยในการกำหนดระยะของโรคมะเร็งปอดได้ เพราะโดยปกติ EUS เป็นเครื่องมือของแพทย์ในระบบทางเดินอาหาร แต่ก็ยังสามารถใช้ในการแสดงให้เห็นภาพต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในช่องทรวงอกส่วนกลางที่อยู่ติดกับบริเวณของ หลอดอาหารได้ ในอดีตเมื่อยังไม่มีเครื่องมือ EUS ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่สงสัยว่าจะมีการลุกลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง การประเมินจะต้องใช้การผ่าตัดเข้าไปหรือต้องใช้กล้องขนาดเล็กเจาะเข้าทางกลางทรวงอกเพื่อที่จะไปตัดชิ้นเนื้อที่ บริเวณต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้น แต่ในปัจจุบันถ้าใช้เครื่องมือ EUS แพทย์สามารถทำการประเมินและเจาะชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองผ่านทางหลอดอาหารโดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้อง เข้ารับการผ่าตัด จึงช่วยลดอัตราภาวะแทรกซ้อน ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลืองในช่องทรวงอก EUS จึงเป็นเครื่องมือที่ดีในการประเมิน

• การประเมินผู้ป่วยที่มีรอยโรคในบริเวณทวารหนัก ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้และมีอาการท้องเสียเรื้อรัง อาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อบริเวณ รอบทวารหนักมีการฉีกขาด เครื่องมือ EUS นั้นสามารถแสดงให้เห็นถึงวงกล้ามเนื้อรอบบริเวณทวารหนักได้ว่ายังอยู่ครบหรือไม่ หรือมีรอยฉีกขาดที่ตำแหน่งใด เป็นมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่เป็นสาเหตุของการกลั้นอุจจาระไม่ได้ การตรวจในลักษณะนี้ใช้เวลาสั้นและผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวมาก แต่ข้อมูลที่ได้มีประโยชน์มาก และทำให้แพทย์นำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดการรักษาได้ถูกต้อง

• การประเมินต่อมน้ำเหลืองหรือก้อนเนื้อในช่องท้อง ซึ่งอยู่ลึกไปจากบริเวณของผนังทางเดินอาหารและไม่สามารถที่จะทำการเจาะหรือตรวจชิ้นเนื้อผ่านทางหน้าท้องได้ ในกรณีนี้แพทย์สามารถที่จะนำเครื่องมือ EUS สอดเข้าทางปากของผู้ป่วยผ่านทางหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อเข้าใกล้จุดใดจุดหนึ่งของบริเวณที่แพทย์สงสัยได้ จากนั้นแพทย์ก็จะทำการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเหล่านั้นออกมาตรวจ วิธีนี้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก เพราะกล้องนั้นเข้าไปชิดตัวก้อน ตรงข้ามกับการเจาะผ่านทางหน้าท้อง ซึ่งบางครั้งรอยโรคอยู่ลึกมาก ทำให้แพทย์อาจต้องเจาะผ่านทางผิวหนังเข้าไป ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลืองโตในช่องท้อง และไม่แน่ใจว่าต่อมน้ำเหลืองโตด้วยสาเหตุของการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือการเป็นวัณโรค บางครั้งถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ลึกเกินไป การที่จะให้แพทย์ทางรังสีวิทยาเจาะให้ได้ชิ้นเนื้อผ่านทางหน้าท้องนั้นก็ทำได้ลำบาก ในกรณีที่ทำไม่ได้ผู้ป่วยก็อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ถ้าใช้กล้อง EUS ต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้สามารถที่จะได้รับการเจาะชิ้นเนื้อ โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด

การใช้ EUS เพื่อการรักษา

การใช้ EUS เพื่อการรักษาโรคนั้นมีตัวอย่างมากมาย EUS สามารถเชื่อมต่อท่อน้ำดีเข้ากับระบบทางเดินอาหารได้โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดทางหน้าท้อง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการอุดตันของทางเดินน้ำดีหรือทางเดินอาหาร ผู้ป่วยบางรายสามารถที่จะใช้ EUS เพื่อเป็นเครื่องนำทางและเป็นเครื่องมือในการใส่สายท่อเชื่อมต่อทางเดินอาหารส่วนต่างๆ หรือทางเดินอาหารกับทางเดินน้ำดีได้เลย ซึ่งวิธีนี้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ และช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยจากโรคได้เช่นกัน

ข้อจำกัดของการทำ EUS เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงนั้น ผลหรือความแม่นยำที่ได้จะขึ้นกับประสบการณ์และความรู้ความสามารถของแพทย์ผู้ทำเป็นสำคัญ (Operator Dependent) ไม่เหมือนกับผลตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ ซึ่งค่าที่ได้เป็นตัวเลขที่ได้รับการกำหนดจากเครื่องมือแปลผลออกมาให้เรียบร้อย แต่การทำ EUS คือการตรวจโดยคลื่นเสียงความถี่สูงชนิดหนึ่ง ที่แพทย์ผู้ทำการส่องกล้องเพื่อตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องมีความชำนาญและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี โดยการฝึกฝนจะต้องมีการเรียนรู้ทั้งในทางทฤษฎี และการเรียนรู้ในทางปฏิบัติ รวมถึงควรมีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้มากพอ จึงจะสามารถให้การวินิจฉัยและการรักษาแก่ผู้ป่วยด้วยวิธี EUS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น: