1 พ.ค. 2553

อาการบอกตำแหน่งหลอดเลือดสมองผิดปกติ


สมอง อวัยวะชิ้นสำคัญของร่างกาย หากถูกโรคหลอดเลือดในสมองคุกคาม จะแสดงอาการโดยเฉียบพลัน ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดขึ้นสามารถระบุตำแหน่งที่หลอดเลือดในสมองอุดตันหรือมีเลือดออกได้


เริ่มจาก ‘สมองใหญ่’ มีขนาดใหญ่และอยู่ด้านบนสุด สามารถแยกย่อยออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย สมองใหญ่ส่วนหน้า (Front lobe) มีหน้าที่สั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหว หรือที่เข้าใจกันว่า สมองข้างขวาสั่งด้านซ้าย และสมองข้างซ้ายสั่งด้านขวานั่นเอง สมองบริเวณนี้หากเกิดโรคหลอดเลือดจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงด้านตรงข้ามกับสมองซีกที่เกิดความผิดปกติ รวมทั้งใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หากเป็นมากร่างกายอาจไม่สามารถขยับได้เลย เรียกว่า อัมพาตครึ่งซีก แต่ถ้าพอขยับได้ เรียกว่า อัมพฤกษ์ แถมยังส่งผลกระทบต่อส่วนของการสั่งให้พูด หากเกิดขึ้นกับสมองด้านซ้าย โดยผู้ป่วยจะพูดไม่ได้ พูดได้บางคำ ต่อประโยคไม่ได้

สมองใหญ่ส่วนข้าง (Parietal lobe) คอยรับรู้การสัมผัส ความรู้สึกเจ็บ ร้อน เย็น จากร่างกายซีกด้านตรงข้าม หากเกิดโรคหลอดเลือดสมองขึ้น จะเกิดอาการชาด้านตรงข้ามกับสมองที่เกิดปัญหา สมองใหญ่ส่วนขมับ (Temporal lobe) มีหน้าที่ในการจดจำ และแปลเสียงที่ได้ยินเป็นภาษาที่ใช้ ถ้ามีปัญหาจะทำให้ผู้ป่วยไม่เข้าใจเสียงที่ได้ยิน แม้เป็นภาษาที่ใช้มาก่อนก็ตาม

ส่วนสมองใหญ่ส่วนท้ายทอย (Occipital lobe) ทำหน้าที่รับภาพที่ส่งมาจากตา หากโรคดังกล่าวเกิดขึ้นกับบริเวณนี้ จะทำให้มองไม่เห็นครึ่งซีกของลานสายตา และสมองใหญ่ส่วนใน (Insular lobe) คอยควบคุมประสาทอัตโนมัติ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากสมองใหญ่แล้ว ยังมี แกนสมอง (Brain stem) มีสายใยประสาทจากสมองลงมาที่ไขสันหลังและจากไขสันหลังขึ้นไปยังสมอง ควบคุมการทำงานของเส้นประสาทสมอง 12 คู่ ประสานการทรงตัวกับสมองเล็ก หากผิดปกติจะมีอาการแขน ขา อ่อนแรง ชา เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด เดินเซ กินอาหารแล้วสำลัก เวียนศีรษะ ภาพหมุน อาจหมดสติโดยไม่รู้ตัว

สุดท้ายเป็น สมองเล็ก (Cerebellum) อยู่ด้านหลังสุด คอยประสานสมองต่าง ๆ ให้ทำงานสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหว หากสมองส่วนนี้เสีย ผู้ป่วยจะเดินเซ ทรงตัวไม่ได้ พูดไม่ชัด เวียนศีรษะ แต่ไม่มีอาการอ่อนแรง

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: