15 พ.ค. 2553

แปลกแต่จริง 12 ซี่ความรู้ เรื่องฟัน ๆ


แปลกแต่จริง 12 ซี่ความรู้ เรื่องฟัน ๆ (Twenty-four Seven)



ไม่ปวดก็ไม่สำนึก นี่คือเรื่องจริงที่เรามักจะมองข้ามความใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพปาก ใครอยากมียิ้มสวยไปจนแก่ต้องรีบอ่านด่วน เพราะฟันซี่เดียว มันเกี่ยวกับความสุขทั้งชีวิต และนี่คือเรื่องแปลกแต่จริง กับ 12 ซี่ความรู้เรื่องฟัน ๆ


1.โรคเหงือกเริ่มต้นมาจากอาการเหงือกอักเสบ


ซึ่งถ้ารักษาแต่เริ่มแรกก็จะหายขาดได้ อาการของเหงือกอักเสบคือ การบวม แดง และเหงือกนุ่ม เกิดเลือดออกเวลาแปรงฟัน ถ้าคุณพบอาการเหล่านี้ ให้พบทันตแพทย์ก่อนที่อาการจะลุกลามร้ายแรงขึ้น ระยะสุดท้ายของโรคเหงือกอาจนำไปสู่การต้องสูญเสียฟัน สุขภาพของเหงือกมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของคุณ งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้พบว่า มีความสัมพันธ์กันระหว่างโรคเหงือกชนิดหนึ่ง กับโรคภัยอื่น ๆ อาทิเบาหวาน หัวใจ และการคลอดก่อนกำหนด


2.อาการเสียวฟันเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น


เหงือกของเราจะเริ่มร่นตามธรรมชาติตลอดเวลา ทำให้บริเวณที่ไม่มีสารเคลือบฟันถูกเปิดออก ซึ่งบริเวณเหล่านี้จะเกิดอาการปวด เมื่อสัมผัสกับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็น ในรายที่เป็นมาก อากาศเย็น หรืออาหารที่เปรี้ยวหรือหวานก็สามารถทำให้เกิดการเสียวฟันได้ ถ้าคุณมีอาการเสียวฟัน ควรใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน และถ้ายังไม่หาย ควรพบทันตแพทย์ เพราะอาการเสียวฟันอาจเป็นสัญญาณของอาการร้ายแรงอื่น ๆ ได้ เช่นฟันผุ หรือฟันหัก/แตก


3.เลือกรับประทานอาหารที่มีความจำเป็นต่อเหงือกและฟัน
ผักผลไม้ที่มีความแข็งและเส้นใย ก็จะช่วยทำความสะอาดฟันและเนื้อเยื่อด้วย แต่อาหารที่มีความนุ่มและเหนียว มีโอกาสที่จะติดอยู่ตามซอกฟันและทำให้เกิดคราบแบคทีเรียได้ง่าย ทุกครั้งที่คุณรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีแป้งและน้ำตาล แบคทีเรียจะทำให้เกิดกรดที่ทำลายฟันได้เป็นระยะเวลา 20 นาทีหรือนานกว่านั้น เพื่อที่จะลดความเสียหายต่อเคลือบฟัน ควรจำกัดความถี่ในการรับประทานอาหารว่างระหว่างมื้อ และควรจะเลือกรับประทานอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น เนยแข็ง ผักสด โยเกิร์ต หรือผลไม้


4.น้ำอัดลม ตัวการสำคัญของปัญหาสุขภาพช่องปาก


สมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ออกประกาศเตือนถึงพิษภัยของการบริโภคน้ำอัดลม โซดา ว่าเป็นแหล่งสำคัญในการทำให้เกิดอาการฟันผุ เพราะกรดและกรดที่เกิดจากน้ำตาลในน้ำอัดลม จะไปทำให้สารเคลือบฟันอ่อนบางลง ซึ่งส่งผลให้เกิดการก่อตัวของฟันผุ ในกรณีร้ายแรง สารเคลือบฟันที่อ่อนบางลง ประกอบกับการแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดการผุกร่อนของฟัน ควรเปลี่ยนมาดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลน้อย ๆ เช่น น้ำเปล่า นม น้ำผลไม้ 100% และหลังจากดื่มน้ำที่มีรสหวาน ควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าเสมอ


5.การดูแลแปรงสีฟัน และการเปลี่ยนแปรงสีฟัน


แปรงสีฟันสามารถเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียได้ ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้หากปล่อยให้ก่อตัวขึ้น และเวลาผ่านไปอาจพัฒนาไปเป็นเชื้อที่ร้ายแรงขึ้นได้ หลังจากการใช้แปรงสีฟันทุกครั้ง ควรสะบัดแปรงอย่างแรงให้น้ำก๊อกไหลผ่าน และเก็บแปรงสีฟันให้อยู่ในลักษณะแนวตั้ง วางแปรงเอาหัวตั้งตรงเพื่อให้แปรงแห้งได้ง่าย ควรเก็บแปรงสีฟัน ไม่ให้แปรงสีฟันของคุณไปสัมผัสกับแปรงสีฟันของคนอื่น


จากการศึกษาพบว่า แปรงสีฟันที่มีการใช้งานมานานกว่า 3 เดือนจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดคราบพลัคที่อยู่บนเหงือก และฟันได้ต่ำกว่าแปรงสีฟันอันใหม่ เพราะขนแปรงจะเริ่มหมดสภาพ และมีคุณภาพต่ำในการซอกซอนเข้าไปตามซอกหลืบต่าง ๆ ของฟัน หลังจากที่ป่วย ติดเชื้อในช่องปาก หรือเจ็บคอ ควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน เนื่องจากเชื้อโรคอาจยังหลงเหลือแอบซ่อนอยู่ตามขนแปรง และอาจนำไปสู่การติดเชื้อใหม่อีกครั้ง


6.แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง


ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์เพื่อที่จะกำจัดคราบแบคทีเรีย หรือแผ่นฟิล์มเหนียวที่เกาะอยู่บนฟันของเราและทำให้เกิดฟันผุ


7.ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน


เพื่อกำจัดคราบแบคทีเรียระหว่างซอกฟัน และร่องเหงือก ก่อนที่มันจะจับตัวแข็งเป็นหินปูน เพราะเมื่อเกิดเป็นหินปูนแล้ว จะต้องอาศัยทันตแพทย์เท่านั้นที่จะเอาออกได้
8.จำกัดการรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล
โดยเฉพาะอาหารที่มีความเหนียว ยิ่งรับประทานบ่อยมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เกิดโอกาสที่จะกรดในคราบแบคทีเรีย จะเข้ามาทำลายฟันเท่านั้น


9.รับประทานส้มทุกวัน


เพราะจะทำให้คุณได้รับวิตามินซี ซึ่งมีการวิจัยมาแล้วว่าจะช่วยลดอาการอักเสบบวมของเหงือก ที่มาของปัญหาทางช่องปากและฟัน


10.เคี้ยวหมากฝรั่งไร้น้ำตาล


ระหว่างเคี้ยวหมากฝรั่งจะมีน้ำลายออกมา จะช่วยล้างคราบกรดและทำให้เคลือบฟันแข็งแรง ควรแปรงฟันหลังดื่มเครื่องดื่มที่เป็นกรด แต่อย่าแปรงทันที ต้องทิ้งช่วงห่างอย่างน้อย 20 นาที


11.ใช้หลอดดูดกาแฟ หรือไวน์


ฟังดูแปลกหน่อย แต่เขาบอกว่าช่วยลดการทิ้งคราบลงบนฟันขาวได้ดี


12.พบทันตแพทย์ ทุก 6 เดือน เป็นประจำ
เพื่อทำการตรวจและทำความสะอาดช่องปาก

ไม่มีความคิดเห็น: