14 ก.ย. 2551

เครียดทำไม...แค่วัยทอง

มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้คนวัยทองเกิดความเครียดได้ง่าย เช่น ปัญหาการงาน ปัญหาครอบครัว อาการป่วย บาดเจ็บ พิการ อายุที่มากขึ้น และความเสื่อมสภาพของร่างกาย

ความเครียดเป็นตัวการบั่นทอนสุขภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของคนวัยทอง จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับระดับความเครียดและการรู้จักขจัดความเครียด คนที่คิดเล็กคิดน้อยและวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เกิดความเครียดสะสมและกลายเป็นความเครียดเรื้อรังในที่สุด

นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมยังกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ต่างๆ รวมทั้งความเครียดด้วย ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจะถูกส่งผ่านไปยังสมองส่วนที่ทำหน้าที่ประสานกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี กระตุ้นให้หลั่งสารอะดรีนาลินออกมามากขึ้น ทำให้ร่างกายตื่นตัวและเกิดอาการต่างๆ

เมื่อเกิดความเครียด จะมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย มึนงง หายใจถี่และแรง มือสั่น เหงื่อออก กล้ามเนื้อเกร็ง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ

หากเครียดเป็นเวลานานๆ จะมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ดังนี้

1.ระบบหัวใจและหลอดเลือด
ความเครียดทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับเซลล์ต่างๆ หากเป็นโรคหัวใจก็อาจหัวใจวายได้ หากหัวใจเต้นเร็วและแรงอยู่เป็นเวลานาน หัวใจจะต้องทำงานหนักตลอดเวลา อาจทำให้หัวใจโตและเจ็บหน้าอก เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่พอ ทำให้หลอดเลือดแข็ง ขาดความยืดหยุ่น เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้น จึงอาจทำให้หลอดเลือดแตกได้ ถ้าหลอดเลือดในสมองแตก ก็จะทำให้เป็นอัมพาตได้

ความเครียดยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมให้ร่างกายได้รับพลังงาน และทำให้เกิดอาการเย็นที่ปลายมือปลายเท้า เนื่องจากหลอดเลือดฝอยบริเวณนั้นหดตัว ทำให้ผิวหนังซีดขาว และยังทำให้หลอดเลือดในไตหดตัวอีกด้วย

2.ระบบทางเดินอาหาร
เมื่อเครียดเป็นเวลานาน เลือดจะไปเลี้ยงกระเพาะอาหารและลำไส้น้อยลง ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ปวดท้องบ่อยๆ น้ำลายแห้ง จนอาจถึงขั้นกระเพาะอาหารและลำไส้หยุดทำงาน นอกจากนี้ การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ยังทำให้น้ำย่อยซึ่งเป็นกรดไปกัดเนื้อเยื่อในกระเพาะและลำไส้ เกิดเป็นแผลอักเสบได้ ความเครียดยังทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของอวัยวะขับถ่ายทำงานผิดปกติอีกด้วย

3.ระบบทางเดินหายใจ
ความเครียดทำให้ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น จึงต้องหายใจเร็วและแรงตลอดเวลา ทำให้เป็นโรคหืดได้ง่าย ถ้าเป็นโรคนี้อยู่แล้ว อาการจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

4.ระบบประสาท
เมื่อเครียดอยู่เป็นเวลานาน สมองต้องทำงานหนัก จะรู้สึกปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่ามัว นอนไม่หลับ และอาจทำให้เป็นโรคทางจิตอย่างอ่อนๆ ได้ บางคนอาจมีอาการประสาทหลอน

5.ระบบกล้ามเนื้อ
เมื่อเครียดเป็นเวลานานๆ กล้ามเนื้อจะตึงเครียด เกิดอาการปวดคอหรือปวดเมื่อยตามตัวร่างกายจะปรับตัวเพื่อรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น ในการปรับตัวแต่ละครั้ง จะมีผลต่อต่อมหมวกไตมากที่สุด เนื่องจากต่อมหมวกไตมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนต่างๆ หากเครียดเป็นเวลานาน จะมีการใช้ปริมาณวิตามินและสารอาหารบางตัวเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างฮอร์โมน

ขณะเดียวกัน ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตยังทำให้ร่างกายขับสารอาหารบางตัวเพิ่มขึ้นในปัสสาวะ ทำให้สูญเสียวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญไป ได้แก่ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี โปแตสเซียม แมกนีเซียม และสังกะสี เมื่อร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะวิตามินบีรวมซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการคลายเครียด จะทำให้หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ปวดศีรษะ ท้องผูก ท้องอืด แล้วอาการเหล่านี้ ก็จะย้อนกลับมาทำให้เครียดมากยิ่งขึ้น กลายเป็นวงจรแห่งความเครียด

อาหารมีส่วนช่วยคลายเครียดได้ ดังนั้นในช่วงที่รู้สึกว่าเครียดมากกว่าปกติ อาจจะรับประทานอาหารที่มีวิตามินเหล่านี้ให้มากขึ้น วิตามินบีจะพบมากในข้าวซ้อมมือ ถั่ว ปลา ผักสด ส่วนวิตามินซีจะพบมากในผักผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม มะเขือเทศ มะละกอ มะนาว และผักสด

ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว งดอาหารหวาดจัด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ การทำสมาธิ การท่องเที่ยว และการทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ ก็ช่วยคลายเครียดได้

นอกจากนี้ยังมีวิธีขจัดความเครียดได้อีกหลายวิธี เช่น ไม่เก็บปัญหาเล็กๆ น้อยๆ มาคิดให้กังวลใจ ฝึกจัดลำดับความสำคัญของงานเพื่อจะได้ไม่เป็นกังวล ไม่เสียเวลาและพลังงาน มีจุดมุ่งหมายในชีวิต เพราะการใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอย จะเป็นบ่อเกิดแห่งความเครียด พยายามมองโลกในแง่ดี ไม่คอยแต่จ้องตำหนิติเตียนหรือคิดร้ายกับผู้อื่น และระบายความเครียดให้ผู้อื่นรับรู้บ้าง อาจหาทางออกได้ดีกว่าการคิดคนเดียว

ที่สำคัญ อย่าคิดว่าตัวเองไร้ค่า คนวัยทองมักจะเกิดอาการใจน้อยได้ง่ายๆ ควรคิดถึงจุดเด่นที่เรามีและภูมิใจในตัวเอง และหมั่นหัวเราะเข้าไว้ มีผลดีทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต นักวิทยาศาสตร์พบว่า การหัวเราะให้หน้าท้องกระเพื่อม ทำให้ไขมันหน้าท้องเคลื่อนไหว หัวใจและปอดได้ออกกำลัง และมีผลถึงกล้ามเนื้อไหล่ แขน หลัง กระบังลม และขาด้วย

สำหรับคนในวัยทองที่ร่างกายเสื่อมสภาพอยู่แล้ว การดูแลสุขภาพกายอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ต้องดูแลสุขภาพจิตด้วย เพราะเมื่อจิตใจดี ร่างกายก็จะดีตามไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: