13 ก.ค. 2552

คำถาม-คำตอบ ถ้าคุณเป็นไข้หวัด 2009

Q :หน้ากากธรรมดาหรือ surgical mask จะป้องกันได้จริงมั้ย

A : เท่าที่มีข้อมูล ณ ขณะนี้และจากคำแนะนำของ WHO บอกว่าการติดต่อป้องกันโดย dropplet precaution ซึ่งก็คือละอองน้ำลาย น้ำมูกเวลาไอ แปลว่าป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายจากผู้ป่วยได้ถ้าใส่หน้ากากอยู่ ซึ่งจะต่างจากวัณโรคหรือ TB ที่เป็น aerosol precaution ที่เป็นละอองขนาดเล็กกว่ามากต้องป้องกันด้วยหน้ากาก N-95 ที่มีรูขนาดเล็กกว่า และระยะของ dropplet precaution ก็คือ 1 เมตร แปลว่าถ้ายืนห่างจากผู้ป่วย 1 เมตรควรจะปลอดภัย

Q : ทำไมเป็นแล้วถึงมีคนตาย

A : สาเหตุการตายก็คือเกิดภาวะปอดบวมจากเชื้อไวรัส (viral pneumonia) และอาจเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงหรือ ARDS ตามมา ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มากกว่า 90% จะมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่เรารู้จักกันทั่วไป และส่วนน้อยมากกว่าหนึ่งเปอร์เซนที่จะเกิดปอดอักเสบ และอาการก็คือไอมากขึ้น เสมหะอาจมากขึ้น เหนื่อยหอบ หายใจไม่อิ่ม อาจรุนแรงจนมีมือ เท้าเขียวจากการขาดออกซิเจน

Q : ใครบ้างต้องไปหาหมอ แล้วหมอจะทำอะไรให้บ้าง

A : ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว หรือเป็น confirmed case และมีอาการไข้ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38 องศา ร่วมกับมีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกเป็นหลัก หรือมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ควรไปพบแพทย์ แพทย์จะพิจารณาทำ nasal swab คือใช้ลวดพันสำลีใส่ไปในรูจมูกทั้งสองข้างและตรวจด้วยชุด rapid test ก็จะทราบผลภายในเวลาประมาณสิบนาทีว่าเป็นไข้หวัดใหญ่เอ หรือ influenza A แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็น influenza A H1N1 จะต้องส่งผลไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อให้ได้คำตอบดังกล่าว ซึ่งจะได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง ซึ่งการรักษาโดยการให้ยา oseltamivir นั้นยังมีความแตกต่างกันบ้าง ว่าจะเริ่มให้เมื่อ rapid test positive เลยหรือไม่ หรือจะรอผลจากกรมวิทย์ก่อน หรือแม้กระทั่งยืนยังว่าเป็น H1N1 แล้วจะต้องกินยาหรือไม่ โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆไปจากความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

ซึ่งจริงๆแล้วเราเป็นหวัดกันมาไม่รู้กี่รอบแล้วในชีวิตนี้มันก็หายได้เองทั้งนั้นและมันก็มีโอกาสจะเป็นปอดบวมแทรกซ้อนอยู่แล้ว แต่อย่างที่บอก อาการหลักคือต้องมีไข้ เพราะฉะนั้นถ้าท่านสงสัยว่าจะติดเชื้อ แต่ไม่มีไข้ แนะนำว่าอาจไปซื้อปรอทมาวัดไข้เองที่บ้านแล้วจดเวลาและอุณหภูมิไว้ครับ เพราะถึงไปโรงพยาบาลก็คงไม่ได้ทำ nasal swab แน่ๆ และก็คงไม่มีใครให้กินยาด้วย อ้อถ้าวัดแล้วก็กินยาลดไข้พาราเซตามอลได้นะครับไม่ต้องทนมีไข้อยู่ ซึ่งถ้ามีไข้และมีประวัติเสี่ยงและอาการเข้าได้ก็ไปโรงพยาบาลอย่างที่บอกไป ส่วนถ้ามีไข้ตอนดึกๆก็ยังไม่ต้องไปทันทีก็ได้ครับ สามารถรออยู่บ้านดูอาการของปอดอักเสบอย่างที่บอกไปก่อน ตอนเช้าค่อยมาก็ยังทันครับ

Q : สมมุติว่าได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็น influenza 2009 เนี่ยแล้วยังไงต่อ

A : แพทย์อาจพิจารณาให้กินยา oseltamivir วันละสองเวลา เป็นเวลาห้าัวัน โดยไม่จำเป็นต้อง admit ในโรงพยาบาล แต่ให้กลับบ้านไปแล้วแยกตัวเองหรือป้องกันจากคนรอบข้าง หากมีอาการแย่ลงจึงมาโรงพยาบาล ไม่กี่วันไข้ก็จะลงเอง มีแค่ส่วนน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซนที่เกิดปอดอักเสบต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลครับ

Q : แล้วถ้าเกิดเป็น influenza 2009 แล้วดันมีปอดอักเสบรุนแรงหรือ ARDS ขึ้นมาจริงๆเนี่ยจะเสียชีวิตทุกคนมั้ย

A : ถ้าเกิด ARDS ขึ้นคุณอาจต้องได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจอาจต้องนอนใน ICU แต่ตัวเลขการเสียชีวิตจาก ARDS โดยรวมอยู่เพียงแค่ประมาณ 10-15% ครับ สรุปคืออย่าตื่นตระหนกจนเกินเหตุ มันไม่ได้รุนแรงอย่างที่เข้าใจ ตัวเลขคนที่เสียชีวิตที่เป็นร้อยก็คือช่วงแรกที่ระบาดใน maxico ที่ยังไม่มีการเฝ้าระวัง ผู้ป่วยจึงมีอาการมากจนเกิด ARDS ขึ้นครับ ( ข้อมูลทั้งหมดเป็นการอ้างอิงจากประสบการณ์การทำงานและความเห็นของผู้เชี่ยวชาญครับ หวังว่าคงได้ตอบคำถามที่สงสัยบ้าง )

ไม่มีความคิดเห็น: