4 ธ.ค. 2553

มือชาจากเส้นประสาทโดนกดทับ

อาการมือชาเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้มือทำงานอยู่ในท่าเดิมนานๆ มีคนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับอาการเช่นนี้ โดยที่ไม่ทราบสาเหตุและต้องทนทรมานกับอาการปวด โดยที่ไม่ทราบถึงความรุนแรงของโรค

นพ.ทวีพงษ์ จันทรเสโน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เปิดเผยว่า อาการมือชาที่พบโดยส่วนใหญ่แล้วมาจากการกดทับเส้นประสาทที่ฝ่ามือ หรือ Carpal Tunnel Syndrome ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดมือและปวดร้าวขึ้นไปที่แขนมักจะมีอาการชาที่นิ้วมือ โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและบางส่วนของนิ้วนางตามแนวของเส้นประสาทอาการปวดจะมีมากขึ้น เมื่อมีการใช้งานในลักษณะการเกร็งอยู่นานๆ เช่น การจับมีด กรรไกร การทำงานช่างที่ใช้ค้อนหรือใช้เครื่องมือที่มีแรงสั่นสะเทือน ตั้งแต่เครื่องเป่าผมจนถึงเครื่องกระแทกเจาะคอนกรีต มักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือเวลาตื่นนอนตอนเช้า บางรายที่ถูกกดทับอยู่นานๆ จะเริ่มมีอาการอ่อนแรงของมือ เช่น จะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีแรงเวลากำมือ โดยเฉพาะการใช้มือหยิบของเล็กๆ จะทำได้ลำบากและมีกล้ามเนื้อลีบที่ฝ่ามือ


สาเหตุและพยาธิสภาพ
อาการปวดและชาเกิดเนื่องจากมีความดันสูงในช่องอุโมงค์ที่เส้นประสาทลอดผ่านที่บริเวณฝ่ามือ เนื่องจากมีการอักเสบและการหนาตัวของเนื้อเยื่อพังผืดที่คลุมช่องอุโมงค์นี้เกิดการกดทับเส้นประสาท ในรายที่เป็นอยู่มากๆ จะเกิดเนื้อเยื่อพังผืดบางๆ รัดเส้นประสาทอีกชั้นหนึ่ง ทำให้การรักษาด้วยยาไม่ได้ผล

การตรวจวินิจฉัย

จะมีอาการปวดแปลบๆ เวลาเคาะที่เส้นประสาทอาจพบมีกล้ามเนื้อลีบ ในบางรายอาจต้องใช้การตรวจระบบไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ

ปัจจัยเสี่ยงและโรคที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ โรคเบาหวาน , โรคข้ออักเสบ เช่น รูมาตอยด์, เก๊าต์, โรคต่อมไทรอยด์บกพร่อง, ภาวะตั้งครรภ์, ก้อนถุงน้ำหรือเนื้องอกในช่องอุโมงค์, กระดูกหักบริเวณข้อมือ, การใช้งานมือนานๆ, ภาวะบวมน้ำจากโรคไต โรคตับ



การรักษา

ให้หลีกเลี่ยงการใช้งานมือในลักษณะเกร็งนานๆ
ควบคุมหรือรักษาโรคประจำตัว โดยเฉพาะเบาหวานให้ดี
การใช้ยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ชนิดรับประทานมักจะได้ผลดี โดยอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
บางรายอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วยดามข้อมือชั่วคราว
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในช่องอุโมงค์จะช่วยอักเสบและบางรายจะหายได้
การผ่าตัด เป็นการรักษาในรายที่มีอาการมากหรือกล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง หรือลีบลง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยการผ่าตัดทำให้โรคหายขาดได้


การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

การผ่าตัดแบบเดิม

เป็นการผ่าตัดแบบเปิดแผล ซึ่งวิธีนี้จะต้องทำการผ่าตัดผ่านผิวหนัง ชั้นไขมัน พังผืด และกล้ามเนื้อ เพื่อแยกผิวหนังบริเวณฝ่ามือออกจนมองเห็นแผ่นเอ็นอย่างชัดเจน ศัลยแพทย์จะทำการตัดแผ่นเอ็นขวางออกจากกัน การผ่าตัดจะตัดและเลาะพังผืดที่รัดเส้นประสาท ซึ่งนับเป็นการผ่าตัดเล็กและผู้ป่วยสามารถใช้งานได้ภายใน 2 สัปดาห์ และจะใช้งานได้ตามปกติ ภายใน 4 - 6 สัปดาห์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นพอสมควร

การผ่าตัดแผลเล็กด้วยเครื่องมือพิเศษ

ปัจจุบันได้พยายามนำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ เพื่อลดความบอบช้ำและใช้เวลาพักฟื้นน้อย โดยล่าสุดได้มีการนำเครื่องมือที่มีเทคนิคพิเศษเพื่อการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Mini C.T.R. System) มาใช้ นับเป็นช่องทางการรักษาโรคมือชาจากเส้นประสาทโดนกดทับแบบใหม่ ในผู้ป่วยที่เคยล้มเหลวกับการรักษาด้วยวิธีแบบการแบบเดิมๆ เครื่องมือนี้ทำให้การผ่าตัดสะดวกและมีแผลที่เล็กมากเพียง 1.5-2 เซนติเมตรเท่านั้น ความบอบช้ำน้อยกว่า และฟื้นตัวได้เร็วกว่า ผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดก็สามารถกลับบ้านไปใช้มือทำกิจกรรมเบาๆได้ ที่สำคัญแผลจะเล็กมาก เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดยังไม่แพร่หลายในเมืองไทยขณะนี้ แต่ก็มีสถานพยาบาลบางแห่งได้นำเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีพงษ์กล่าวว่า “อาการมือชาหากปล่อยละเลยไว้นานอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่และอาการรุนแรงของโรคก็จะเพิ่มขึ้นตาม ผู้ที่ทำงานที่ต้องเกร็งมือในท่าเดิมนานๆ ควรหมั่นบริหารข้อมือ นิ้วมือ อยู่เสมอ เพื่อการป้องกันโรคดังกล่าว ซึ่งหากเป็นแล้ววิธีที่ดีที่สุดคือการปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสม”

ไม่มีความคิดเห็น: