13 ก.ค. 2552

ความดันโลหิตสูง....ไม่ควรมองข้าม 1

ความดันโลหิตสูง...ทำไมไม่ควรมองข้ามต้องรีบรักษา

ความดันโลหิตสูง คือ ภาวะที่แรงดันในหลอดเลือดแดงสูง ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เกิดความเสียหายแก่อวัยวะหลายระบบในร่างกายซึ่งค่าความดันโลหิตมีสองค่า คือตัวบน (Systolic)เป็นความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบเลือดออกไปสู่ระบบไหลเวียนของโลหิต และตัวล่าง (Diastolic)เป็นความดันของหลอดเลือดแดงขนาดที่หัวใจ คลายตัว ค่าความดันปกติในปัจจุบันถือเอาค่าตัวบน ไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอทถ้าความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอท ในระยะยาวจะทำให้เกิดโรคแทรกได้ดังนี้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบตันในอวัยวะต่างๆได้ทั้วร่างกาย เช่น

- หลอดเลือดแดงในหัวใจตีบตันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหัวใจวายได้

- หลอดเลือดแดงในหัวใจตีบตันทำให้สมองขาดเลือด,เนื้อสมองตาย

- บางที่เส้นเลือดในสมองแตกและเลือดออกในสมองทำให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิตได้

- หลอดเลือดแดงฝอยที่ไตแข็งทำใหไตเสื่อม และไตวายได้

ความดันโลหิตสูง คือ ฆาตกรเงียบ

ความดันโลหิตสูงทำไมต้องรีบรักษา

ความดันโลหิตสูงที่ถูกละเลยเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุใหญ่ของโรคหัวใจและอัมพาต ทำให้คนไข้พิการและเสียชีวิต เป็นจำนวนมาก การรักษาทานยาควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้มากความดันโลหิตสูง คือ ฆาตกรเงียบ ( Silent Killer ) เนื่องจากความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่ทำให้มีอาการอะไร ถ้าไม่วัดดูก็จะไม่ทราบว่ามีความดันสูง บางคนทราบว่าความดันสูง แต่ไม่มีอาการก็ละเลยไม่รักษา จนเกิดโรคแทรกซ้อนทำให้พิการหรือเสียชีวิต ความดันโลหิตสูงจึงได้ชื่อว่าเป็นฆาตกรเงียบ ( Silent Killer )

ความดันโลหิตสูง : มีสาเหตุจากอะไรรักษาให้หายได้ไหม

ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ (กว่า 90%)ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงส่วนหนึ่งอาจเป็นจากพันธุกรรม ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากอาหารและสิ่งแวดล้อมพวกนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ควบคุมได้โดยการทานยาเป็นประจำมีคนไข้จำนวนน้อย ราว 5% ที่มีความดันโลหิตสูงเนื่องจากโรคอื่น เช่น เนื้องอกของต่อมหมวก ซึ่งถ้าผ่าตัดออกความดันโลหิตก็จะเป็นปกติและหายขาดได้จะเห็นว่าโรคความดันโลหิตส่วนใหญ่เป็นโรคประจำตัวไม่หายขาดจึงต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการป้องกันโรคแทรกซ้อน

ความดันโลหิตสูง : รักษาอย่างไร

การรักษาขั้นแรกเลย คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำรงชีวิต เช่น

- ลดอาหารเค็ม
-ออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3ครั้ง, ครั้งละ 20 นาที
-ควบคุมน้ำหนักตัวอย่างให้อ้วน
-งดบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบตัน

คนที่มีความดันสูงเล็กน้อย และตั้งใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าวอาจควบคุมความดันได้โดยไม่ต้องทานยา แต่ถ้าความดันสูงมาก มาตราการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะควบคุมความดันได้ จึงจำเป็นต้องทานยาควบคู่ไปด้วย ซึ่งโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้หลอดเลือดแดงอุดตัน ต้องรักษาควบคุมน้ำตาลและไขมันในเลือดให้ดีด้วย

ความดันโลหิตสูง : ทานยาอะไรดี

ปัจจุบันมียาควบคุมความดันออกมามากมายหลายชนิดต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน บางทีแพทย์ต้องปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน บางคนทานยาครึ่งเม็ดความดันก็ลงดี แต่บางคนต้องทานหลายชนิดจึงควบคุมความดันได้

ทำอย่างไรจึงจะทราบว่าความดันปกติดีแล้ว

ต้องวัดความดันเพียงอย่างเดียวจะใช้ความรู้สึก เช่น อาการปวดหัวไม่ได้ การมาพบแพทย์และวัดความดันสอง–สามเดือนครั้งไม่พอ ควรวัดความดันเองที่บ้านเป็นระยะ ๆ เครื่องวัดความดันระบบดิจิตอลที่เชื่อถือได้ วัดได้ใกล้เคียงกับการวัดด้วยหูฟังและปรอท

ทานยาลดความดันต่อเนื่องนาน ๆ แล้วทำให้เป็นโรคไตหรือไม่

ยาลดความดันส่วนใหญ่ออกฤทธิ์สั้นและไม่สะสมในร่างกายไม่ทำให้เป็นโรคไต แต่ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้การตรวจรักษาอาจทำให้ไตเสื่อมและวายได้ และอาจเกิดโรคแทรกซ้อน คือ

- หลอดเลือดแดงเล็กในตาแข็งและตีบ อาจมีเลือดออกที่จอภาพและประสาทตา ทำให้ตามัวหรือบอดได้

- หลอดเลือดแดงที่ไม่เปลี่ยนแขนขาตีบตัน ทำให้มือเท้าขาดเลือดและเน่าได้

- หลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องอกและช่องท้องโป่งพองและแตกได้ ทำให้เสียชีวิตทันที

จะเห็นได้ว่าโรคความดันโลหิตสูงอาจดูเหมือนไม่มีอันตรายมาก แต่ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้และไม่ค่อยมั่นตรวจวัดความดันอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ไม่มีความคิดเห็น: