14 ก.ย. 2551

โรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากร่างกายมีกรดยูริกสะสมอยู่ตามข้อมาก ทำให้เกิดการอักเสบ กรดยูริกอาจตกตะกอนในไตหรือทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดนิ่วหรือไตวายเรื้อรังได้

กรรมพันธุ์มีส่วนทำให้เกิดโรคเก๊าท์ มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้ชายวัยประมาณ 40 ปี แต่ถ้าเกิดในผู้หญิง มักจะพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว

สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนมาก บวกกับพิวรีนที่ร่างกายสร้างขึ้น พิวรีนเป็นสารชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการเผาผลาญอาหารแล้ว จะได้กรดยูริก คนปกติจะมีกรดยูริกประมาณ 1,000 มิลลิกรัม และสามารถขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ได้ประมาณ 700 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ปริมาณของกรดยูริกจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-15 เท่าของคนปกติ แต่การขับถ่ายลดลง กรดยูริกจึงสะสมอยู่ตามข้อกระดูก ทำให้มีอาการปวดตามข้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่นิ้วเท้า

อาหารที่มีพิวรีนมาก ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรงด ได้แก่ เครื่องในสัตว์ทุกชนิด เนื้อไก่ เป็ด ห่าน ปลาซาดีน ปลาอินทรีย์ ปลาดุก ปลาไส้ตัน ไข่ปลา กุ้งชีแฮ้ หอย น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์ เช่น น้ำซุป น้ำเคี่ยวเนื้อ น้ำเกรวี ซุปก้อน ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง กะปิ กระถิน ชะอม

อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรลด ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ปลากะพงแดง ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ถั่วลันเตา เห็ด ใบขี้เหล็ก สะตอ ผักโขม หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง ดอกกะหล่ำ ยอดแค ตำลึง แตงกวา เบียร์และเหล้าต่างๆ ข้าวโอ๊ต

อาหารที่มีพิวรีนน้อย รับประทานได้ตามปกติ ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนยเหลว เนยแข็ง ไข่ ผักอื่นๆ ผลไม้ต่างๆ ธัญพืชอื่นๆ ข้าว ขนมปังขาว น้ำตาล วุ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่ควรรับประทานไขมันมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงและผู้ที่ต้องควบคุมน้ำหนัก รับประทานไข่ไม่เกินวันละ 1 ฟอง ดื่มนมพร่องมันเนย ส่วนเนยที่รับประทานได้คือ เนยแข็ง cottage cheese รวมทั้งไม่รับประทานหวานเกินไป

นอกจากการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนมากแล้ว การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ก็ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น การบาดเจ็บ การผ่าตัด ความเครียด ก็ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้เช่นกัน

อาการ
โรคเก๊าท์จะมีอาการปวดบวม แดง ร้อน บริเวณข้อ พบมากบริเวณหัวแม่เท้า ข้อเท้า และข้ออื่นๆ บ้าง อาการปวดมักรุนแรงและเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษา การอักเสบจะถี่ขึ้น จำนวนวันที่อักเสบนานขึ้น เป็นหลายข้อพร้อมกัน และทำให้ข้อผิดรูปและข้อเสียอย่างถาวรในที่สุด

ในรายที่เป็นมานานจนพบนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ จะมีอาการปวดเอว ปัสสาวะมีสีเหมือนน้ำล้างเนื้อ บางรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะมีปุ่มก้อนขึ้นบริเวณใกล้ข้อต่างๆ ซึ่งเกิดจากการตกผลึกของกรดยูริกใต้ผิวหนัง

อาการปวดตามข้ออาจไม่ใช่โรคเก๊าท์เสมอไป ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคเก๊าท์หรือไม่ ซึ่งแพทย์จะซักประวัติการปวดข้อ เจาะเลือดเพื่อหาระดับกรดยูริก และเอ็กซเรย์ข้อที่ปวด ซึ่งอาจพบกรดยูริกที่สะสมตามข้อจนเห็นเป็นเงาขาว

การรักษา
เมื่อข้ออักเสบ แพทย์จะให้รับประทานยา เพื่อให้อาการปวดบวมหายไป แพทย์อาจให้ยาบางชนิดเพื่อลดกรดยูริกในเลือด เป็นการป้องกันไม่ให้กรดยูริกตกตะกอน และละลายผลึกยูริกที่พอกพูนอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดข้ออักเสบอีก ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษา อาจนานเป็นปีๆ วิธีที่ดีที่สุดคือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากมีอาการท้องเดิน ปวดท้อง ควรรีบปรึกษาแพทย์ และพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการต่อไป

ข้อควรปฏิบัติ
- ไม่ควรรับประทานอาหารที่แพทย์สั่งห้าม และไม่ควรรับประทานอาหารมากหรือน้อยเกินไป แต่ต้องให้ได้รับคุณค่าอาหารเพียงพอ
- ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดความเข้มข้นของปัสสาวะ ป้องกันการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้การขับกรดยูริกออกจากร่างกายไม่ดีเท่าที่ควร และทำให้ตับสร้างกรดยูริกมากขึ้น ทำให้มีการสะสมของกรดยูริก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสม แต่อย่าหักโหมจนเกินไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลันได้ง่าย
- พยายามทำให้จิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป เพราะความวิตกกังวลจะทำให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลันขึ้นได้
- น้ำหนักตัวที่มากเกินไป จะทำให้การรักษายุ่งยากซับซ้อน และอาจทำให้อาการของโรครุนแรงยิ่งขึ้น ควรลดน้ำหนักลงทีละน้อย อย่าลดฮวบฮาบ เพราะอาจทำให้ข้ออักเสบกำเริบได้
- สวมรองเท้าขนาดพอเหมาะ การสวมรองเท้าที่คับเกินไป จะทำให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลันขึ้นได้
- อย่าปล่อยให้ร่างกายได้รับความเย็นมากเกินไป ผู้ป่วยด้วยโรคเก๊าท์มักทนต่อความเย็นไม่ค่อยได้ - ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาอื่นใดนอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง เพราะยาบางอย่างอาจออกฤทธิ์ ตรงข้ามกับฤทธิ์ของยารักษาโรคเก๊าท์
- ในกรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นโรคเก๊าท์ แม้การผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการโรคเก๊าท์ชนิดเฉียบพลันขึ้นได้

แม้ว่าโรคเก๊าท์จะเป็นโรคเรื้อรังและเจ็บปวดทรมาน แต่หากดูแลตัวเองให้ดี ก็สามารถบรรเทาอาการและควบคุมโรคไม่ให้กำเริบได้

ไม่มีความคิดเห็น: