4 ธ.ค. 2553

โรคพาราไทรอยด์


หากใครที่พอจะติดตามข่าวอาการป่วยด้วยโรคพาราไทรอยด์ของคุณสเตลล่า มาลูกี้ นางเอกจากภาพยนตร์เรื่องฟ้าทะลายโจรมาบ้าง อาจจะรู้สึกว่าทำไมโรคพาราไทรอยด์ถึงได้มีพิษสงร้ายกาจขนาดนี้ และอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดโรค รวมถึงใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยง และเราจะเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่


พญ.สมพร วงศ์เราประเสริฐ อายุรแพทย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลเวชธานี ได้กล่าวถึงผลจากการทำงานของพาราไทรอยด์ที่ผิดปกติไว้อย่างน่าสนใจว่า โรคพาราไทรอยด์มีหลายประเภท ทั้งที่ทำงานมากและทำงานน้อยผิดปกติ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะโรคพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากทั้งเนื้องอกที่ต่อมพาราไทรอยด์ และต่อมพาราไทรอยด์โตขึ้นเอง

โดยในกลุ่มเนื้องอกมักไม่เป็นเนื้อร้าย มีเพียงน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นมะเร็งต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งเนื้องอกเหล่านี้มักไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด พบเพียงกลุ่มน้อยที่มาจากกรรมพันธุ์ และในหลายกรณีจะมีโรคแปลกๆ ร่วมด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เนื้องอกที่ตับอ่อน หรือแม้แต่มะเร็งไทรอยด์ โดยในกลุ่มที่เป็นกรรมพันธุ์มักพบในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีสาเหตุ ซึ่งมักพบที่อายุ 55 ปีขึ้นไป


ส่วนต่อมพาราไทรอยด์โตนั้น บางครั้งไม่มีสาเหตุ แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่ได้รับการฟอกไตอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดวิตามินดี และมีสารฟอสฟอรัสคั่งมาก ต่อมพาราไทรอยด์จึงทำงานหนักและโตขึ้นในที่สุด

พาราไทรอยด์ผิดปกติส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ต่อมพาราไทรอยด์นั้นแตกต่างจากต่อมไทรอยด์โดยสิ้นเชิง คำว่า “พารา” ที่อยู่หน้าคำว่าไทรอยด์มีความหมายว่า ข้างเคียง ดั้งนั้นคำว่า “พาราไทรอยด์” ก็คือ “ต่อมเคียงไทรอยด์” ซึ่งเป็นการบอกแค่ว่า ต่อมนี้อยู่ด้านหลังไทรอยด์ มีจำนวน 4 ต่อม ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว ถ้าจะเปรียบเทียบความแตกต่างของหน้าที่การทำงาน ก็คือ ต่อมไทรอยด์เป็นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยในการเผาผลาญอาหาร ผลิตความร้อนให้ร่างกาย ช่วยให้หัวใจเต้นปกติ รวมทั้งทำให้ระบบประสาทอัติโนมัติ ได้แก่ สมองทำงานเป็นปกติ ส่วนต่อมพาราไทรอยด์เป็นเหมือนโครงสร้างรถ คือมีหน้าที่ปรับสมดุลแคลเซียมในร่างกาย คือดึงแคลเซียมออกจากกระดูกมายังกระแสเลือด ดูดกลับแคลเซียมที่ท่อไตมาสู่กระแสเลือด รวมทั้งช่วยในการทำงานของวิตามินดีให้เป็นปกติ ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้

รูป ต่อมพาราไทรอยด์ และหน้าที่ของฮอร์โมนพาราไทรอยด์


เพราะฉะนั้นหากมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากเกินไป ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดจะสูง เมื่อแคลเซียมในกระดูกถูกดึงออกมามากๆ กระดูกก็จะบางลง และเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด และเมื่อแคลเซียมสูงมากๆ จะส่งผลต่อหัวใจ ร่างกายจึงพยายามปกป้องหัวใจ ด้วยการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ ไตทำงานหนัก เมื่อร่างกายขาดน้ำมากๆ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะไตวาย และเมื่อมีแคลเซียมอยู่ในปัสสาวะมาก ก็ทำให้เสี่ยงต่อนิ่วในไต หลายคนเป็นเรื้อรังมาก จะมีอาการปวดท้องบ่อยๆ หรือมีอาการทางจิตเวช พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงได้


รูป อาการของภาวะที่มี ฮอร์โมนฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากผิดปกต

สังเกตตัวเองได้หรือไม่

บางรายเป็นระยะเริ่มแรก มักไม่มีอาการ พบได้จากการตรวจระดับแคลเซียมในเลือดมีค่าสูงผิดปกติ แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งจะเริ่มปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำ แต่อาการเหล่านี้เราพบในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้บ่อยกว่า เนื่องจากโรคพาราไทรอยด์ไม่ใช่โรคที่พบได้บ่อย พบเพียง 1 ใน 1000 เท่านั้น ในขณะที่เบาหวานพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีอุบัติการณ์ของเบาหวานในคนไทย อายุมากกว่า 35 ปีถึงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์

อีกกลุ่มหนึ่งของโรคพาราไทรอยด์ พบจากการที่กระดูกพรุนแล้ว แพทย์จึงเจาะเลือดตรวจดู พบว่ามีระดับแคลเซียมในเลือดสูงจึงหาสาเหตุต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ขอเน้นว่าโรคนี้พบได้ไม่บ่อย และสาเหตุหลักส่วนใหญ่ของโรคกระดูกพรุนมักมาจากอายุที่มากขึ้น ฮอร์โมนเพศต่ำลง เช่น หมดประจำเดือน เป็นต้น โรคพาราไทรอยด์จึงไม่ใช่สาเหตุหลักของโรคกระดูกพรุน

แนวทางการรักษา
การรักษาหลักคือ การผ่าตัดเนื้องอกออก การจะทราบว่ามีเนื้องอกกี่ก้อนต้องผ่านการตรวจด้วยวิธี พาราไทรอยด์สแกนก่อน บางคนที่มีข้อห้ามในการผ่าตัด อาจใช้การฉีดแอลกอฮอล์ที่เนื้องอกเพื่อให้เนื้องอกฝ่อ แต่ต้องทำโดยผู้ที่ชำนาญและผลการรักษาไม่ดีเท่าการผ่าตัด โดยได้ผลในก้อนเนื้องอกเดี่ยวๆ มากกว่าต่อมพาราไทรอย์โตทั่วๆ ไป การรักษาสุดท้าย คือใช้ยารับประทาน ซึ่งผลการรักษาไม่ดีนัก และใช้รักษาในผู้ที่มีอาการไม่มากหรือไม่มีอาการเลย

การป้องกัน

หากเป็นชนิดไม่มีสาเหตุ ก็ไม่สามารถป้องกันได้ มีเพียงการตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้พบไม่บ่อย การตรวจสุขภาพดูระดับแคลเซียมในเลือดทุกปีจึงอาจไม่คุ้มค่า ในกลุ่มที่มีสาเหตุ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง สามารถป้องกันได้ด้วยการติดตามระดับแคลเซียม ฟอสฟอรัส และฮอร์โมนพาราไทรอยด์เป็นระยะ

พาราไทรอยด์ แม้จะเป็นเพียงต่อมเล็กๆ แต่มีหน้าที่สำคัญในการปรับความสมดุลของระดับแคลเซียมในเลือด หากพาราไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมากมาย และถึงแม้สาเหตุส่วนหนึ่งของโรคจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อย่างน้อยการตรวจสุขภาพประจำปี ก็จะช่วยทำให้เราทราบความผิดปกติ เพื่อรับมือได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น: