28 ก.ย. 2551

หลักในการปรุง และรับประทานอาหารเจที่ถูกต้อง

ชาวต่างประเทศจำนวนมากที่เดินทางไปประเทศจีน มักจะพากันแปลกประหลาดใจ เมื่อได้พบเห็นภัตตาคาร ซึ่งบริการ "ปรุงอาหารตามใบสั่งแพทย์" มูลเหตุที่สร้างความฉงนสงสัยให้แก่บรรดาผู้มาเยือน ก็เนื่องด้วยทางภัตตาคารจะบริการอาหาร ให้แต่เฉพาะผู้ที่มี "ใบสั่งอาหารของแพทย์" เท่านั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เคยทราบเลยว่า ลูกค้าที่เข้าไปในภัตตาคารดังกล่าว เป็นคนไข้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์และอยู่ในระหว่าง "การบำบัดโรคด้วยอาหารตามหลักเวชศาสตร์โบราณ" ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่แตกต่างไปจากการรักษาโรคโดยให้ผู้ป่วย "กินยา ตามใบสั่ง" ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์แผนปัจจุบันชาวตะวันตกนิยมปฏิบัติ แต่ในหมู่ชนชาวจีนมีคำกล่าวว่า "อาหารและยามาจากแหล่งเดียวกัน" คำพูดนี้ได้บ่งชี้ว่า อาหารก็คือยานั่นเอง

หลักการแพทย์ของจีนมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้ร่ายกายเจ็บป่วย โดยวิธีดูแลรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ใช่เพียงแต่บำบัดอาการเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นแล้วเท่านั้น แพทย์จีนกล่าวว่า "หัวใจของการมีสุขภาพที่ดี คือ การกินที่ถูกต้อง เพราะอาหารที่คนเรารับประทานเข้าไปแต่ละวัน มีผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก" "อาหารเจ" เป็นอาหารที่ปรุงโดยปราศจากเนื้อสัตว์รวมทั้งไม่มีส่วนประกอบอื่นใด นำมาจากสัตว์ทุกประเภท และที่สำคัญอาหารเจ งดเว้นการปรุงการเสพพืชผักฉุน 5 ประเภทอันได้แก่

1 กระเทียม (หมายรวมไปถึง หัวกระเทียม ต้นกระเทียม)
2 หัวหอม (หมายรวมไปถึง ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่)
3 หลักเกียว (คือกระเทียมโทนจีน ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่มีขนาดเล็กและยาว กว่า ในประเทศไทยไม่พบว่าปลูกแพร่หลาย)
4 กุ้ยฉ่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า)
5 ใบยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ของเสพติดมึนเมา)

ผักดังกล่าวเหล่านี้ เป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง นอกจากนี้ยังมีพิษที่ทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นมูลเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ สำหรับผู้ปฏิบัติสมาธิฝึกจิต ไม่ควรรับประทานเป็นอย่างยิ่ง เพราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจอารมณ์ให้เร่าร้อนใจคอหงุดหงิดง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในกายรวมตัวกันได้ยาก เพราะฉะนั้น โดยหลักเกณฑ์ที่มีมาแต่ครั้งบรรพกาลกล่าวได้ว่า "อาหารเจ" หรือ "อาหารของคนกินเจ" จึงเป็นอาหารที่ปรุงและรับประทานตามหลักเวชศาสตร์และเภสัชศาสตร์โบราณของจีนนั่นเอง

ปัญหาที่มีผู้ถามกันมาก คือ กระเทียม ซึ่งทางการแพทย์และเภสัชค้นพบว่า มีสารที่สามารถละลายไขมันในเส้นโลหิต (คลอเลสเตอรอล) จึงใช้รับประทานเป็นยาได้ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดโลหิตเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตัน เป็นต้น ในเรื่องนี้เป็นความจริงทีเดียว แม้ทางการแพทย์แผนโบราณของจีนก็ยืนยันตรงกันว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ "แม้ว่ากระเทียมจะเป็นยาดี แต่เนื่องจากมีความระคายเคืองสูง ผู้ที่เป็นโรคกะเพาะหรือกะเพาะอาหารเป็นแผลและโรคตับอย่ากินมาก" (จากหนังสือ อาหารเป็นยาได้ เล่ม 2 โดย วีรชัย มาศฉมาดล) แต่ในกรณีของคนปกติทั่วๆ ไปที่ร่างกายไม่ได้ป่วยเป็นโรคใดๆ เลย ทำไมจึงต้องรับประทานยาเข้าไปทุกๆ วัน ฉะนั้นจึงเข้าทำนองเดียววักนับ คนที่ไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัด แต่ก็ยังคงกินยาแก้หวัดเข้าไปเป็นประจำทุกๆ วัน ผลก็คือ แทนที่จะเป็นผลดีกลับกลายเป็นผลร้าย ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายเสียอีก

ขอยกตัวอย่างในกรณีของผักฉุนอีกชนิดหนึ่งที่คนกินเจไม่รับประทานได้แก่ หอมแดง ซึ่งกล่าวไว้ในตำราสมุนไพรที่นักเภสัชศาสตร์ปัจจุบัน พบว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคโดยวิธี "นำหอมแดงหัวสดๆ หนัก 15-30 กรัม มาต้นแล้วดื่ม จะช่วยขับพยาธิ ขับลม แก้ท้องอืดแน่น ปวดประจำเดือน และอาการบวมน้ำ" แต่ในท้ายก็ได้ระบุพิษร้ายของมันไว้ด้วยว่า "ในกรณีที่บริโภคอยู่เป็นประจำหรือกินมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการหลงลืมง่าย ประสาทเสีย มีกลิ่นตัว ฟันเสีย เลือดน้อย และนัยน์ตาฝ้ามัว" (จากหนังสือ พืชสมุนไพรใช้เป็นยา เล่ม 8 โดย ภูมิพิชญ์ สุชาวรรณ) เพราะฉะนั้น เราจึงควรศึกษาให้ถี่ถ้วนลึกซึ้งถึงคุณและโทษของผักฉุนทั้ง 5 ให้รอบคอบเสียก่อน ไม่เป็นการฉลาดเลยที่จะรับประทานสิ่งใดก็ตาม โดยมองเห็นแต่ด้านดี จนไม่ใส่ใจในโทษของมันบ้างเลย ผักฉุนทั้ง 5 ชนิด ที่คนกินเจไม่บริโภค 1 กระเทียม (GARLIC) 2 หัวหอม (ONION) 3 หลักเกียว (หัวกระเทียมโทนของจีน) ไม่พบว่ามีการปลูกแพร่หลายในประเทศไทย) กุ้ยฉ่าย (CHINESE CHIVE) 5 ใบยาสูบ (TOBACCO)

ถั่วทั้ง 5 สี ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
1 ถั่วแดง (RED BEANS)
2 ถั่วดำ (BLACK BEANS)
3 ถั่วเหลือง (SOY BEANS)
4 ถั่วเขียว (GREEN BEANS)
5 ถั่วขาว (WHITE BEANS)

"อาหารมังสวิรัติ" แตกต่างจาก "อาหารเจ" อย่างไร? อาหารมังสวิรัติ หมายถึง อาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกประเภท แต่ยังคงใช้ผักทุกประเภทมาปรุงอาหารรับประทาน ในส่วนของ "อาหารเจ" เป็นอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ทุกประเภทเช่นกัน แต่อาหารเจจะไม่ใช้ผักฉุนทั้ง 5 ประเภท มาปรุงลงในอาหารโดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว หากจะทดลองปรุงและรับประทานอาหารเจดูบ้าง ก็เพียงแต่ไม่บริโภคผักฉุนทั้ง 5 ประเภทก็เรียกว่าเป็น "อาหารเจ" และ "กินเจ" ได้แล้วนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: