4 ธ.ค. 2553

พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ

สาเหตุของโรค

พังผืดภายในบริเวณข้อมือมีการหนาตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ความดันภายในช่องข้อมือสูงขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเส้นประสาทไม่ดี ทำให้มีอาการชาขึ้นมาได้ หรือสาเหตุทางทุติยภูมิอื่นๆ เช่น มีเยื่อหุ้มรอบเส้นเอ็นหนาตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความดันสูงขึ้น โดยพังผืดไม่จำเป็นต้องหนาขึ้นก็ได้


อาการของโรค

โรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยกลางคน อาการเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการชานิ้วมือ ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วกลางและนิ้วนาง รวมทั้งนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือก็ชาได้ เริ่มแรกอาการมักจะชาตอนกลางคืน สะบัดข้อมืออาการจะดีขึ้น หรือชาตอนทำงาน ต่อมาอาการชาจะเป็นมากขึ้นและบ่อยขึ้น จนกระทั่งชาเกือบตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีแรง มีของหลุดจากมือโดยไม่ได้ตั้งใจ ถ้าเป็นนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการอุ้งมือด้านข้างลีบได้

การรักษาเบื้องต้น

ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยก่อนว่าใช่โรคนี้หรือไม่ เนื่องจากอาจเป็นโรคอื่น หรือการกดทับเส้นประสาทที่ตำแหน่งอื่นก็ได้ นอกจากนี้ ยังต้องแยกสาเหตุทางทุติยภูมิออกไปด้วย ถ้าแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ การรักษาเบื้องต้นได้แก่
การลดความดันในโพรงข้อมือ ได้แก่

1 การดามข้อมือ พบว่า ถ้าให้ข้อมืออยู่นิ่งๆ ตรงๆ จะมีความดันในโพรงข้อมือต่ำสุด ซึ่งจะทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงเส้นประสาทดีขึ้น ถ้าเป็นระยะแรก (พังผืดยังไม่หนามากนัก จะได้ผลค่อนข้างดี)

2 ปรับการใช้ข้อมือในการทำงานและชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง พบว่า การทำงานที่ต้องใช้ข้อมือกระดกขึ้น หรืองอข้อมือซ้ำๆ กันนานๆ รวมทั้งงานที่มีการสั่นกระแทก จะทำให้ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้นได้ การปรับอุปกรณ์การทำงานให้ถูกตามหลักอาชีวศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

3 ไม่พบว่ามียาที่ลดความดันในข้อมือที่ได้ผลจริงๆ ยกเว้นในรายที่เป็นโรคนี้แบบทุติยภูมิ เช่น จากภาวะรูมาตอยด์ และมีเยื่อหุ้มเอ็นหนาตัวขึ้น การให้ยาต้านโรครูมาตอยด์จะช่วยลดความดันในบริเวณข้อมือได้

การป้องกันการหนาตัวของพังผืด

ปกติใต้พังผืดจะมีเส้นเอ็นที่เราใช้งอนิ้วลอดผ่านอยู่ ถ้ามีการเกร็งจะทำให้มีแรงมากระทำต่อพังผืดนี้ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการหนาตัวขึ้นมาได้ ในปัจจุบันทำได้เพียงให้ผู้ป่วยปรับกิจกรรมการทำงานให้มีการเกร็งและงอนิ้วมือลดลง การทำให้เส้นประสาทอยู่ในภาวะที่เหมาะที่สุด ได้แก่ การกินอาหารที่ดีครบหมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด หรือการเสริมวิตามิน B จะช่วยได้
การใช้ยาชาผสมสเตียรอยด์ฉีดเข้าไปในโพรงข้อมือ
วิธีนี้แพทย์จะใช้ยาชาผสมกับยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าไป โดยจะหลีกเลี่ยงการฉีดตรงเส้นประสาท แต่จะฉีดไปในโพรงข้อมือรอบๆ แทน วิธีนี้พบว่าได้ผลดีเฉลี่ยประมาณ 40-50% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และปัจจัยอื่นๆ เช่น พบว่าในผู้ป่วยเบาหวาน รูมาตอยด์ จะตอบสนองต่อยาฉีดนี้น้อยลง
ถ้าการรักษาเบื้อต้นไม่ประสบความสำเร็จ และผู้ป่วยมีอาการชามากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัด

การผ่าตัดโรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ

โดยทั่วไปหลักการของการผ่าตัดโรคพังผืดทับเส้นประสาทในข้อมือ คือ การเข้าไปตัดพังผืดที่พาดผ่านบริเวณด้านหน้าข้อมือออก ซึ่งจะทำให้ช่องว่างในโพรงข้อมือเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% ทำให้ความดันในโพรงข้อมือลดลง และเลือดสามารถมาเลี้ยงเส้นประสาทได้ดีขึ้น

วิธีการผ่าตัดพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ

มีหลายวิธี โดยวิธีที่ศัลยแพทย์นิยมทำกัน และยังถือว่าเป็นวิธีมาตรฐาน ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิด (open carpal tunnel release) ซึ่งทำในห้องผ่าตัด โดยวิธีการวางยาสลบ หรือฉีดยาที่เส้นประสาทบริเวณคอ-รักแร้ หรืออาจทำภายใต้ยาชาก็ได้ ซึ่งปัจจุบันนิยมทำภายใต้ยาชามากขึ้น เนื่องจากวิธีการฉีดยาชาค่อนข้างปลอดภัย ผู้ป่วยไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร และการผ่าตัดสามารถทำได้ด้วยความราบรื่น
นอกจากนี้ วิธีนี้มีประโยชน์กว่าวิธีอื่น คือ สาเหตุเปิดเห็นเส้นประสาทได้โดยตรง โอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาทควรจะน้อยกว่า และสามารถทำผ่าตัดอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ตัดเยื่อหุ้มเอ็นออกด้วย เป็นต้น

วิธีการผ่าตัดทางเลือกอื่น

1 การผ่าตัดแบบเปิดแผลจำกัด (Limited open carpal tunnel release) วิธีนี้จะเปิดแผลประมาณ 1.5 เซนติเมตร ที่ฝ่ามือและสามารถตัดพังผืดออกได้เช่นเดียวกับวิธีแรก แต่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการตัด วิธีนี้จะมีแผลที่เล็กกว่า ผู้ป่วยกลับไปทำงานเร็วขึ้น ส่วนผลการรักษาก็พอๆ กับวิธีแรก

2 การผ่าตัดผ่านกล้อง (Arthroscopic carpal tunnel release) วิธีนี้จะใช้กล้องส่องเข้าไปใต้ต่อพังผืดข้อมือ และตัดพังผืดออกจากด้านใน วิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยกลับไปทำงานตามปกติได้เร็วขึ้น และเนื่องจากปราศจากแผลผ่าตัดที่มือ ผู้ป่วยจึงไม่เกิดการปวดที่ฝ่ามือหลังผ่าตัด ซึ่งเป็นปัจจัยที่พบได้บ่อยในการผ่าตัดแบบเดิม

ควรจะเลือกวิธีไหน
สามารถทำได้ทุกวิธี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความชำนาญของศัลยแพทย์เป็นหลัก

ไม่มีความคิดเห็น: