13 ก.พ. 2552

เหตุผลที่คนเรารักกัน

Genre of Romance
Science (Non) Fiction
เมื่อวิทยาศาสตร์อธิบายความรัก

คำถามว่า รักคืออะไร มักผุดขึ้นมาเมื่อเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็น อกหัก รักคุด นอกใจ มีกิ๊ก เข้ากันไม่ได้ ทัศนคติแตกต่าง ดีเกินไป ฯลฯ หลากเหตุผล (หรือเป็นเพียงข้ออ้าง?) ที่ทำให้หัวใจช้ำๆตั้งคำถามว่า รักคืออะไร เพื่อ...

- บรรเทาความเจ็บปวดจากความรักในระดับปัจเจก

- ลดอัตราผู้เจ็บปวดจากความรักในระดับมหภาคความรักบันดาลให้มนุษย์สร้างสรรค์สิ่งดีงามได้มากมาย ขณะเดียวกันก็มีอำนาจทำลายล้างได้อย่างราพณาสูรย์ Quod me nutrit destroit สิ่งใดที่บำรุงข้า ย่อมผลาญข้าได้เช่นเดียวกันหนึ่งในรอยสักภาษาละตินของแองเจลินา โจลี

เหตุผลที่คนเรารักกัน

Love for Love Sake รักเพราะรัก หรือรักเพราะเหตุผลอื่นๆอีกล้านแปด ซึ่งอาจสรุปความได้ว่า รักด้วยใจ ไร้ซึ่งอธิบาย แต่เชื่อเถอะว่า ลึกๆลงไปท่ามกลางความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้เหล่านั้น คุณอาจต้องการคำอธิบาย (อยู่ดี) ว่าทำไมเราจึงรัก และหากวิทยาศาสตร์คือเหตุและผลของความจริง เมื่อมาถึงสมมติฐานของความรัก จะอธิบายความรู้สึกนี้ด้วยตรรกะใด

นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา นักวิจัย นักวิชาการ และอีกสารพัดนัก มุ่งหาคำตอบในทางชีววิทยาซึ่งประมวลผลออกมาได้ว่าความรักเกิดจาก...

1. รูปร่างหน้าตา Attractive Figures

หน้าตาดีมีชัยไปกว่าครึ่งเป็นความจริงครึ่งหนึ่งของความรัก ด้วยเป็นความประทับใจเมื่อแรกเห็น (first impression) ที่ดึงดูดให้คนสองคนเริ่มต้นความสัมพันธ์กันต่อไป ทว่าบรรทัดฐานของความงามย่อมแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและยุคสมัย ย้อนกลับไปยุคมนุษย์หินฟลิ้นท์สโตน ที่มนุษย์ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และอาศัยอยู่ตามถ้ำ ผู้ชายที่มีกล้ามอกเป็นแผง ขนหน้าอกคลุมเป็นพืด ไหล่กว้างบึกบึน หนวดเครายาวดก (อาจเพราะไม่มีของมีคมมาตัดแต่งเสริมหล่อ) ย่อมเป็นชายหนุ่มในฝันของสาวๆที่หวังจะได้รับปัจจัย 4 และการปกป้องให้ปลอดภัยจากคมเขี้ยวของสัตว์ร้าย ส่วนผู้ชายเลือกคู่จากการพิเคราะห์ทรวดทรง หน้าอกใหญ่และสะโพกผาย เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ทางกายของผู้หญิง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการให้กำเนิดลูกหลาน

ลักษณะของความเป็นชายและหญิง ทั้งโดยเพศสภาพ (gender - masculine vs feminine ) และเพศสรีระ (sex- male vs female)เช่นนี้ได้ฝังรากลึกลงในความคิดของมนุษย์มายาวนาน ไม่ว่าจะกี่พันปีผ่านไป มนุษย์ก็ยัง "ติด" อยู่กับกรอบความคิดเช่นนี้อยู่ไม่คลาย

Footnote: Halo Effect เป็นต่อเพราะหน้าตาดี ฮาโรลด์ เอช เคลลี ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย UCLA ได้ทำการทดลองเพื่ออธิบายว่า เหตุใดคนหน้าตาดีจึงได้รับความสนใจและการยอมรับมากกว่าคนหน้าตาธรรมดาในระยะแรก (หมายถึง ถ้าดูกันนานๆแล้ว ความสามารถจะพิสูจน์ตนเอง) เช่น นางงามรักเด็ก เป็นภาพลักษณ์นางฟ้าใจดี ในขณะที่มีใครรู้บ้างไหมว่าครูนวลน้อย ทิมกุล แห่งบ้านครูน้อย ทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาสทั้งที่ตนเองเป็นอัมพฤกษ์มาตั้งแต่พ.ศ.2523 แต่ในระยะยาวแล้ว เมื่อหมดวาระ นางงามที่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อเด็กอีกเลย เป็นต้น

ดังนั้น รูปร่างหน้าตามีผลต่อการรับรู้ (perception) ของคน หน้าตาดีย่อมได้เปรียบ ดีสำหรับเปลือกนอก แต่ถ้าภายในเน่าหนอน นานไปก็รู้เอง

2. น้ำเสียง Voice sells goods.

ในการวิจัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งอัลเบนี นิวยอร์ก จัดให้อาสาสมัคร 149 คนฟังเสียงของชายหญิงแบบต่างๆเพื่อจัดอันดับ "เสียงมหาเสน่ห์" ไปจนถึง "ไม่น่าฟังอย่างแรง" ปรากฏว่าเสียงที่ได้คะแนนโหวตสูงๆนั้น เจ้าของเสียงมีรูปร่างหน้าตาดีตามไปด้วย เช่น ผู้ชายอกผายไหล่ผึ่ง หุ่นนักกีฬา ในขณะที่ผู้หญิงหุ่นดีเป็นทรงนาฬิกาทราย ซึ่งผลการวิจัยนี้พ้องกับเหตุผลที่คนเรารักกันในข้อ (1) ด้วยโดยมิได้นัดหมาย

Deeper Voice,More Children Hadza ชนเผ่าเก่าแก่ในแทนซาเนียที่ยังดำรงชีพแบบดั้งเดิม พ่อบ้านล่าสัตว์ แม่บ้านเก็บของป่า ไม่มีการกสิกรรม ไม่มีการคุมกำเนิด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา เข้าไปเก็บตัวอย่างเสียงของชายและหญิงในเผ่า และได้ผลสรุปว่า ผู้ชายเสียงทุ้มนุ่มลึกมีลูกมากกว่าผู้ชายเสียงเล็ก (นัยว่าเสียงไม่เท่ ไม่อุ่น) ซึ่งเป็นผลมาจากระดับของฮอร์โมนเทสเทอสเตอโรน (testosterone ฮอร์โมนเพศชายที่ทำให้ร่างกายแสดงลักษณะของเพศชายออกมา) ระดับฮอร์โมนยิ่งสูง เสียงยิ่งทุ้มมีเสน่ห์และยิ่งมีปริมาณบุตรมากตามไปด้วยเจ้าของเสียงเสน่ห์

3. กลิ่น Scent of a Woman

เชื่อกันว่ามนุษย์แต่ละคนมี "กลิ่น" จำเพาะที่ดึงดูดให้เพศตรงข้ามต้องใจ กลิ่นที่ไม่มีกลิ่นนี้คือ ฟีโรโมน สารเคมีที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ ซึ่งจะแผ่กำจายในอากาศ และดักจับด้วยเส้นประสาท Vemeronasal receptors ในโพรงจมูก แล้วจึงส่งสัญญาณข้อมูลไปยัง Olfactory Bulb เพื่อประมวลผลขั้นสูงไปยังสมองช่วงตกไข่ในสตรีเพศ ร่างกายยิ่งผลิตฟีโรโมนมาก ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะรัก ดูแล ห่วงใยใส่ใจหญิงคนรักมากขึ้น อาจลามไปถึงขั้นวางท่าหวงก้างและแสดงทีท่าอิจฉาผู้ชายทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวพัน ประมาณว่าใครเข้ามาคุยกับ "เธอ" อาจโดน "เขา" เขม่นเหม็นหน้าได้โดยไร้สาเหตุ แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงดูจะเป็นที่รักมากขึ้นเพราะเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนมาก หน้าตาผิวพรรณจึงดูผ่อง สวยขึ้นผิดหูผิดตา เชื่อมโยงกับเหตุผลในข้อ (1) อีกตามเคย

4. รส Kiss From The Rose

MHC ไม่เพียงแต่รับรู้ได้ด้วยกลิ่น แต่ยังรับรสได้ ทางหนึ่งที่เป็นการทดสอบว่า MHC ของเราและเขาต่างกันหรือเหมือนกัน คือการจูบ ซึ่งเป็นกระบวนการถ่ายทอด MHC ผ่านทางน้ำลาย The kisses that rock the world

กระบวนการทดสอบ MHC ผ่านสื่อสาธารณะอันลือลั่น

- Scariest มาดอนน่าและบริทนีย์ สเปียร์ บนเวที MTV Music Vedio Awards 2003

- Erotic ยากที่จะลืมฉากจูบเหนือน้ำพุของ อีธาน ฮอว์ก และกวินเน็ท พัลโทรว์ ใน Great Expectation

- Romantic อารัมภบทของความรัก (Prologue of Love)โดยหว่อง การ์ ไว ใน My Blueberry Nights หนังเรื่องแรกของนอร่า โจนส์กับจู๊ด ลอว์ ในบทเจ้าของคาเฟ่สุดเท่ ฉากนี้ฉากเดียวถ่ายทำนานถึง 3 วัน

- Shock! มาริโอ เมาเร่อกับพิช ในภาพยนตร์สุดเยี่ยม รักแห่งสยาม ที่ทำเอาสาวๆไปจนถึงป้าๆแอบหัวใจสลาย

5. สมอง

"You think someone made you feel good,but really it's your BRAIN made you feel good." Jim Pfaus นักจิตวิทยา4 ข้อที่ผ่านมาเป็นเพียงปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้า เป็นคำอธิบายในระดับพื้นผิว แต่จอมบงการตัวจริงของความรักคือสมอง ไม่ใช่หัวใจ ที่แม้แต่หนุ่มโรแมนติกนิยมเจ้าของสำนวนอุ่น "สองเงาในเกาหลี" , "นั่งฝั่งตะวันตื่น ยืนฝั่งตะวันตก" อย่างทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารแห่ง a day ยังพยักหน้าเห็นด้วย "หัวใจรู้สึกไม่ได้ มันมีหน้าที่เพียงสูบฉีด" สมองเท่านั้นที่เป็นตัวสั่งการ สั่งให้รู้สึกได้ด้วยหรือ คำตอบคือใช่ แล้วทำได้อย่างไร วิทยาศาสตร์มีคำตอบให้ว่าความรักเกิดขึ้นที่สมองใน 3 จุดสำคัญคือ

1.) สมองส่วนกลาง บริเวณ ventral tegmental

เซลล์ประสาทในสมองส่วนกลางกลุ่มนี้เรียกว่า ventral tegmental มีหน้าที่สำคัญคือผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่า โดพามีน (Dopamine) สารตัวนี้จะทำงานหนักในยามที่เรายินดี มีความสุข หรือได้รับรางวัลตอบแทน เช่น แฟนอุตส่าห์จำวันเกิดได้ รับรองว่าเมื่อไปสแกนสมองส่วนกลางดู จะเห็นโดพามีนท่วมสมองแน่นอน

อันที่จริงมีการวิจัยที่ว่านั้นเกิดขึ้นแล้ว โดยดร.เฮเลน ฟิชเชอร์ นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers University) มลรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา คัดเลือกอาสาสมัครเฉพาะคนที่เพิ่งจะตกหลุมรักมาใหม่ๆ มาทำการทดลอง โดยให้อาสาสมัครดูภาพของคนรักสลับกับภาพของคนอื่น โดยระหว่างภาพของแต่ละภาพ จะมีโจทย์เลขง่าย ๆ มาให้คำนวณเพื่อล้างภาพที่เพิ่งดูไปจากสมอง

ระหว่างทำการทดลอง ทีมงานใช้เทคนิค fMRIS (Functional Magnetic Resonance Imaging) เพื่อสแกนสมองขณะกำลังดูภาพต่างๆ ผลปรากฏว่าเมื่อคนคนหนึ่งได้เห็นภาพของคนที่ตนเองกำลังติดพันอยู่ สมองส่วนที่เรียกว่า คอเดตนิวเคลียส (caudate nucleus) และบริเวณเวนทรัล เท็กเมนทัล (ventral tegmental) จะทำงานหนักกว่าปกติ ผลิตสารโดพามีนออกมามากเมื่อเห็นภาพคนรัก ความรักในช่วงแรกนี้ เป็นรักแบบดื่มด่ำหวานเชี้ยบหรือ romantic love

2.) nucleus accumbens

ในระยะแรกที่คนเราตกหลุมรัก สารโดพามีนจะมีบทบาทสูง ทำให้ปรีดาปราโมทย์ได้แบบสุดๆ และสมองจะเริ่มจดจำ "ภาพ" ของเหตุการณ์ สร้างความรู้สึกผูกพันต่อสิ่งต่างๆหรือตัวบุคคล สารเคมีที่มีบทบาทในช่วงนี้คือ อ็อกซิโทซิน (oxytocin) เรียกว่าเป็นสารสร้างความผูกพัน บางครั้งเป็นยายใยที่มองไม่เห็น เช่น ความผูกพันระหว่างแม่และลูกที่ยังดิ้นขลุกๆอยู่ในท้อง ไม่เคยเห็นหน้ากันด้วยซ้ำ แต่เป็นความผูกพันอันเกิดจากสารอ็อกซิโทซินนี้นั่นเอง และเมื่อนำมาอธิบายจากในเรื่องรัก ก็อาจพูดได้ว่า จากรักหวานน้ำตาลฉ่ำก็กลายเป็นรักแบบผูกพัน (attachment) ขึ้นมาแทน

3.)caudate nuclei

สมองส่วนสุดท้ายที่ข้องเกี่ยวกับความรัก จากผลการสแกนสมองด้วยวิธี fMRIS ของดร.เฮเลน ฟิชเชอร์ พบว่าสมองส่วน ventral tegmental และ caudate nuclei ทำงานหนักกกว่าปกติ สมองทั้งสองส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตสารโดพามีน แต่ใน caudate nuclei ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกุ้งขดอยู่ข้างขมับสองข้าง สมองส่วนนี้บันทึกความจำที่ยากจะลบเลือน เช่น ทักษะต่างๆ (patterns and mundane habits) เป็นต้นว่า ขับรถ พิมพ์ดีด ว่ายน้ำ การอ่านออกเขียนได้ รวมไปถึงความสามารถที่จะรักด้วยเช่นกัน เมื่อก้าวมาถึงระดับนี้ ความรัก ความผูกพัน จึงพัฒนาไปสู่ความรักฝังลึก (commitment) เป็นรักมั่นนิรันดรไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: