6 มี.ค. 2554

ใจสั่น ใจหวิว เสี่ยงหลอดเลือดสมองอุดตัน

ผู้ที่มีอาการใจสั่น ใจหวิว หน้ามืด คล้ายจะเป็นลมอันเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดปกติอย่านิ่งนอนใจเพราะหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจเสี่ยงให้เกิดอาการหลอดเลือดอุดตันและเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดปกตินั้นเกิดจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่งที่เรียกว่า AF (Atrial Fibrillation) ขณะเกิด AF หัวใจห้องบนจะเต้นด้วยความเร็วมากกว่า 400 ครั้งต่อนาที ทำให้หัวใจห้องล่างเต้นตามด้วยความเร็ว 100-200 ครั้งต่อนาที หัวใจห้องบนจะเต้นเร็วแต่บีบตัวได้ไม่ดีทำให้เลือดค้างอยู่ในหัวใจ ส่งผลให้เลือดตกตะกอนเป็นก้อนเล็กๆ อยู่ในหัวใจแล้วอาจหลุดลอยไปอุดตันในหลอดเลือดสมองส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้

นอกจากนี้ลิ่มเลือดยังอาจหลุดไปอุดหลอดเลือดแดงที่อื่นๆ เช่น หลอดเลือดแดงของแขน ขาหรือในช่องท้องก็ได้
อาการเตือนเบื้องต้นของหลอดเลือดสมองอุดตัน คือ ผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก อาจเป็นข้างซ้ายหรือขวาก็ได้ บางรายมีอาการหน้าชา ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ตามืดชั่วคราวและบางรายอาจมีอาการชาครึ่งซีกร่วมด้วย ผู้ป่วย AF ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 75 ปี เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลวจะเพิ่มโอกาสในการเป็นหลอดเลือดสมองอุดตันให้มีมากขึ้น อาจมากขึ้นถึง 16-20 เท่า

การรักษา AF อาจรักษาด้วยการรับประทานยาต้าน AF ร่วมกับรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายเลือดเพื่อป้องกันเลือดตกตะกอน

การรักษาด้วยการใช้ยาเป็นเพียงแค่การควบคุมและป้องกันเท่านั้น ไม่สามารถทำให้โรค AF หายขาดได้ แต่วิธีการหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมมากขึ้นคือการใช้คลื่นวิทยุเข้าไปจี้จุดกำเนิดไฟฟ้าส่วนเกินภายในหัวใจห้องบนที่ก่อให้เกิด AF ให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งจุดกำเนิดไฟฟ้าส่วนเกินนี้สามารถตรวจพบด้วยเครื่องตรวจค้นตำแหน่งการเกิดวงจรไฟฟ้าภายในหัวใจชนิด 3 มิติ (CARTO System)

การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถทำให้ผู้ป่วย AF หายขาดได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิตและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้อีกทางหนึ่งด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: