4 ธ.ค. 2553

เอ็นอักเสบที่ข้อมือ...โรคที่เกิดง่ายและปวดทรมาน

หลายคนมีอาการปวดที่บริเวณข้อมือ แต่ไม่ทราบอาการแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าไม่ได้มาพบแพทย์
- อาการเอ็นอักเสบที่ข้อมือเกิดจากอะไร

อาการเอ็นอักเสบที่ข้อมือ (De quervain’s Tenosynovitis) เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นของเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ 2 เส้น ทำให้เกิดการตีบหรือหดตัวการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายในโดยส่วนใหญ่สาเหตุของอาการเกิดจากความเสื่อมสภาพจากอายุที่มากขึ้น รวมถึงโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ และพังผืดที่เกิดจากการผ่าตัด

- อาการเป็นอย่างไร

ในเบื้องต้น จะมีอาการช้ำ ระบม บริเวณนิ้วโป้งด้านปลายแขนใกล้กับข้อมือ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้นและขยายไปยังบริเวณปลายแขนช่วงข้อมือและนิ้วโป้ง หากมีอาการรุนแรงมาก จะเกิดการบวมบริเวณปลอกหุ้มเอ็นใกล้ๆ กับข้อมือ และทำให้การหยิบจับด้วยนิ้วโป้งและมือจะมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น

- หากมีอาการเอ็นอักเสบที่ข้อมือ จะได้รับการรักษาอย่างไร

ขั้นแรก คุณควรหยุดพักการใช้งานบริเวณมือและนิ้วโป้งซ้ำๆ บ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของมือ เช่น การหยิบของหนัก การเขียน หรือการบิดหมุนข้อมือ ควรให้ข้อมืออยู่ในแนวระนาบเดียวกับแขน

ในเบื้องต้น แพทย์อาจจะแนะนำให้เข้าเฝือกบริเวณแขนและนิ้วโป้ง เพื่อให้ข้อมือและกระดูกข้อต่อบริเวณใต้นิ้วโป้งอยู่กับที่ ลดการใช้งานของเส้นเอ็น รวมถึงรับประทานยาแก้อักเสบเพื่อลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็นและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
หากใช้วิธีการรักษาข้างต้นแล้ว ไม่เห็นผล แพทย์จะแนะนำให้ฉีดยาคอทิโซนที่ปลอกหุ้มเอ็นที่มีอาการบวม ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็นและบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ชั่วคราว ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำเพิ่มเติมให้ทำกายภาพ เพื่อช่วยลดหรือขจัดสาเหตุอาการเส้นเอ็นบริเวณนิ้วโป้งอักเสบ

ในรายที่มีฉีดยาแล้วไม่เห็นผล แพทย์จะวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัด เพื่อเพิ่มพื้นที่ไม่ให้เอ็นเสียดสีกันภายในปลอกหุ้มเอ็น โดยคนไข้ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล
หลังการผ่าตัด คนไข้จะต้องดูแลแผลผ่าตัดไม่ให้แผลโดนน้ำ และควรขยับนิ้วมือในบางครั้ง หลังผ่าตัด 10-14 วัน แพทย์จะนัดมาตัดไหม นอกจากนั้น นักกายภาพจะแนะนำวิธีการบริหารข้อบริเวณมือและนิ้วโป้งให้แข็งแรง วิธีการที่ไม่ใช้งานข้อมือและนิ้วโป้งมากเกินไป และวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บในอนาคต
หากคุณมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ ทางที่ดีควรมาพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและดูแลรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องทนทรมานกับอาการเจ็บปวดข้อมือที่คุณต้องพึ่งพาใช้งานไปอีกนาน

ไม่มีความคิดเห็น: