11 มี.ค. 2553

โรคตาแดง อาการโรคตาแดง



หน้าฝนมาเยือนทีไร ก็มักจะนำหลาย ๆ โรคมาสู่คนด้วย และหนึ่งในโรคสำคัญที่มักระบาดในฤดูฝน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ๆ ก็คือ โรคตาแดง นั่นเอง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา และติดต่อแพร่ระบาดผ่านกันได้อย่างรวดเร็ว




โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของ โรคตาแดง ในรอบ 9 เดือน ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 มกราคม - 14 กันยายน 2552 ว่า พบผู้ป่วย โรคตาแดง แล้ว 64,816 ราย โดยอัตราป่วยสูงสุด อยู่ที่ภาคใต้ คือ แสนละ 210 คน รองลงมาคือ ภาคเหนือ แสนละ 127 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสนละ 80 คน และภาคกลาง แสนละ 68 คน ทั้งนี้ตลอดปี 2551 มีผู้ป่วยทั้งหมด 91,838 ราย โดยภาคใต้มีอัตราป่วยสูงสุด แสนละ 211 คน รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ แสนละ 198 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสนละ 125 คน และภาคกลาง แสนละ 106 คน


เห็นความร้ายกาจในการแพร่ระบาดของ โรคตาแดง แล้ว วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้นำข้อมูลของ โรคตาแดง มาฝากกัน เพื่อให้สามารถป้องกันและเตรียมรับมือกับ โรคตาแดง ได้ค่ะ

โรคตาแดง (Conjunctivitis) เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตาจากการติดเชื้อไวรัส เป็นกลุ่มอาดิโนไวรัส (Adenovirus) ที่แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้มากกว่า 50 กลุ่ม และประมาณ 1 ใน 3 สามารถทำให้เกิด โรคตาแดง ได้ ทั้งนี้การติดเชื้อไวรัสตาแดงมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ

1.ชนิดคออักเสบร่วมด้วย


2.ชนิดตาอักเสบไม่มาก

3.ชนิดตาอักเสบรุนแรง ซึ่งชนิดสุดท้ายเป็นชนิดที่มีความรุนแรงมากกว่าทุกชนิด


อาการติดเชื้อไวรัสตาแดงชนิดมีเลือดออก (Acute hemorrhagic Conjunctivits) นี้ ระยะเวลาของโรคตาแดงนี้จะนาน 10-14 วัน

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โรคตาแดง


โรคตาแดง สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน ผุ้ใหญ่ ตลอดจนผู้สูงอายุ และมักเกิดในโรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน สถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และ โรคตาแดง มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน และระยะเวลาของโรคจะเป็นประมาณ 5-14 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น

การติดต่อ โรคตาแดง


โรคตาแดง สามารถติดต่อได้ง่าย ๆ โดย


1.การคลุกคลีใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรคตาแดง ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการติดต่อ โรคตาแดง จากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง


2.ใช้เสื้อผ้า หรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย


3.ฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา


4.แมงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา


5.ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะมือและใบหน้า


ทั้งนี้ โรคตาแดง จะไม่ติดต่อทางการสบสายตา ทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน และอาการต่างๆ จะเกิดได้ภายใน 1-2 วัน และระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน


อาการของ โรคตาแดง


ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส จะมีอาการตาแดง เคืองตา ตาขาวจะมีสีแดงเรื่อ ๆ เพราะมีเลือดออกที่เยื่อบุตาขาว น้ำตาไหลเจ็บตา มักจะมีขี้ตามากร่วมด้วย โดยอาจเป็นเมือกใสหรือสีเหลืองอ่อน จากการติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน ต่อมน้ำเหลืองหลังหูมักเจ็บและบวม มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจะติดต่อมายังตาอีกข้างได้ภายใน 1-2 วัน ถ้าไม่ระวังให้ดี ถ้าระมัดระวังไม่ให้น้ำตามข้างทาง ที่ติดเชื้อไวรัสมาถูกตาข้างที่ดีจะไม่เป็นตาแดง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นไปอีกข้างอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้บางรายอาจมีตาดำอักเสบ ทำให้เคืองตามาก และมีแผลที่ตาดำชั่วคราวได้


โรคแทรกซ้อน โรคตาแดง


มีอาการเคืองตามาก ลืมตาไม่ค่อยได้ มักมีอาการกระจกตาอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งจะดีขึ้นได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หรือบางรายเป็น 1-2 เดือน ทำให้ตามัวพร่าอยู่เป็นเวลานาน

การรักษา โรคตาแดง

จะรักษา โรคตาแดง ตามลักษณะอาการของโรค เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง ถ้ามีขี้ตามากก็หยอดยาปฎิชีวนะ มีไข้ เจ็บคอ ก็ใช้ยาแก้อักเสบร่วมด้วยกับยาลดไข้ ยาลดปวด


ผู้ป่วย โรคตาแดง ต้องพยายามรักษาสุขภาพพักผ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการตาแดงอย่างรุนแรง ไม่ควรทำงานดึกควรนอนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้นมีกระจกตาอักเสบ เคืองตามาก จึงปิดตาเป็นครั้งคราว และควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสง


ควรงดการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน ทุกครั้งที่จับตาควรล้างมือให้สะอาด ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ จะแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปในน้ำได้


หากรักษาด้วยยาป้ายตา หรือยาหยอดตานานเกิน 7 วัน แล้วอาการยังไม่ทุเลา หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดตามาก ตามัว ขี้ตาเป็นหนอง ลืมตาไม่ขึ้น มีไข้สูง ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะหากทิ้งไว้นานถึงขั้นตาบอดได้

การป้องกัน โรคตาแดง

1.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ

2.ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

3.ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที


4.อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา

5.หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ


6.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน เพื่อป้องกันการกระจายของโรค

7. หลีกเลี่ยงการใช้มือแคะ แกะ เกาหน้าตา


ทั้งนี้หากมีอาการตาแดง ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดอาการตาแดง ซึ่งนอกจากจะเกิดจากเชื้อไวรัสแล้ว อาจเกิดจากสารเคมี หรือรังสี โดยเฉพาะรังสีอุลตราไวโอเลตได้

ข้อแนะนำ สำหรับผู้ป่วย โรคตาแดง


1.หากเป็น โรคตาแดง แล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยควรหยุดเรียน หรือหยุดงานรักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ โรคตาแดง ลุกลามหรือติดต่อสู่คนอื่น


2.หากใช้กระดาษ หรือสำลีเช็ดขี้ตา เช็ดหน้าแล้ว ควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิด


3.ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดขี้ตา เพราะผ้าเช็ดหน้าจะเก็บสะสมเชื้อไว้และติดต่อไปยังผู้อื่นได้


4.ควรใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองแสง

5.ไม่ควรใช้ผ้าปิดตา เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น


6.งดใส่คอนแทกเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ


7.ควรพักผ่อนให้เต็มที่ และพักการใช้สายตา

8.หมั่นรักษาความสะอาด และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่จับบริเวณใบหน้าและตา เนื่องจาก โรคตาแดง จะติดต่อโดยการสัมผัสมากที่สุด การล้างมือจะช่วยตัดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น: