18 ก.ค. 2552

คลายเครียดง่ายๆ ด้วยโยคะ

Beat Stress With Yoga (Health plus)

การพักผ่อนเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะกับจิตใจ หลังการตรากตรำทำงานมาตลอดวัน หรือเหน็ดเหนื่อยกับการดูแลลูกๆ คุณจำเป็นต้องผ่อนคลายและหาเวลาเป็นส่วนตัว ซึ่งโยคะจัดเป็นวิธีผ่อนคลายที่ใครๆ ก็ทำได้

โยคะเป็นกระบวนการบำบัดที่ล้ำลึก เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพลังงานในร่างกายและจิตใจ ทำให้ร่างกายจิตใจ และอารมณ์กระฉับกระเฉง โยคะคล้ายกับการแพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นการทำงานของชี่(พลังงาน)และเมอริเดียน(ทางเดินพลังงาน) ส่วนโยคะเป็นการทำงานของเส้นพลังงาน หรือที่เรียกว่า นาดิส (nadis) และพลังงานที่ไหลผ่านเส้นพลังงานที่เรียกว่า ปราณ (prana) การฝึกโยคะ ช่วยเสริมความกระปรี้กระเปร่า ลดความเครียด ด้วยการเรียนรู้วิธีเข้าถึงแหล่งเก็บพลังงานที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย

รู้จักความเครียด

ความเครียดมีบทบาทใหญ่หลวงต่อชีวิตประจำวัน เป็นที่ทราบกันดีว่าความเครียดเป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงและมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกกับโรคต่างๆ เช่นโรคซึมเศร้า อ่อนเพลีย และความดันโลหิตสูง “เมื่อตกอยู่ภายใต้ความเครียด ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงไล่ตั้งแต่ อาการปวดตึงกล้ามเนื้อ อาหารไม่ย่อย มีผลให้อัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร และการหายใจเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่เรา ต้องจัดการกับความเครียดก่อนที่จะถูกความเครียดครอบงำและเพื่อทราบถึงผลเสียที่เกิดจากความเครียดได้แก่ ความอ่อนเพลีย อารมณ์ฉุนเฉียว ซึมเศร้า และขี้หลงขี้ลืม ทั้งหมดนี้บรรเทาได้ด้วยโยคะ” “ฉันคิดว่าการบริหารจิตใจและการหายใจของโยคะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับความเครียดและความวิตกกังวล” สเตลลา เวลเลอร์ นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านโยคะกล่าว

โยคะเพื่อบรรเทา
การผ่อนคลายและเทคนิคการหายใจง่ายๆ ช่วยลดความเครียดอย่างได้ผล การศึกษาพบว่าคนที่เล่นโยคะเป็นประจำจะมีวิตกกังวลน้อยลง ความดันโลหิตลดลง การทำงานของหัวใจมีประสิทธิภาพดีขึ้น การฝึกเป็นประจำช่วยให้คุณเข้าถึงต้นตอของความเครียดและระงับมันได้ “กุญแจสำคัญของการบรรเทาความเครียดคือการหายใจ และฮาธาโยคะ (hatha yoga) ซึ่งมุ่งเน้นที่การลดความเครียด”

ทิม ไนย์เลอร์ แห่งสถาบัน the yoga Therapy Centre ในลอนดอนกล่าวว่า ท่าฮาธาจะเน้นที่ท่วงท่า การหายใจ พลังงาน และการผ่อนคลาย “การควบคุมการหายใจเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง เพราะทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่มีใครรู้ว่าคุณกำลังควบคุมการหายใจ การหายใจเป็นตัวบ่งชี้ความเครียดหรือความวิตกกังวลที่คุณกำลังเผชิญอยู่ อัตราการหายใจจะถี่ และตื้นเวลาที่มีความเครียด” ทิมบอก “คุณสามารถเรียนรู้วิธีควบคุมการหายใจ และควบคุมความเครียดได้ด้วยการหายใจลึกๆ อย่างมีสติ นี่เป็นสิ่งที่คนฝึกโยคะต้องเรียนรู้”

พิชิตโรคที่เกี่ยวกับความเครียด

ความเครียดเล็กน้อยเป็นสัญญาณของความเครียด และก่อให้เกิดการสูญเสียพลังงาน รู้สึกไร้ค่า และไม่มีสมาธิ คุนดาลินีโยคะ (kundalinyoga) ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าอย่างได้ผล โดยช่วยปลุกพลังงานคุนดาลินี ซึ่งเป็นแหล่งรวมพลังงานที่อยู่ที่ฐานของกระดูกสันหลัง “ท่าโยคะดังกล่าวส่งผลต่อจิตใจและสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ได้แก่ จิตใจสำนึก ความคิดด้านลบ และลักษณะพฤติกรรม” สิริ แดตต้า ครูฝึกโยคะ กล่าว “ช่วยสะสางเรื่องราวต่างๆ ที่ติดค้างอยู่ในใจ ตลอดจนปัญหาที่รบกวนจิตใจ และดึงพลังงานไปใช้ในการเยียวยาร่างกายและจิตใจ” สิริ แดตต้า ครูฝึกโยคะ กล่าว

แฟนพันธุ์แท้โยคะอย่าง ศีลา อาร์มสตอง ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาหลายปี ทานยาต้านซึมเศร้าก่อนที่เธอจะได้รับคำแนะนำให้ฝึกโยคะท่าดังกล่าว และพบว่ามันช่วยเธอได้จริงๆ “ฉันเริ่มเข้าชั้นเรียนโยคะ ครูฝึกประเมินดุแล้วและสั่งให้ฉันฝึกท่าอาสนะ (asanas) รวมทั้งท่าต่างๆ ฉันฝึกทุกวันเป็นเวลาหลายเดือน เธอประเมินฉันทุกเดือนเพื่อดูผลลัพธ์และแนะท่าใหม่ๆ ซึ่งก็ช่วยให้จิตใจของฉันมั่นคงและมีสมาธิมากขึ้น”

รับมือกับความอ่อนล้า

ไล่เรียงตั้งแต่อาการเหน็ดเหนื่อยที่เราต้องเผชิญในแต่ละวัน ไปจนถึงโรคอ่อนเพลียเรื้อรัง ซึ่งมีผลให้ร่างกายอ่อนแอลงอย่างมาก เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายและจิตใจจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มศักยภาพ โยคะอาจเป็นสิ่งที่สุดท้ายที่คุณอยากทำ แต่การฝึกโยคะเป็นประจำช่วยให้ระบบประสาทและการเผาผลาญอาหารทำหน้าที่ได้ปกติ และดึงพลังงานที่ซ่อนอยู่ออกมา เทคนิคการหายใจง่ายๆ จะช่วยให้คุณกระปรี้กระเปร่าได้มากกว่าการหันไปหาเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือช็อกโกแลต


ลองฝึกการหายใจแบบโยคะง่ายๆ ต่อไปนี้ หากคุณต้องการเรียกพลังงานกลับคืนมา เริ่มจากใช้นิ้วโป้งซ้ายปิดรูจมูกซ้าย หายใจเข้า ลึกๆ ยาวๆ ผ่านรูจมูกขวา ในทางโยคะ การหายใจผ่านรูจมูกขวาช่วย กระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้กระปรี้กระเปร่า

จัดการกับความดันโลหิตสูง

ความเครียดทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง และหากไม่ได้รับการรักษา ก็จะทำให้เป็นโรคหัวใจ หัวใจวาย และภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน “การหายใจตามแบบโยคะ การผ่อนคลาย และการนั่งสมาธิช่วยให้ความดันโลหิตลดลง ถึงกับทำให้บางคนลดปริมาณยาที่ทานลงได้” สเตลาบอก

เวลาเกิดความเครียด ให้ลองฝึกตามวิธีต่อไปนี้ นั่งในท่าสบายหลับตา ยกมือทั้งสองข้างให้เสมอกับระดับไหล่ ตั้งฝ่ามือขึ้น หายใจเข้าช้าๆ หายใจออกยาวๆ ทำเสียงครางช้าๆ หายใจยาวจนสุด ประมาณ 10 นาที สังเกตดูว่าเสียงที่เปล่งออกมาช่วยให้จิตใจของคุณสงบนิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: