21 ก.ค. 2552

เคล็ดลับดูสุริยุปราคา

ดวงตาปลอดภัย

ในการเสวนาทางวิชาการของสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่จัดให้แก่สมาชิก และครู อาจารย์ที่สนใจ เรื่อง สุริยุปราคาเต็มดวงแห่งศตวรรษ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้มีการแนะนำถึงวิธีการดูปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ให้ปลอดภัยต่อดวงตา

นายสิทธิชัย จันทรศิลปิน นักวิชาการศึกษา ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้อง ฟ้าจำลอง) กรุงเทพฯ ได้แนะเคล็ดลับการ ดูสุริยุปราคาให้ปลอดภัยต่อดวงตาว่า วิธีดูสุริยุปราคาที่ง่ายและดีที่สุด ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ราคาถูกหรือแพงนั่นก็คือ ต้องจำไว้ให้ขึ้นใจว่า ลดแสงจ้า อย่าดูนาน เพราะแสงอาทิตย์มีความรุนแรงและมีรังสีที่อันตรายต่อดวงตา หากจ้องมองนาน ๆ เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต จักษุแพทย์บอกว่า เซลล์จอตาสามารถสร้างทดแทนขึ้นมาได้ หากไม่โดนทำลายอย่างรุนแรง

วิธีการดูสุริยุปราคาที่ดีที่สุด นอกจากต้องใช้อุปกรณ์แล้ว ขณะดูให้นับหนึ่งถึงห้า แล้วหยุด มองสีเขียวหรือบรรยากาศทั่วไป เพื่อให้สายตาได้พัก แล้วค่อยดูใหม่ ก็นับหนึ่งถึงห้าอีกเช่นกัน

อุปกรณ์ที่จะใช้ดูนั้น นักวิชาการจากท้องฟ้าจำลองบอกว่าถ้าทุนน้อยก็ใช้วิธีการแบบคนโบราณ ก็คือ เอากระจกใสมารมควันเทียนให้มืดสนิท วิธีตรวจสอบก็คือ เอากระจกที่รมควันเทียนมาส่องดูหน้าคน หากยังมองทะลุก็ต้องรมควันเทียนอีกที ให้แน่ใจว่ามองหน้าใครไม่เห็นแล้ว จึงจะเอาไปส่องดูดวงอาทิตย์ได้ แต่ก็มีข้อควรระวังก็คือ ต้องไม่ให้เกิดริ้วรอยขีดข่วนหรือรอยนิ้วมือบนบริเวณที่รมควัน เพราะจะทำให้แสงเล็ดลอดเข้ามาทำอันตรายต่อดวงตาได้ ต้องพึงระวังหากนำไปใช้กับเด็ก ๆ

ใช้ฟิล์มถ่ายรูปขาวดำ วิธีการดั้งเดิมก็คือ ดึงฟิล์มออกจากกลักให้โดนแสงสว่างแล้วนำมาติดบนกระดาษแผ่นใหญ่ที่เจาะรูไว้แล้ว ให้กระดาษช่วยบังแสง แต่ในยุคการถ่ายรูปดิจิทัล ฟิล์มขาวดำกลายเป็นของหายากไปแล้ว

ฟิล์มเอกซเรย์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เป็นอันตรายมากหากใช้ทั้งแผ่น เพราะแสงเล็ดลอดผ่านจุดที่มีภาพถ่าย ต้องใช้บริเวณขอบสีดำ ตัดออกมาเฉพาะส่วนนั้น หากนำมาส่องหน้าคนแล้วยังมองเห็นกันอยู่ก็ตัดมาซ้อนกันหลาย ๆ แผ่น จนกว่าจะมองไม่เห็นใคร จึงจะใช้มองดวงอาทิตย์ได้อย่างปลอดภัย

หากมีตังค์มากหน่อยก็ใช้แผ่นไมลาร์ ซึ่งเคลือบโลหะพิเศษมาปิดหน้ากล้อง แต่ก็อาจจะทำให้แสงโคโรน่าของอาทิตย์ไม่สวย ห้ามนำกล้องดูดาวมาใช้ส่องดูดวงอาทิตย์ เพราะเลนส์กล้องดูดาวเป็นจุดรวมแสง ทำให้ตาบอดได้ ต้องใช้แผ่นไมลาร์ปิดเลนส์ก่อน แต่ขณะใช้ก็ต้อง ระมัดระวังไม่ให้แผ่นไมลาร์เลื่อนหลุด

กล้องรูเข็มก็เป็นอีกวิธี เพียงแค่เจาะ รูกระดาษแล้วดูผ่านฉากจะช่วยถนอมสายตา ได้ หรือใช้วิธีอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ หากในช่วงเกิด สุริยุปราคา เราจะเห็นแสงลอดใบไม้เว้าแหว่งตามแสงดวงอาทิตย์ เวลาถ่ายรูปจะเกิดความสวยงามแบบแปลก ๆ ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้

อุปกรณ์ที่ห้ามนำมาใช้เด็ดขาดก็คือ แว่นกันแดด ไม่ว่าจะใช้เลนส์สีเข้มแค่ไหน ก็เป็นอันตรายต่อดวงตา หากนำมาใช้มองดวงอาทิตย์

แต่ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์แบบไหน ก็ต้องไม่ลืมกฎที่ว่า ลดแสงจ้า อย่าดูนาน ทุกครั้งที่ดูสุริยุปราคา ให้นับหนึ่งถึงห้าแล้วหยุดพักสายตา แล้วค่อยมาดูใหม่ใช้วิธีการเดิม

เช้าวันพุธที่ 22 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 07.00-09.00 น. หากอยู่ในภาคเหนือ เช่น เชียง ราย ก็จะมีโอกาสเห็นสุริยุปราคาบางส่วนมากหน่อย เห็นดวงอาทิตย์แหว่งถึง 69% ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ จะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งเพียง 42% ถ้าอยากดูแบบเต็มดวงก็ต้องไปอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศจีน ซึ่งโชคดีที่เป็นพื้นที่ในเงามืด ทำให้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงแห่งศตวรรษนาน 6 นาที 39 วินาที

เช้าวันพุธ ถ้าอากาศเป็นใจ ไม่มีเมฆฝนมาบัง เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ หากทำงานดึก นอนตื่นสาย ก็ตัดใจตื่นเช้ากันสักวันน่า.

สุริยคราส ดิจิทัล

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งล่าสุดที่จะเกิดขึ้น และคนไทย (อาจ) มีโอกาสได้ชมในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ จะแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ ที่มีเทคโนโลยีการถ่ายภาพพัฒนาสู่ระบบดิจิทัล ช่วยให้การบันทึกเหตุการณ์ทำได้ง่าย ฉับไว ด้วยคุณภาพที่ไม่ด้อยกว่าฟิล์มโดยเฉพาะยามที่กล้องดิจิทัลเป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพที่แพร่หลาย อยู่ในมือคนรักการถ่ายภาพทุกระดับ ทุกเพศ วัย ครั้งนี้จึงน่าจะมีคนอยากถ่ายภาพกันเป็นจำนวนมากการชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ดับมีข้อควรระวังที่กำชับนักหนาว่า อย่าดูดวงอาทิตย์โดยตรง เพราะมีอันตราย การถ่ายภาพก็ต้องเคร่งครัดกับหลักเดียวกัน

ถ้าไม่ระวังกล้องก็พังได้

ดร.ชวาล คูร์พิพัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางภาพถ่ายและเทคโนโลยีทางการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกว่า กล้องดิจิทัลทั้งแบบสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (เอสแอลอาร์) และคอมแพ็กต์ถ่ายสุริยคราสได้เหมือนกันแต่ยาก ต้องหลีกเลี่ยงการเล็งดวงอาทิตย์โดยตรง โดยใช้ฟิล์มที่ดำสนิทปิดปกป้องทั้งเลนส์และดวงตา ควรเป็นฟิล์มลิธ (Lith) ที่ใช้ในการเตรียมสิ่งพิมพ์ใช้แล้ว ซึ่งขอหรือขอซื้อจากร้านทำแม่พิมพ์ “ห้ามใช้ฟิล์มสไลด์” เพราะดำไม่พอ เป็นอันตรายแก่ลูกตาได้

การถ่ายภาพก็ควรใช้ไอเอสโอ (ค่าความไวแสงต่ำ) กดชัตเตอร์ถ่ายแล้ว ลองเปิดย้อนดู หากไม่พอดีก็ปรับ กล้องคอมแพ็กต์ก็ทำได้ แต่จะขลุกขลักหน่อยตอนใช้ฟิล์มบังตะวัน

นักถ่ายภาพอีกคน วรนันท์ ชัชวาลทิพากร ผู้ได้รับรางวัล นักถ่ายภาพอันดับ 1 ของโลก ประเภทภาพท่องเที่ยว จากสมาคมถ่ายภาพแห่งอเมริกา (PSA) แนะนำว่า ให้ใช้ฟิลเตอร์สีเทาเข้ม เปิดช่องรับแสงแคบ ๆ เลือกไอเอสโอต่ำ และไม่ควรเล็งหรือตั้งกล้องให้หันเข้าหาดวงอาทิตย์นาน เพราะเลนส์จะรวมแสงเข้าที่ระบบวัดแสงทำให้กล้องเสียหายได้ วิธีป้องกัน หลังจากถ่ายสัก 2-3 ช็อตให้เปลี่ยนกล้องไปทางอื่น

ส่วน สงคราม โพธิวิไล นักถ่ายภาพ ผู้บรรยายการถ่ายภาพหลายสถาบัน กล่าวย้ำเช่นกันว่า อย่าเล็งกล้องที่ดวงอาทิตย์นาน เพราะจะมีผลต่อระบบวัดแสง โดยเฉพาะตอนตั้งกล้องทิ้งไว้ ไม่ควรหันไปทางดวงอาทิตย์ หากจะทำเช่นนั้นให้ใช้หมวกหรือฝาครอบเลนส์ปิด สำหรับฟิลเตอร์เพื่อการถ่ายภาพให้ใช้เอ็นดี 8 หากไม่มี ก็ซื้อฟิล์มขาวดำขนาด 120 ส่งล้างห้องมืดโดยไม่ต้องถ่ายเพื่อให้ได้ฟิล์มดำมาปิดหน้าเลนส์

การถ่ายภาพควรใช้ขาตั้งกล้อง เปิดช่องรับแสงแคบกล้องคอมแพ็กต์ก็ถ่ายได้ด้วยหลัก เดียวกันเมื่อจะถ่ายให้ยกกล้องไปทางดวงอาทิตย์แล้วกดชัตเตอร์โดยไม่ต้องเล็ง เปิดดูภาพ ไม่พอใจก็ปรับกล้อง ถ่าย ใหม่.

ไม่มีความคิดเห็น: